กระทรวงศึกษาธิการจีนเพิ่ม 21 สาขาวิชาใหม่ในหลักสูตรปริญญาตรี เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ |
ภาพ : 2050.org.cn
19 เมษายน 2566 – กระทรวงศึกษาธิการจีนอนุมัติ 21 สาขาวิชาใหม่ สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ระดับชาติและการพัฒนาระดับภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
สาขาวิชาใหม่ในหลักสูตรปริญญาตรี | ||
การตรวจสอบการเงิน | กฎหมายระหว่างประเทศ | นิติวิทยาศาสตร์ |
สหภาพแรงงานศึกษา | การศึกษาสำหรับครอบครัว | การศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก |
มนุษยศาสตร์ดิจิทัล | เคมีทรัพยากร | วิทยาศาสตร์ระบบโลก |
วิทยาศาสตร์ข้อมูล | ชีวสถิติ | วัสดุชีวภาพ |
วิศวกรรมขนส่งไฟฟ้า | วิศวกรรมปฏิบัติการและบำรุงรักษาอากาศยาน | การกำกับดูแลการผลิตที่ปลอดภัย |
หุ่นยนต์แห่งอนาคต | การก่อสร้างและการบริหารจัดการ อุทยานแห่งชาติ | วิศวกรรมการแพทย์ |
การบริหารชนบท | การจัดการความปลอดภัยการบิน | การจัดการการเข้าถึง(Accessibility Management) |
แผนการปฏิรูปที่กระทรวงศึกษาธิการจีน ระบุว่า จีนจะปรับองค์ประกอบราวร้อยละ 20 ของสาขาวิชาและวิชาเอกในสถาบันอุดมศึกษา โดยนําวิชาที่ล้าสมัยออกจากหลักสูตร และเพิ่มสาขาวิชาใหม่ให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ภาคส่วนเกิดใหม่ ตลอดจนรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ
จีนมีหลักสูตรเรียนออนไลน์ (MOOC) มากกว่า 64,500 หลักสูตร |
13 กุมภาพันธ์ 2566 – ในการประชุมการศึกษาดิจิทัลโลก (World Digital Education Conference) ได้เผยแพร่รายงานว่าด้วยการศึกษาอัจฉริยะ ระบุว่า จีนมีหลักสูตรการเรียนรู้ทางออนไลน์สำหรับมหาชน (MOOC) รวมมากกว่า 64,500 หลักสูตร และมีผู้เข้าชมมากกว่า 1 พันล้านครั้ง โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีทั้งจำนวนหลักสูตรและจำนวนผู้เข้าร่วมหลักสูตรมากที่สุดของโลก
นอกจากนี้ สมุดปกฟ้าว่าด้วยการศึกษาอัจฉริยะของจีน ประจำปี 2565 ยังสรุปประสบการณ์ด้านการพัฒนาการศึกษาอัจฉริยะของจีน และนําเสนอแผนงาน 5 ประการสำหรับทั่วโลก (1) ใช้การศึกษาดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของนักเรียน และเริ่มต้นการปฏิวัติการเรียนรู้ (2) ใช้พลังดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนแปลงการสอนของครู ส่งเสริมการปฏิวัติการสอน (3) ใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในการจัดการโรงเรียนและเร่งการปฏิรูปการกำกับดูแลการศึกษาที่แม่นยำ (4) ใช้ระบบดิจิทัลของการศึกษาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศใหม่ของการศึกษาและการสอน และ (5) สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศโดยใช้การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทางการศึกษาเป็นตัวเชื่อมโยง
นางซุน ชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนยินดีกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาดิจิทัลระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมเสริมสร้างการประสานนโยบายและมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้ผลลัพธ์ของการศึกษาดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกประเทศมากขึ้น
จีนสร้างศูนย์ทรัพยากรทางการศึกษาใหญ่ที่สุดของโลก |
12 กุมภาพันธ์ 2566 – กระทรวงศึกษาธิการจีน ระบุว่า จีนได้สร้างศูนย์ทรัพยากรทางการศึกษาใหญ่ที่สุดของโลก มีชื่อว่า แพลตฟอร์มบริการสาธารณะทางการศึกษาอัจฉริยะแห่งชาติ (Smart Education of China) ที่เว็บไซต์ https://www.smartedu.cn ให้บริการครอบคลุมกว่า 200 ประเทศ สถิติจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 มีการเข้าเว็บไซต์ดังกล่าว 6,700 ล้านครั้ง จาก 1,000 ล้านคน
แพลตฟอร์มบริการสาธารณะทางการศึกษาอัจฉริยะแห่งชาติของจีน เปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยในส่วนของการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา มีทรัพยากร 44,000 ชิ้น ผู้ลงทะเบียน 72,510,000 คน ในส่วนของการศึกษาระดับอาชีวศึกษามีการเชื่อมต่อกับคลังทรัพยากรการเรียนการสอนวิชาชีพระดับชาติและระดับมณฑลจำนวน 1,173 แห่ง และในส่วนของการศึกษาระดับอุดมศึกษามีคอร์สการเรียนการสอนชั้นเยี่ยม 27,000 วิชา
จีนสร้างระบบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก |
16 พฤศจิกายน 2566 – ในการประชุมการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติประจำปี 2566 นายอู๋ เหยียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน กล่าวว่า จีนได้สร้างระบบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีจำนวนหลักสูตรด้านวิศวกรรมในการศึกษาระดับปริญญาตรีของจีนมีมากกว่า 23,000 หลักสูตร มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่า 6.7 ล้านคนที่ศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นการอัดฉีดแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ สู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม
จีนมีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์และการฝึกอบรมวิศวกรที่มีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเป็นผู้นําการพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมในอนาคต และเพิ่มการสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับการยกระดับทางอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องอาศัยการดําเนินงานผ่านการจัดตั้งกลไกการฝึกอบรมผู้ที่มีความสามารถร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ
จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศมหาอํานาจด้านการศึกษา |
ภาพ : Xinhua
29 พฤษภาคม 2566 – กรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และองค์กรชั้นนําของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ดำเนินการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา
การสร้างประเทศมหาอํานาจด้านการศึกษาเป็นผู้นําทางยุทธศาสตร์ในการสร้างประเทศมหาอํานาจสมัยใหม่อย่างรอบด้าน เป็นการสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการบรรลุการพึ่งพาตนเองในการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความมั่งคั่งร่วมกันของประชาชนทุกคน เป็นโครงการพื้นฐานในการส่งเสริมการฟื้นฟูของประชาชาติจีนที่ยิ่งใหญ่ด้วยความทันสมัยแบบจีนอย่างรอบด้าน ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมของการสร้างประเทศมหาอํานาจด้านการศึกษา
นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพและการบริการเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างประเทศมหาอํานาจทางการศึกษา จีนจำเป็นต้องวางแผนและผลักดันการสร้างระบบประเทศมหาอํานาจด้านการศึกษา ประเทศมหาอํานาจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประเทศมหาอํานาจด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างเร่งด่วน เพื่อผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพ จีนจะยังคงยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาที่เปิดกว้าง ใช้ทรัพยากรการศึกษาและองค์ประกอบด้านนวัตกรรมระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จีนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญของโลกที่มีอิทธิพล
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การบินและอวกาศ
สถานีอวกาศเทียนกงเข้าสู่ขั้นตอนการใช้งานและการพัฒนา |
ภาพ : CMSE
ในปี 2566 สถานีอวกาศเทียนกงได้เข้าสู่ขั้นตอนของการใช้งานและการพัฒนา โดยมีภารกิจขนส่งยานอวกาศบรรทุกสิ่งของเทียนโจว-6 ยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-16 และยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-17 ไปยังสถานีอวกาศเทียนกงในปีนี้
ยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-6 (Tianzhou-6)
10 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.22 น.
ยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-6 (Tianzhou-6) ถูกปล่อยขึ้นไปพร้อมกับจรวดขนส่งลองมาร์ช 7-วาย7 (Long March 7-Y7) ซึ่งเป็นการปล่อยยานอวกาศครั้งแรกนับตั้งแต่สถานีอวกาศจีนเข้าสู่ระยะประยุกต์ใช้งานและพัฒนา ยานเทียนโจว-6 มีน้ำหนักรวมกันเกือบ 5.8 เมตริกตัน มีสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตสำหรับลูกเรือ 3 คนเป็นเวลา 280 วัน อุปกรณ์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 98 ห่อ น้ำหนักรวม 714 กิโลกรัม ที่จะนำไปใช้ใน การทดลอง 29 รายการ ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชีววิทยา ฟิสิกส์ของไหลในสภาวะไร้น้ำหนัก การเผาไหม้ และวัสดุศาสตร์
ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-16 (Shenzhou-16)
30 พฤษภาคม 2566 เวลา 9:31 น.
ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-16 (Shenzhou-16) ถูกปล่อยขึ้นไปพร้อมกับจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ เหยา16 (Long March-2F Yao 16) ส่งนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบไปด้วย จิ่ง ไห่เผิง (Jing Haipeng) จู หยางจู้ (Zhu Yangzhu) และกุ้ย ไห่เฉา (Gui Haichao) ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศเป็นเวลา 5 เดือน เป็นภารกิจแรกที่มีมนุษย์ควบคุมสำหรับการประยุกต์ใช้และการพัฒนาสถานีอวกาศจีน หลังจากยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรแล้ว ได้ดำเนินการนัดพบและเทียบท่ากับชุดประกอบสถานีอวกาศตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ นักบินอวกาศของยานเสินโจว-16 และนักบินอวกาศของยานเสินโจว-15 ทำงานและใช้ชีวิตด้วยกันบนสถานีอวกาศประมาณ 5 วัน เพื่อปฏิบัติภารกิจตามแผนและส่งมอบงานต่าง ๆ ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-16 อยู่ในวงโคจรนาน 154 วัน ทำการทดลองบนอวกาศรวม 70 ครั้ง ทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ จัดการบรรยายความรู้จากสถานีอวกาศ และช่วยเหลือการนำสิ่งของสัมภาระออกจากสถานีอวกาศหลายครั้ง
ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-17 (Shenzhou-17)
26 ตุลาคม 2566 เวลา 11.14 น.
ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-17 (Shenzhou-17) ถูกปล่อยขึ้นไปพร้อมกับจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) ส่งนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบไปด้วย ทัง หงโป (Tang Hongbo) ถัง เซิ่งเจี๋ย (Tang Shengjie) และเจียง ซินหลิน (Jiang Xinlin) ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน โดยทีมนักบินอวกาศประจําภารกิจเซินโจว-17 ทําการทดสอบและทดลองอุปกรณ์ที่ติดตั้งสำหรับรองรับภารกิจหลักของดาวเทียม (payload) ทางวิทยาศาสตร์และการใช้งานในวงโคจรหลายรายการ กิจกรรมนอกยานอวกาศ การติดตั้งอุปกรณ์บรรทุกนอกยานอวกาศ การดำเนินการบำรุงรักษาสถานีอวกาศ รวมถึงการทดลองทำการบำรุงรักษานอกยานอวกาศเป็นครั้งแรก
ผลความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในอนาคต
18 สิงหาคม 2566 – นายหลิน ซีเฉียง โฆษกองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (China Manned Space Agency: CMSA) รายงานว่า เป็นที่คาดหวังว่าอวกาศเทียนกงจะสามารถสร้างการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา สสารมืด พลังงานมืด กาแล็กซี นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ (AGN) ทางช้างเผือกและกาแล็กซีใกล้เคียง การก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ตลอดจนดาวเคราะห์นอกระบบ รวมถึงจะได้รับผลความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์หลายด้านในอนาคต
วัตถุประสงค์ในการวิจัยระดับแนวหน้าของสถานีอวกาศ ได้แก่ การศึกษาต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล ธรรมชาติของสสาร และการมีชีวิตรอดระยะยาวของมนุษย์ในอวกาศ
แพลตฟอร์มการทดลองฟิสิกส์อะตอมในอุณหภูมิต่ำพิเศษของห้องทดลองด้านอวกาศของจีน จะสามารถทำให้ก๊าซเชิงควอนตัมเย็นจัดจนใกล้เคียงกับอุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นโลก
การวิจัยในวงโคจรเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ อวัยวะในชิป การตกผลึกของโปรตีน และการนํานวัตกรรมมาสร้างสิ่งมีชีวิตหรือชีววิทยาสังเคราะห์ อาจนํามาซึ่งความเป็นไปได้ครั้งใหม่สำหรับเวชศาสตร์การฟื้นฟู สุขภาพ การรักษาแบบแม่นยํา การค้นพบยา และจะมีการติดตั้งเครื่องมือเกี่ยวกับการเพาะ พันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและเครื่องมือด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (brain science) ในสถานีอวกาศด้วย
ข้อมูลสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong)ข้อมูลพื้นฐาน , ขั้นตอนการสร้าง , โครงสร้างสถานีอวกาศ , เป้าหมายภารกิจ▶ https://www.stsbeijing.org/wp-content/uploads/2021/12/วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน_พย64.pdf | |
โครงการด้านอวกาศที่สำคัญของจีน ปี 2566สถานีอวกาศเทียนกง , ภารกิจสํารวจดวงจันทร์ , ภารกิจสํารวจดาวอังคาร , ภารกิจส่งดาวเทียม▶ https://www.stsbeijing.org/wp-content/uploads/2023/12/วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน_พย66.pdf |
โครงการสํารวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 และสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ |
ภาพ : China Daily
6 กุมภาพันธ์ 2566 – นายอู่ เหว่ยเหริน หัวหน้าทีมออกแบบโครงการสํารวจดวงจันทร์ของจีน เปิดเผยว่า จีนจะเดินหน้าผลักดันโครงการสํารวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ในปี 2566 จีนจะดำเนินการวิจัยดวงจันทร์อย่างต่อเนื่องผ่านภารกิจฉางเอ๋อ-6 ฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8
ภารกิจฉางเอ๋อ-6 ในช่วงปี 2567 ภารกิจฉางเอ๋อ-6 จะเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ โดยยานอวกาศจะมุ่งลงจอดบนแอ่งขั้วใต้-เอตเคน บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ เพื่อสํารวจและเก็บตัวอย่างจากภูมิภาคและยุคที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ยานอวกาศสํารวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 จะนำอุปกรณ์ที่ติดตั้งสำหรับรองรับภารกิจหลักของดาวเทียมจากฝรั่งเศส อิตาลี ปากีสถาน และองค์การอวกาศยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นเครื่องตรวจจับประจุลบและเครื่องตรวจจับก๊าซเรดอน
ภารกิจฉางเอ๋อ-7 จะเกี่ยวข้องกับการลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์และตรวจหาแหล่งน้ำ
ภารกิจฉางเอ๋อ-8 จะเปิดตัวประมาณปี 2571 และจะทำงานร่วมกับฉางเอ๋อ-7 เพื่อสร้างแบบจําลองพื้นฐานของสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมถึงเครื่องมือสํารวจหลายรายการ อาทิ ยานโคจร ยานลงจอด ยานสํารวจ และยานบิน
สถานีวิจัยบนดวงจันทร์ เป็นฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์สำคัญที่สร้างขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขาและวัตถุประสงค์ เช่น การศึกษาวิวัฒนาการของดวงจันทร์ การสํารวจการก่อตัวของดวงดาวและกิจกรรมต่าง ๆ การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และโลกจากบนดวงจันทร์ และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การเพาะปลูกพืชบนพื้นผิวดวงจันทร์ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์ เช่น แร่ธาตุบนดวงจันทร์และพลังงานแสงอาทิตย์
ชุดภาพสีดาวอังคารทั้งดวง จากยานเทียนเวิ่น-1 |
ภาพ : CNSA
China unveils first global panoramic images of Marshttps://www.cnsa.gov.cn/english/n6465652/n6465653/c10003737/content.html |
24 เมษายน 2566 – องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ร่วมกันเผยแพร่ชุดภาพดาวอังคาร ทั้งดวงที่ได้จากภารกิจสํารวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน ณ พิธีเปิดวันอวกาศจีน (Space Day of China) ในนครเหอเฝย มณฑลอันฮุย
ชุดภาพดาวอังคาร ประกอบด้วย การฉายภาพซีกตะวันออกและตะวันตกของดาวอังคาร เส้นโครงแผนที่แบบโรบินสันของดาวอังคาร รวมถึงเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์และเส้นโครงแผนที่คงทิศทางของดาวอังคาร ซึ่งถูกประมวลผลตามมาตรฐานการจัดทำแผนที่ความละเอียดเชิงพื้นที่ 76 เมตร
ภาพเหล่านี้อ้างอิงจากข้อมูลภาพ 14,757 ภาพ ซึ่งได้มาจากกล้องบันทึกภาพการสํารวจระยะไกลบนยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ระยะ 8 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงกรกฎาคม 2565
CNSA ระบุว่ายานโคจรเทียนเงิน-1 ได้ทำการตรวจสอบดาวอังคารจากระยะไกล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 โดยปัจจุบัน ยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ปฏิบัติงานในสภาพดีมานานกว่า 1,000 วัน และยังคงสะสมข้อมูลดิบจากการสํารวจระยะไกล ส่วนยานสํารวจพื้นผิวจู้หรงได้เดินทางบนดาวอังคารเป็นระยะทาง 1,921 เมตรแล้ว
กล้องโทรทรรศน์วิทยุพลังงานแสงอาทิตย์แบบวงกลมเต้าเฉิง |
ภาพ : CCTV
17 กรกฎาคม 2566 – ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (National Space Science Center of the Chinese Academy of Sciences: NSSC, CAS) ผู้ผลิตกล้องโทรทรรศน์พลังงานแสงอาทิตย์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุพลังงานแสงอาทิตย์แบบวงกลมเต้าเฉิง (Daocheng Solar Radio Telescope: DSRT) ได้เริ่มทดลองสังเกตการณ์แล้ว
กล้องโทรทรรศน์ DSRT เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่บนขอบของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต อำเภอเต้าเฉิง มณฑลเสฉวน ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,800 เมตร และเป็นส่วนสำคัญของโครงการเส้นเมริเดียน ระยะที่ 2 ของจีน
กลุ่มกล้องโทรทรรศน์นี้ประกอบด้วยเสาอากาศรูปทรงพาราโบลา กว้าง 6 เมตร จำนวน 313 เสา ล้อมรอบหอคอยสอบเทียบ ความสูง 100 เมตร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง โดยเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุรับแสงสังเคราะห์ (aperture synthesis) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
กลุ่มกล้องโทรทรรศน์ข้างต้นจะเฝ้าติดตามดวงอาทิตย์และสำรวจแนวทางการเฝ้าติดตามและแจ้งเตือนเกี่ยวกับพัลซาร์ การปะทุของคลื่นวิทยุแบบฉับพลัน และดาวเคราะห์น้อย โดยคณะนักวิจัยจะศึกษาวิธีการประมวลผลข้อมูลที่มีความแม่นยำสูง เพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพที่ได้ให้ดียิ่งขึ้น
