• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • วันนี้ “วันตรุษจีนเล็ก” สัญญาณเริ่มต้นของเทศกาลตรุษจีน และทำความรู้จัก 8 วันสำค…

วันนี้ “วันตรุษจีนเล็ก” สัญญาณเริ่มต้นของเทศกาลตรุษจีน และทำความรู้จัก 8 วันสำค…

วันนี้ “วันตรุษจีนเล็ก” สัญญาณเริ่มต้นของเทศกาลตรุษจีน และทำความรู้จัก 8 วันสำคัญช่วงตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่ของคนจีน ในความจริงแล้ว ไม่ได้มีแค่วันเดียว แต่จะมีรายละเอีบดปลีกย่อยในทุกๆวัน กินเวลาประมาณ 1เดือน นับตั้งแต่ช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน12 และครึ่งเดือนแรกของปีใหม่ ตามปฏิทินจันทรคติจีน

แต่ในโพสต์นี้ อ้ายจงจะเล่าเฉพาะที่สำคัญๆ นับตั้งแต่ “วันตรุษจีนเล็ก” ไปจนถึงวันตรุษจีน หรือปีใหม่ของคนจีน ว่าแต่ละวัน เขาทำอะไรกันบ้าง

1. 23 หรือ 24 เดือน12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน: วันตรุษจีนเล็ก

ปีนี้ วันนี้ 17 มกราคม 2563 ตรงกับวันที่ 23 เดือน12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถือเป็น “小年 เสี่ยวเหนียน” หรือวันตรุษจีนเล็ก

วันตรุษจีนเล็ก ตามความเชื่อของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวันที่เทพเจ้าแห่งเตา เทพเจ้าที่คอยพิทักษ์เตาไฟในครัว ดูแลทุกคนในครอบครัว จะกลับสวรรค์ไปรายงานเรื่องราวของแต่ละครัวเรือนให้เง็กเซียนฮ่องเต้ ทราบ ดังนั้นคนจีนจึงบูชาเทพเจ้าแห่งเตา โดยจะบูชาด้วยของหวาน ของมงคล เพื่อให้เทพเจ้าแห่งเตารายงานแต่สิ่งดีดี เง็กเซียนฮ่องเต้ฟังแล้วไพเราะ เสนาะหูนั่นเอง

ในวันตรุษจีนเล็ก กิจกรรมหลักๆที่ชาวจีนนิยมทำมาตั้งแต่โบราณ คือ ทำความสะอาดบ้านเรือน และทำอาหารอร่อยๆกินกันพร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่ในปัจจุบันชาวจีนสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มไม่ฉลองวันนี้ อาจจะมีเพียงนัดกินข้าวเย็น เช่น หม้อไฟ คลายความหนาวยามค่ำคืนเท่านั้น ซึ่งในบางพื้นที่ของจีน วันตรุษจีนเล็ก ไม่ใช่ทั้ง 23 หรือ 24 เดือน12 ตามปฏิทินจันทรคติ แต่จะเป็นวันอื่นๆในเดือนนั้น ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน โดยโลกออนไลน์ของจีนก็มีการถกประเด็นนี้วันตรุษจีนเล็กของแต่ละพื้นที่ตรงกับวันไหนบ้าง

2. 25 เดือน12 : วันตัดสินชะตามนุษย์โดยเง็กเซียน

หลังจากที่เง็กเซียนฮ่องเต้ได้รับฟังรายงานเรื่องราวของแต่ละครอบครัวในวันตรุษจีนเล็ก (23 หรือ 24 เดือน12 ตามปฏิทินจันทรคติ ) พอถึงวันที่ 25 ก็จะเป็นการตัดสินจากเง็กเซียนว่าใครจะได้รับรางวัลจสกสวรรค์บ้าง ครอบครัวชาวจีนในสมัยโบราณจึงทำ เต้าหู้ และอาหารต่างๆเพื่อบูชาและขอพรจากเง็กเซียน ซึ่งแต่ละพื้นที่ ก็จะทำอาหารหลักที่ใช้บูชาในวันนี้แตกต่างกันไป อย่างคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตงเป่ย) นิยมทำ เหนียนโต้วเปา (粘豆包) ซาลาเปาไส้ถั่วแดง โดยเป็นอาหารหลักในวันตรุษจีนอีกด้วย

