เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา นายแพทย์เฉิน จิงหยู ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายปอดและทีมงาน ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายปอดทั้งสองข้างครั้งแรกของโลก โดยคนไข้เป็นชายอายุ 59 ปี ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัสตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยคนไข้ได้รับการรักษาจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในร่างกายแล้ว แต่ปอดทั้งสองข้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ เพราะเกิดจากการใส่เครื่องช่วยหายใจ กับเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (เครื่อง ECMO) และการให้ยาระหว่างการรักษา
การผ่าตัดได้ดำเนินการในห้องผ่าตัดแรงดันลบของโรงพยาบาลประชาชนอู๋ซีแห่งที่ 5 (Wuxi No.5 People’s Hospital) โดยปอดที่นำมาปลูกถ่ายเป็นปอดจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากอาการสมองตาย ถูกส่งมาทางรถไฟความเร็วสูงไปถึงเมืองอู๋สี ในเวลาไม่เกิน 7 ชั่วโมง นายแพทย์เฉิน จิงหยู กล่าวว่า “การผ่าตัดครั้งนี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากศัลยแพทย์ทุกคนจำเป็นต้องอยู่ในห้องที่มีแรงดันอากาศต่ำ (Negative Pressure) ระหว่างกระบวนการผ่าตัดทุกขั้นตอน และสวมชุดป้องกันแบบเต็มตัว” และเสริมว่าการผ่าตัดครั้งนี้เป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทีมแพทย์สวมอุปกรณ์ป้องกันสามถึงสี่ชั้น และถุงมืออีกสามชั้น ซึ่งใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้การผ่าตัดเปลี่ยนปอดสำเร็จไปได้ด้วยดี
หลังจากการผ่าตัดผ่านไป 37 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจ อาการคงที่ โดยปอดมีออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นอย่างดี สัญญาณชีพ (Vital signs) ทำงานได้อย่างเสถียรภาพ แต่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจยังอ่อนแอ ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกาย
การพิจารณาการปลูกถ่ายปอดสำหรับผู้ป่วย COVID-19 มีข้อกำหนดเบื้องต้นทางการแพทย์ 3 ประการ:
- ประการแรก ปอดของผู้ป่วยต้องได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเครื่อง ECMO
- ประการที่สอง ผลการตรวจกรดนิวคลีอิก (Nucleic Acid Testing) ต้องมีผลเป็นลบ (Negative = ไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกาย) หลายครั้งติดต่อกัน
- ประการที่สาม อวัยวะอื่นๆ ของผู้ป่วยจะต้องทำงานได้ตามปกติ และสภาพร่างกายมีความพร้อมในการปลูกถ่ายปอด
ทีมแพทย์ยอมรับว่าการผ่าตัดดังกล่าวเป็นการเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็หวังว่าจะเป็นกรณีศึกษาที่จะทำให้ช่วยเข้าใจไวรัสมากยิ่งขึ้น และสามารถหาทางรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ต่อไปในอนาคต และเชื่อว่าการปลูกถ่ายปอดสำหรับผู้ป่วยรุนแรงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดอัตราการเสียชีวิตในอนาคต
เรียบเรียงโดย บุษรินทร์ เณรแก้ว
นักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
ที่มา