กล้องโทรทรรศน์ FAST พบหลักฐานการมีอยู่คลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์ |
ภาพ : CAS
Searching for the Nano-Hertz Stochastic Gravitational Wave Background with the Chinese Pulsar Timing Array Data Release Ihttps://iopscience.iop.org/article/10.1088/1674-4527/acdfa5 |
30 มิถุนายน 2566 – นักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (National Astronomical Observatories, Chinese Academy of Sciences: NAO, CAS) และสถาบันอื่น ๆ ตรวจพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์
นักวิจัยตรวจสอบพัลซาร์ 57 มิลลิวินาที ในจังหวะปกติเป็นเวลา 41 เดือน โดยใช้ประโยชน์จากการตอบสนองที่รวดเร็วของกล้องฟาสต์ และพบหลักฐานสำคัญสำหรับลักษณะบ่งชี้ความสัมพันธ์สูตรควอดรูโพล (Quadrupole) ที่สอดคล้องกับการทํานายคลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์ ที่ระดับความเชื่อมั่นทางสถิติ 4.6 ซิกมา (sigma) โดยมีความน่าจะเป็นของการผิดพลาดอยู่ที่สองส่วนในล้านส่วน
นายหลี่ เคอเจีย นักวิจัยของหอสังเกตการณ์ฯ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่าการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงข้างต้น เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากมีความถี่ต่ำมาก ระยะเวลาที่ยาวนาน และมีความยาวคลื่นระดับปีแสง
คลื่นความโน้มถ่วงคือ “ระลอกคลื่น” ที่เกิดจากวัตถุขนาดมหึมา เช่น หลุมดํา ขณะที่วัตถุเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านโครงสร้างของกาลอวกาศ (spacetime) อย่างรวดเร็ว คลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์มีส่วนช่วยทำความเข้าใจการก่อตัวของโครงสร้างของเอกภพและสํารวจการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ และการรวมตัวของวัตถุท้องฟ้ามวลมหาศาลที่สุดในเอกภพ ได้แก่ หลุมดำมวลยวดยิ่ง (supermassive black hole)
จีนสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมโคจรรอบโลกระดับสูงแล้วเสร็จในเบื้องต้น |
ภาพ : China Satellite Communications Co., Ltd.
26 พฤศจิกายน 2566 – กลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งชาติจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation: CASC) แถลงข่าวว่า บริษัทดาวเทียมสื่อสารซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทได้สร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมในวงโคจรรอบโลกระดับสูง (High Earth Orbit) เครือข่ายแรกให้แล้วเสร็จในเบื้องต้น คาดว่า ในช่วงปลายของการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะ 4 ปี ฉบับที่ 14 ยอดปริมาณการรับส่งสัญญาสื่อสารของบรรดาดาวเทียมที่มีศักยภาพการสื่อสารสูง (High Throughput Satellite) มีเกือบถึง 500 Gbps
หลายปีมานี้ จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมสื่อสารศักยภาพสูงหลายดวง รวมทั้งดาวเทียมจงซิง 16 19 และ 26 ขับเคลื่อนงานสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมในวงโคจรรอบโลกระดับสูงเครือข่ายแรกให้แล้วเสร็จในเบื้องต้น ซึ่งมีขอบเขตบริการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ในอนาคตบริษัทดาวเทียมสื่อสารจะมุ่งมั่นผลิตดาวเทียมที่มีความสามารถในการรับส่งสัญญาการสื่อสารที่มีปริมาณสูงยิ่งขึ้น
ระบบดาวเทียมนําทางเป่ยโต่ว (BDS) ระบุตำแหน่งกว่า 3 แสนล้านครั้ง/วัน |
ภาพ : Xinhua
27 เมษายน 2566 – การประชุมการนําทางด้วยดาวเทียมแห่งประเทศจีนครั้งที่ 13 ณ กรุงปักกิ่งของจีน เปิดเผยว่าระบบดาวเทียมนําทางเป่ยโต่ว (BDS) ของจีนได้ให้บริการระบุตำแหน่งบนซอฟต์แวร์แผนที่มากกว่า 3 แสนล้านครั้ง/วัน
รายงานระบุว่า ระบบดาวเทียมนําทางเป่ยโต่ว 3 มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่สร้างเสร็จและเปิดตัวในปี 2563 ขณะที่ระบบดาวเทียมฯ รุ่นถัดไป จะช่วยสร้างระบบเชิงพื้นที่และเวลาระดับประเทศที่แพร่หลาย บูรณาการ และอัจฉริยะยิ่งขึ้นภายในปี ค.ศ. 2035
ปัจจุบัน จำนวนอุปกรณ์ที่มีความสามารถระบุตำแหน่งผ่านระบบดาวเทียมฯ ในจีน มีจำนวนเกิน 1.2 พันล้านชิ้นหรือชุด และระบบดาวเทียมฯ ให้บริการระบุตำแหน่งบนเส้นทางหลักแก่รถยนต์มากกว่า 7.9 ล้านคัน เรือ 47,000 ลำ และการขนส่งไปรษณีย์ 40,000 คัน
ขณะเดียวกัน มีจักรยานที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบุตำแหน่งความแม่นยําสูงของระบบดาวเทียมฯ มากกว่า 5 ล้านคัน และการเริ่มจัดจําหน่ายโทรศัพท์มือถือที่รองรับบริการสื่อสารข้อความสั้นในตลาดแล้ว
จีนสร้างสถิติส่งดาวเทียม 41 ดวง ด้วยจรวดลำเดียว |
ภาพ : China Daily
15 มิถุนายน 2566 – จีนส่งจรวดลองมาร์ช-2ดี (Long March-2D) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไถ้หยวนในมณฑลส่านซี เพื่อปล่อยดาวเทียมจำนวน 41 ดวงขึ้นสู่วงโคจร ถือเป็นสถิติใหม่ระดับประเทศในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศมากที่สุดในคราวเดียว