3. 26 เดือน 12 : วันกินเนื้อแห่งปี (年肉)

จีนสมัยโบราณที่เป็นสังคมการเกษตร ทำไร่ทำนา โอกาสที่มื้ออาหารจะมีเนื้อสัตว์อร่อยๆอยู่บนโต๊ะอาหารของครอบครัว ค่อนข้างหายาก ยกเว้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้คนเลยถือโอกาสให้วันนี้เป็นวันแห่งการกินเนื้อ ไม่ว่าจะเนื้อหมู หรือเนื้อวัว โดยครอบครัวไหนที่เลี้ยงสัตว์เป็นของตัวเอง เช่น เลี้ยงหมู ก็จะนำมาทำอาหารกินกัน หากครอบครัวไหนไม่ได้เลี้ยง ก็ไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาด เพื่อมาทำกับข้าวกินเนื้อฉลองข้ามปี

4. 27 เดือน12: วันแห่งการทำความสะอาดเสื้อผ้าและร่างกายพื่อล้างสิ่งไม่ดี ต้อนรับสิ่งดีดีในปีใหม่

คนจีนสมัยก่อน มีความเชื่อว่า ก่อนตรุษจีน จะต้องชำระล้างร่างกายและซักเสื้อผ้าให้เรียบร้อย เพื่อล้างโชคร้าย ความเจ็บไข้ ทุกข์โศกให้ออกไปจากตน

โดยในวันนี้ นอกจากจะซักผ้า อาบน้ำ ให้สะอาดหมดจด คนจีนบางพื้นที่ เช่น ปักกิ่ง และเทียนจิน ยังมีความเชื่อในการนำไก่โต้งมาทำอาหาร เพราะเชื่อว่าความสง่าของไก่โต้ง นำมาซึ่ง Good Luck ความโชคดี

5. 28 เดือน12: วันแห่งการเตรียมอาหารเพื่อฉลองตรุษจีน

คนจีนจะจัดเตรียมอาหารในวันนี้ เพื่อฉลองวันตรุษจีน และตลอดสัปดาห์แรกของปีใหม่ โดยส่วนใหญ่จะทำอาหารจากแป้ง เพราะเก็บได้นาน

คนทางเหนือ นิยมทำซาลาเปา ซึ่งจะทำออกมาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะรูปสัตว์น่ารัก ,ดอกไม้สวยๆ เป็นต้น ส่วนคนจีนทางใต้นิยมเหนียนเกา หรือที่คนไทยเรียก ขนมเข่ง

6.29 เดือน12: วันแห่งการทำความสะอาดสุสานและไหว้บรรพบุรุษ

คนจีนแต่ละครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อพากันไปทำความสะอาดสุสานและไหว้บรรพบุรุษในวันนี้

7. 30 เดือน12: วันสิ้นปี

วันสิ้นปี 除夕 (ฉูซี) ที่คนไทยเรียกว่า วันไหว้ …ที่จีน เขาทำอะไรกันบ้างในวันนี้? มาดูกันดีกว่าเหมือนหรือต่างกับไทยอย่างไร

– ตกแต่งบ้านด้วย 春联 (ชุนเหลียน) กระดาษสีแดงที่เขียนเป็นโคลงกลอน หรือคำอวยพรวันตรุษจีน โดยจะมีเป็นคู่ ติดทางด้านซ้ายและขวาของประตู

โดยตรงกลางของประตูจะติดตัวอักษร 福 (ฝู) ที่แปลว่าความโชคดีมีสุขแต่ถ้าเราสังเกตให้ดี คนจีนมักจะติดตัวอักษร 福 แบบกลับหัว

สาเหตุที่ติดอักษรมงคล 福 แบบกลับหัว เพราะว่า เป็นการเล่นคำ 倒 (อ่านว่า ต้าว) ที่มีความหมายว่ากลับหัว,กลับด้าน กับ 到 ที่อ่านว่าต้าวเหมือนกัน แต่แปลว่า มาถึง

