?การประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี พ.ศ.2562 เรื่อง อนาคตอุดมศึกษาไทยภายใต้บริบทโลก ( The Future of Thai Higher Education in Global Context )
รมต.อว. มอบหมายให้ นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2562 และร่วมพิธีรับโล่พระราชทานรางวัล “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562” พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดย ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)อันเป็นองค์กรความร่วมมือกันของสภาอาจารย์/สภาคณาจารย์/สภาข้าราชการ/สภาพนักงาน มหาวิทยาลัยและสถาบันของรัฐทั่วประเทศ จัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
ประธาน ฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า งานประชุมวิชาการนี้ เป็นเวทีทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองต่อปัญหาการอุดมศึกษาใหม่ ไปสู่การเตรียมความพร้อม การปรับตัวเพื่อรับมือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยบริบทของกระทรวงใหม่ที่ กพร. ยกให้ อว. เป็นต้นแบบของการปฏิรูประบบราชการ และในการดำเนินงานภายใต้กระทรวงใหม่ มี สภานโยบาย สอวช. สป.อว. สกสว. วช. และ PMU
ซึ่งช่วงบ่ายในวันนี้ (24 ต.ค. 62) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะได้มาบรรยายให้ทุกท่านได้ทราบการบริหารงานวิจัย รวมถึงการวิจัยแนวใหม่ เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยในลักษณะ Platform based / Flagship programs ซึงปีงบประมาณ 2563 งบประมาณจำนวน 8,400 ล้านบาท คาดว่าจะนำไปบริหารจัดสรรใน 4-5 Platform และ 16 Flagship programs ต่อไป
ต่อมาช่วงบ่าย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล บรรยายในหัวข้อเรื่อง “ระบบกลไกในการขับเคลื่อนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา” โดยกล่าวถึง การดำเนินงานของ อว. มี 3 พันธกิจหลักคือ 1.การสร้างและพัฒนาคน
2.การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และ 3.การสร้างและพัฒนานวัตกรรม และอว. มีโจทย์ท้าทายการดำเนินงานบนแนวทางการพัฒนา 4 Platform คือ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกระบวนงานตามภารกิจ ของ วช. และเชื่อมกับกลไกการบริหารจัดการทุนวิจัย ได้แก่ ทุนวิจัยในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์ ทุนวิจัยเฉพาะทางเพื่อความเป็นเลิศเชิงวิชาการ ทุนวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่/อุตสาหกรรม/ท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการบริหารเชื่อมโยงกับกลไกการสร้างแรงจูงใจ คือการให้รางวัลและประกาศเกียรติคุณ รวมถึงการเชื่อมกับฐานข้อมูลในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ ชุดโครงการท้าทายไทย (Thailand Grand Challenges) กลุ่มโครงการมุ่งเป้า เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นหัวใจหลักที่สำคัญที่ตอบเป้าของ อว. เรื่อง “การสร้างและพัฒนาคน” วช. ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนระบบการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม กำหนดทิศทางเส้นทางอาชีพนักวิจัยให้นักวิจัยก้าวแต่ละขั้นอย่างมั่นใจด้วยทุนวิจัยและนวัตกรรม สร้างผลงานวิจัยสู่ระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 ต่อไป
#อว #วช #ปอมท #MHESI #NRCT