ดาวเทียมทั้งหมด 41 ดวง เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก (Small Satellites) ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 601 – 1,200 กิโลกรัม โดยดาวเทียมทั้งหมดเป็นดาวเทียมสำรวจระยะไกลเชิงพาณิชย์และทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของสำนักงานดาวเทียมฉางกวง (Changguang Satellite)
การส่งดาวเทียมดังกล่าว นับเป็นภารกิจครั้งที่ 476 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช ซึ่งจรวดลำนี้ถูกพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Spaceflight Technology: SAST) ที่เป็นหน่วยงานย่อยของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation: CASC) โดยตัวจรวดมีความสูง 41 เมตร และสามารถยกน้ำหนักบรรทุกได้ 1,300 กิโลกรัม
จรวด CERES-1 เชิงพาณิชย์ของจีนขนส่งดาวเทียมจากทะเลครั้งแรก |
ภาพ : Huang Yangyang/China Daily
5 กันยายน 2566 – จีนปล่อยจรวดพาณิชย์ “ซีอีอาร์อีเอส-1” (CERES-1) จากฐานกลางทะเลรอบไห่หยาง เมืองชายฝั่งในมณฑลซานตง พร้อมขนส่งดาวเทียมเทียนฉี 21-24 (Tianqi 21-24) สู่วงโคจรที่กำหนดไว้จำนวน 4 ดวง ภายใต้การดำเนินภารกิจนอกชายฝั่งของศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน
การปล่อยจรวดครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่บริษัทด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ Galactic Energy ได้ทำการปล่อยจรวดจากทะเล และเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกของจีนที่ดำเนินการปล่อยทั้งทางบกและทางทะเล
การปล่อยในทะเลมีข้อได้เปรียบในการเลือกตำแหน่งการปล่อยและลงจอด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปล่อยตัว
บริษัท i-Space พัฒนาจรวดแบบใช้ซ้ำได้ ทดสอบขึ้นบิน-ลงจอดสำเร็จ |
ภาพ : CNSpaceflight
3 พฤศจิกายน 2566 – บริษัท Beijing Interstellar Glory Space Technology Ltd. หรือไอ-สเปซ (i-Space) ผู้พัฒนาจรวดซึ่งมีฐานในกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า จรวดเอสคิวเอ็กซ์-2วาย (SQX-2Y) จรวดเชิงพาณิชย์ที่สามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้ของจีน ประสบความสำเร็จในการทดสอบขึ้น บินและลงจอดในแนวดิ่ง
จรวดสาธิตความสูง 17 เมตร ถูกออกแบบขึ้นเพื่อตรวจสอบเทคโนโลยีจรวดขนส่งที่มีการนํากลับมาใช้ใหม่ได้ถูกปล่อยจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ๋วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนตอน 14.00 น. ของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
จรวดดังกล่าว ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ออกซิเจนเหลวและมีเทนเหลว โดยบินจากพื้นขึ้นไปถึงระดับความสูง 178.42 เมตร และหลังจากนั้นกว่า 50 วินาที จรวดลำนี้ได้ร่อนลงยังพื้นที่เป้าหมายอย่างราบรื่น ด้วยความเร็ว 0.025 เมตรต่อวินาที ด้วยความแม่นยําของตำแหน่งลงจอดที่ราว 1.68 เมตร
ไอ-สเปซ ระบุว่าภารกิจทดสอบนี้ทำให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลแกนหลักของเทคโนโลยีที่สำคัญ และข้อมูลการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการพัฒนาจรวดที่ขับเคลื่อนด้วยออกซิเจนเหลวและมีเทนเหลวขนาดกลางและ ขนาดใหญ่ที่น่ากลับมาใช้ใหม่ได้
บริษัท COMAC ส่งมอบเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ C919 ที่ผลิตในประเทศลำแรก |
ภาพ : Xinhua
28 พฤษภาคม 2566 – เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่จีนพัฒนาขึ้นเอง รุ่น ซี919 (C919) ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยเที่ยวแรกเดินทางจากนครเซี่ยงไฮ้ไปยังกรุงปักกิ่งพร้อมผู้โดยสาร 128 คน ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาเทคโนลยีด้านการบินของจีน ทำให้จีนก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่ของโลกลำดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย นับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของจีนและของโลก
การพัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ของจีน ถูกบรรจุในแผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติระยะกลางและระยะยาว (ค.ศ.2006-2020) เป็น 1 ใน 16 โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน นับจากปี ค.ศ. 2007 ที่คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติหลักการโครงการพัฒนาเครื่องบินขนาดใหญ่เครื่องบิน C919 ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยในปี ค.ศ.2008 มีการจัดตั้งบริษัท Commercial Aircraft Corporation of China (COMAC) และเปิดตัวรหัสเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “COMAC 919” และต่อมาเปลี่ยนเป็น “C919” หลังจากที่จีนใช้เวลากว่า 16 ปีสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ จนเมื่อปี ค.ศ. 2022 เครื่องบิน C919 ถูกส่งมอบให้กับลูกค้ารายแรก คือ ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์
เครื่องบินรุ่น C919 ได้รับการออกแบบให้มีกระจกด้านหน้าที่กว้าง รูปทรงปีกที่ออกแบบพิเศษเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน มีระบบควบคุมการบินที่ทันสมัย สามารถบินได้ในระยะทาง 4,075 กิโลเมตร เทียบได้กับเครื่องบินแอร์บัส 320 และโบอิ้ง 737 ในห้องโดยสารมีที่นั่ง 164 ที่ เป็นที่นั่งชั้นธุรกิจ 8 ที่ และชั้นประหยัด 156 ที่ ล่าสุดมีสายการบินหลายแห่งทั่วโลกที่สนใจสั่งซื้อเครื่องบิน C919 เพื่อใช้ในการบินเชิงพาณิชย์กว่า 800 ลำ