ดังนั้น การแปะอักษร 福 แบบนี้ จึงมีความหมายว่า 福到了! ความโชคดีมีสุขมาเยือนเราแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ คนจีนยังนิยมติด 窗花 (ฉวงฮวา) กระดาษแผ่นเดียวที่นำมาตัดเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปไก่ ,รูปตัวอักษร福 โดยจะติดไว้ที่หน้าต่าง

แขวนโคมไฟ ( 挂灯笼) เป็นโคมสีแดง แขวนไว้ที่หน้าบ้าน โดยมักจะมีอักษรมงคลบนตัวโคม

หลายบ้านจะเริ่มตกแต่งตั้งแต่วัน小除夕 (วันก่อนวันสิ้นปี/29 เดือน12)

– ไหว้บรรพบุรุษ / ไหว้เจ้า มีทั้งไหว้ที่บ้านและที่ศาลเจ้า

– จุดประทัด ตามความเชื่อของคนจีนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป แต่ในช่วงที่หลายเมืองทางเหนือของจีน ยังคงเจอปัญหาหมอกควัน ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมือง (เช่น ปักกิ่ง) จึงมีการคุมเข้มเรื่องการจุดประทัดเพื่อไม่ให้เกิดหมอกควันไปมากกว่านี้

– กินข้าวร่วมกันในคืนสิ้นปี (吃年夜饭)เทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ของจีน จะเป็นช่วงที่ทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ จะกลับมารวมตัวกัน โดยอาหารจานหลักของวันนี้จะเป็น เกี๊ยว ที่มีความหมายแฝงว่า การรวมตัวกันสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น

– แจกหงเปา (红包)ให้กับเด็ก ลูกหลานในบ้าน โดยมักจะให้หลังจากกินข้าวคืนสิ้นปีเรียบร้อยแล้ว

– นั่งดูรายการพิเศษ งานฉลองตรุษจีน 春节联欢晚会 ของช่อง CCTV ที่มีเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1983 ถือเป็นงานกาล่าตรุษจีนประจำชาติจีนก็ว่าได้ ถ้าใครสนใจ ดูได้ตั้งแต่ 20.00 น. ตามเวลาประเทศจีน

– 守岁 (โส่วซุ่ย) เฝ้ารอข้ามปี โดยคนในครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะไม่ยอมหลับข้ามปี เรียกง่ายๆก็ countdown นั่นเอง …หลายบ้านจะจุดพลุจุดประทัดฉลองปีใหม่จีนกันทั้งคืน จนถึงเช้าก็มี

– ในคืนวันสิ้นปี ที่จีน บางบ้านก็จะมีไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (财神)เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เหมือนที่ไทย

8. วันที่1 เดือน1 วันแรกของปีใหม่จีน: วันตรุษจีน (春节 ชุนเจี๋ย) หรือ 初一 (ชูอี) ในภาษาแต้จิ๋วที่เราคุ้นเคย ก็ ชิวอิก หรือ วันเที่ยวนั่นเอง

วันนี้ตามประเพณีจีน คนจีนจะหยุดพักผ่อน
จะเป็นวันเดินทางเยี่ยมญาติ เพื่อ “拜年”
(ไป้เหนียน) อวยพรปีใหม่แก่กัน รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆที่เราคุ้นเคยเช่น จุดประทัด ซึ่งการจุดประทัดในสมัยก่อนจะเป็นการจุดไล่ภูตผีปีศาจ แต่ต่อมา ก็กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่า ถึงวันตรุษจีนแล้ว ต้องจุดประทัดเพื่อขอความสุขสงบโชคดีตลอดไปและให้ชีวิตมีความสุขคึกคักเหมือนเสียงประทัด ซึ่งความจริงแล้ว หลายที่จะจุดตั้งแต่คืนสิ้นปี, กินขนมเข่ง โดยมีนัยแฝงว่า “เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเรื่อยๆทุกๆปี” ตามชื่อขนมเทียน คือ 年糕

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ตรุษจีน

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]