แบบจำลองระบบโลก CAS-ESM2.0 ช่วยศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ |
ภาพ : CMSE
17 พฤศจิกายน 2566 – สถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน (Institute of Atmospheric Physics, Chinese Academy of Sciences) เปิดตัวแบบจําลองซีเอเอส-อีเอสเอ็ม2.0 (CAS-ESM2.0) ซึ่งเป็นแบบจําลองระบบโลกที่พัฒนาโดยจีน ได้รับการออกแบบมาเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงช่วยป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
รายงานจากไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี (Science and Technology Daily) ระบุว่า แบบจําลองระบบโลกรุ่นแรกที่จีนสร้างขึ้น ซีเอเอส อีเอสเอ็ม 2.0 เป็นองค์ประกอบของซอฟต์แวร์หลักของสิ่งอํานวยความสะดวกจําลองระบบโลกเชิงตัวเลข (Earth System Numerical Simulator Facility) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติที่สำคัญของจีน
แบบจําลองดังกล่าว มีรหัสโปรแกรมจําลองทั้งหมดราว 2.7 ล้านบรรทัด ครอบคลุม องค์ประกอบของระบบภูมิอากาศและระบบสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีแบบจําลองระบบย่อยอีก 8 แบบ ซึ่งรวมถึงการไหลเวียนของชั้นบรรยากาศ การไหลเวียนของมหาสมุทร และน้ำแข็งในทะเล
ซีเอเอส อีเอสเอ็ม 2.0 สามารถนําไปใช้เพื่อการสํารวจและทำความเข้าใจกฎแห่งวิวัฒนาการภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และยังสามารถใช้เพื่อศึกษากลไกปฏิกิริยาโต้ตอบของชั้นเปลือกโลก คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบโลกในอนาคต ส่งมอบข้อมูลพื้นฐานเพื่อการตัดสินใจและการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นข้อมูลที่ช่วยกําหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในอนาคต
พลังงาน
นักวิจัยจาก HUST พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จเร็วแตะ 90% ใน 10 นาที |
ภาพ : China Daily
Fast-charging capability of graphite-based lithium-ion batteries enabled by Li3P-based crystalline solid–electrolyte interphasehttps://www.nature.com/articles/s41560-023-01387-5 |
1 พฤศจิกายน 2566 – คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (Huazhong University of Science and Technology: HUST) พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จเร็ว ซึ่งสามารถทำให้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียง 10 นาที
ผลการศึกษาจากวารสารเนเจอร์เอ็นเนอจี (Nature Energy) ระบุว่า แบตเตอรี่กราไฟต์นี้ มีชั้นฟอสฟอรัสแบบบางพิเศษบนพื้นผิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนอินเทอร์เฟสอิเล็กโทรไลต์ของแข็งด้วยการนําไฟฟ้าของไอออนสูง คณะนักวิจัยได้ทดสอบแบตเตอรี่ชนิดเพาช์เซลล์ที่มีขั้วบวกกราไฟต์นี้ และพบความจุแบตเตอรี่แตะ 80 เปอร์เซ็นต์ใน 6 นาที และ 91.2 เปอร์เซ็นต์ใน 10 นาที ความสามารถเก็บประจุของแบตเตอรี่นี้ยังคงอยู่ที่ 82.9 เปอร์เซ็นต์ ในการชาร์จกว่า 2,000 รอบ ณ อัตราการชาร์จระยะ 6 นาที
คณะนักวิจัยเปิดผยว่า การผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติทางเคมีไฟฟ้าอันยอดเยี่ยมนี้ สามารถทำได้ง่ายและคุ้มทุน จึงมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก
ทรัพยากรธรรมชาติ
นักวิจัยจีนค้นพบยีนสำคัญที่ทนต่อดินเค็ม-ด่าง |
ภาพ : People’s Daily
Genetic modification of Gγ subunit AT1 enhances salt-alkali tolerance in main graminaceous cropshttps://academic.oup.com/nsr/article/10/6/nwad075/7083012 |
7 ธันวาคม 2566 – คณะวิจัยจากสถาบันพันธุศาสตร์และชีววิทยาพัฒนาการ สถาบันชีวฟิสิกส์ สถาบันภูมิศาสตร์และเกษตรวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ 10 แห่งในจีน ร่วมมือวิจัยการจำแนกพันธุกรรมหลักในพืชที่อาจนำมาซึ่งการปรับปรุงผลผลิตพืชในดินด่างหรือดินเค็มผ่านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์พันธุกรรมข้าวฟ่างที่มีความทนทานต่อดินเค็ม-ด่าง และค้นพบยีนหลักที่ทนต่อด่าง AT1 ยีน AT1 ถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงความทนทานต่อเค็ม-ด่างของพืช เช่น ข้าว ลูกเดือย และข้าวโพด ในการทดลองภาคสนาม พื้นที่ดินเค็ม-ด่างของจี๋หลินผลผลิตต่อปีของพืชผลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 24.1-27.8% พื้นที่ดินเค็ม-ด่างของหนิงเซี่ย ได้ผลผลิตข้าวฟ่างเพิ่มขึ้นเกือบ 19.5%
ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า หากปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม AT1 ในพื้นที่ 20% ของพื้นที่ดินเค็ม-ด่างของโลกจะเพิ่มการผลิตอาหารทั่วโลกอย่างน้อย 250 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตของพื้นที่ดินเค็ม-ด่าง หากที่ดินส่วนนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ การผลิตอาหารทั่วโลกก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การแพทย์และสาธารณสุข
จีนผ่าตัดดวงตาระดับไมครอนระยะไกลด้วย 5G สำเร็จ |
ภาพ : news.dayoo.com/
23 มิถุนายน 2566 – จีนประสบความสำเร็จในการผ่าตัดดวงตาระดับไมครอนจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยี 5G โดยอาศัยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์ผ่าตัดในมณฑลไห่หนาน โดยหุ่นยนต์ผ่าตัดดวงตาระดับไมครอนร่วมพัฒนาโดยศูนย์จักษุจงซาน (Zhongshan Ophthalmic Center) และคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมแห่งมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น (Sun Yat-sen University) ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าว ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย หลังจากสังเกตอาการหลังผ่าตัดเป็นเวลา 1 เดือน
การผ่าตัดดวงตาต้องใช้ความแม่นยำและความนิ่งของจักษุแพทย์ในระดับสูง ซึ่งการผ่าตัดระดับไมครอนยังคงเป็นเรื่องท้าทายเพราะมีการสั่นทางสรีรวิทยาและการสั่นของมือมนุษย์ หุ่นยนต์ผ่าตัดสามารถจำลองและแทนที่การผ่าตัดด้วยมือมนุษย์ที่ปราศจากอาการสั่นและการสั่นของมือ ด้วยความแม่นยำสูง โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกล 5G ที่แม้ว่ามีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ แต่ทีมจักษุแพทย์สามารถรับภาพจุลศัลยกรรมระยะไกลความละเอียดสูงพิเศษ (UHD) ที่มีความล่าช้าต่ำได้แบบเรียลไทม์ ภายใต้การสนับสนุนจากการสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีถ่ายภาพไมโคร 3 มิติความละเอียดสูงพิเศษ ที่ทำให้การผ่าตัดแม่นยำยิ่งขึ้น
ความสำเร็จของการผ่าตัดดวงตาระดับไมครอนระยะไกลด้วยเทคโนโลยี 5G สะท้อนว่า การบริการการแพทย์ระยะไกลสามารถส่งเสริมการพัฒนาด้านจักษุวิทยาทั่วจีนอย่างสมดุลและเพียงพอ และแก้ปัญหาการกระจายทรัพยากรการแพทย์คุณภาพสูงที่ไม่เท่าเทียม โดยคณะนักวิจัยจะมุ่งนำเสนอการประยุกต์ใช้วิธีการผ่าตัดดังกล่าวทั่วประเทศมากขึ้น
เทคโนโลยี
“สวินจื่อ” (Xunzi) เครื่องมือประมวลผลภาษาอัจฉริยะสำหรับศึกษาตำราโบราณ |
ภาพ : Xinhua
18 ธันวาคม 2566 – จีนเปิดตัว “สวินจื่อ” (Xunzi) เครื่องมืออัจฉริยะรุ่นแรกที่ถูกออกแบบมาสําหรับประมวลผล และวิจัยตําราโบราณโดยเฉพาะ สามารถทำงานอย่างทำความเข้าใจธรรมชาติของภาษา แปลอัตโนมัติ เขียนบทกวี และจัดดัชนีอัตโนมัติ ได้รับการพัฒนาโดยคณะนักวิจัยจากวิทยาลัยการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หนานจิง
สวินจื่อ ถือเป็นแบบจําลองทางภาษาขนาดใหญ่ของตําราโบราณ ช่วยเพิ่มความสะดวกแก่นักอ่านตําราโบราณ พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมจีนโบราณ ยังช่วยผู้ใช้งานให้เข้าใจสํานวนโบราณการใส่เครื่องหมายวรรคตอน และการแปลเป็นภาษาจีนสมัยใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้เครื่องมือนี้วิเคราะห์คําศัพท์ จําแนกข้อความ จับคู่ และเขียนบทคัดย่อ และสามารถประยุกต์ใช้งานในการเขียนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนการสอนด้วยปัญญาประดิษฐ์ และความบันเทิงทางดิจิทัล
คณะนักวิจัย คาดหวังว่า จะสามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถแบบสหวิทยาการเพิ่มขึ้น ผ่านการศึกษาตําราโบราณอย่างอัจฉริยะและเดินหน้าสืบสานมรดกวัฒนธรรมจีนต่อไป
อนึ่ง สวินจื่อ เป็นชื่อนักปรัชญาจีนชื่อดังจากยุคจ้านกั่วหรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และตําราชื่อเดียวกับชื่อของเขา เป็นการรวบรวมงานเขียนเชิงปรัชญา โดยเครื่องมืออัจฉริยะนี้ใช้ชื่อ “สวินจื่อ” เพื่อยกย่องเกียรติ
การประชุมและนโยบายสำคัญ
จีนเตรียมสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ภาคตะวันตกระดับโลกในเฉิงตู-ฉงชิ่ง |
ภาพ : Xinhua
16 เมษายน 2566 – จีนจะสนับสนุนการเร่งสร้าง “เมืองวิทยาศาสตร์ภาคตะวันตก” (western science city) และการสร้างศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลระดับชาติในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และเทศบาลนครฉงชิ่ง ข้อมูลดังกล่าวระบุไว้ในเอกสารที่ออกร่วมกันโดยหน่วยงานส่วนกลาง 12 แห่งของจีน อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลเทศบาลนครฉงชิ่ง และรัฐบาลมณฑลเสฉวน
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแห่งที่มีอยู่เดิมในนครเฉิงตู ฉงชิ่ง และเหมืยนหยาง จะเป็นฐานของการสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และจีนจะเร่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางนวัตกรรม
วัตถุประสงค์หลักของศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ จัดตั้งแพลตฟอร์มนวัตกรรมและฐานการวิจัยระดับโลกจำนวนหนึ่ง และรวบรวมมหาวิทยาลัย สถาบัน และองค์กรด้านนวัตกรรมที่มีชื่อเสียง ภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อกลายเป็นผู้นําด้านการวิจัยเชิงนวัตกรรมในสาขาวิชาพื้นฐาน เช่น วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
เอกสารดังกล่าวย้ำถึงเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงซึ่งจะบรรลุภายในปี ค.ศ. 2025 เช่น ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 5 ของจีดีพีระดับภูมิภาค และการจดสิทธิบัตรมูลค่าสูงให้ได้มากกว่า 80 ฉบับต่อประชากร 10,000 คน
เมืองวิทยาศาสตร์แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมภายในปี ค.ศ. 2035 ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ชั้นนําจากทั่วโลก สร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสาขาที่สำคัญ และผลักดันอุตสาหกรรมห่วงโซ่คุณค่าโลก
ด้านวิจัยและนวัตกรรม
จีนมีวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 5,000 ฉบับ ทรงอิทธิพลทางวิชาการเพิ่มขึ้น |
8 กรกฎาคม 2566 – สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (China Association for Science and Technology: CAST) รายงานว่า จีนตีพิมพ์วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหมด 5,071 ฉบับ ครอบคลุมหลากหลายสาขา และมีอิทธิพลทางวิชาการเพิ่มขึ้นในระดับโลก
ปัจจุบัน จีนมีวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฉบับภาษาจีน 4,482 ฉบับ ฉบับภาษาอังกฤษ 420 ฉบับ และ ฉบับภาษาจีน-อังกฤษ 169 ฉบับ
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 มีวารสารด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 1,570 ฉบับ วิทยาศาสตร์ทางเทคนิค 2,271 ฉบับ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1,152 ฉบับ
วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฉบับภาษาจีน มีอิทธิพลทางวิชาการเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนการอ้างอิงระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.44 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2563 ส่วนฉบับภาษาอังกฤษถูกรวมอยู่ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับระดับโลกจำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างประเทศ
อ้างอิง
- สำนักข่าวซินหัว. การศึกษา
https://www.xinhuathai.com/edu
- สำนักข่าวซินหัว. วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
https://www.xinhuathai.com/tech
- สถานีวิทยุซีอาร์ไอ (China Radio International: CRI). การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม
https://thai.cri.cn/jiaokewen/index.shtml
- 中央广播电视总台发布2023年度国内、国际十大科技新闻
https://www.cctv.cn/2023/12/24/ARTIq5ECAEQDBJ6y4XcGGpXv231224.shtml
- 2023年国内国际十大科技新闻揭晓
http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2023-12/26/content_564676.htm? div=-1
- 8组关键词,见证更加开放的中国
http://finance.people.com.cn/n1/2023/1226/c1004-40146451.html
- 教育部关于公布2022年度普通高等学校本科专业备案和审批结果的通知
http://www.moe.gov.cn/srcsite/A08/moe_1034/s4930/202304/t20230419_1056224.html
- Report: China has over 64,500 open online courses
http://english.scio.gov.cn/chinavoices/2023-02/14/content_85104610.htm
- 世界数字教育大会发布中国智慧教育蓝皮书与智慧教育发展指数报告
https://www.gov.cn/xinwen/2023-02/14/content_5741407.htm
- 新一代人造太阳“中国环流三号”面向全球开放
http://stdaily.com/index/kejixinwen/202312/7866ad2506a14767af69ed1fc55162a6.shtml
- 【科技日报】高能同步辐射光源储存环主体设备安装完成
http://www.ihep.cas.cn/dkxzz/HEPS/kxpj/mtjj/202312/t20231211_6911794.html
- 我国首次完成3000米超深水三维地震勘探
http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202312/c5fcc6ce4ab7462c82b6d9738ef47c9e.shtml
- China’s commercial CERES-1 rocket succeeds in first sea launch
- Vertical takeoff and landing test of commercial carrier rocket succeeds in NW China
- 国家航天局、中国科学院联合发布中国首次火星探测火星全球影像图
https://www.cnsa.gov.cn/n6758823/n6758844/n10010282/n10010308/c10015468/content.html
- 逆流而上的自矢量微型机器人
https://www.ncsti.gov.cn/kjdt/kjrd/202311/t20231121_141949.html
- 国家卫生健康委就健康中国行动——心脑血管疾病防治行动和癌症防治行动实施方案(2023-2030年)举行新闻发布会
http://www.scio.gov.cn/xwfb/bwxwfb/gbwfbh/wsjkwyh/202311/t20231120_781148.html
- 中国科大实现“九章三号”光量子计算原型机
https://quantum.ustc.edu.cn/web/index.php/node/1140
- China conducts 5G remote micron eye surgery
- 我国首艘核动力集装箱船发布 整船采用全电方案“近零排放” 技术可行性高
https://www.shanghai.gov.cn/nw4411/20231206/ba5aa37ba5a54783a4c5f1a55852d425.html
- 明年我国发展改革领域明确5大重点任务
http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202312/7bd3b87a633946959828996695b47a11.shtml
- จีนทำลายสถิติเก่าของตนเอง ! ส่งดาวเทียม 41 ดวง ขึ้นสู่อวกาศ
https://news.trueid.net/detail/jQg37e3OLA4Q
- เส้นทางสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเครื่องบิน C919 ของจีน
- 【中国网】中国科学家揭示作物在盐碱地增产的“基因密码”
https://www.cas.cn/cm/202303/t20230324_4881599.shtml
- 命名铌包头矿!我国科学家发现战略性关键金属新矿物
https://www.cnnc.com.cn/cnnc/xwzx65/ttyw01/1372757/index.html
- 我国首次完成3000米超深水三维地震勘探
http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202312/c5fcc6ce4ab7462c82b6d9738ef47c9e.shtml
- 中国第40次南极科学考察队踏上征程
http://www.news.cn/mrdx/2023-11/02/c_1310748575.htm
- จีนสร้าง “กังหันลมนอกชายฝั่ง” พลังงานลมลอยน้ำใต้ทะเลลึกแห่งแรกของโลก
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/energy/844940
- 新一代人造太阳“中国环流三号”面向全球开放
http://stdaily.com/index/kejixinwen/202312/7866ad2506a14767af69ed1fc55162a6.shtml
- 科学家构建人体免疫发育细胞图谱
https://www.cas.cn/zkyzs/2023/09/412/kyjz/202309/t20230913_4970430.shtml