กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์

กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ (Five-hundred-meter Aperture Spherical Telescope: FAST)                 กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร มีขนาดพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอลมาตรฐานจำนวน 30 สนาม ตั้งอยู่ในแอ่งทรงกลมลึกตามธรรมชาติในอำเภอผิงถัง มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก และเริ่มเปิดดําเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อ เดือนมกราคม 2563 ก่อนเปิดให้ทั่วโลกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564

ฟาสต์ตรวจจับพัลซาร์ได้กว่า 740 ดวง นับตั้งแต่เริ่มดําเนินงาน
Xinhua pictures of the year 2022: Aerial photos-Xinhua

ภาพ : Xinhua

8 ก.พ. 66 – คณะนักวิจัยของจีนประกาศว่าฟาสต์ (FAST) ตรวจจับพัลซาร์ (pulsar) ได้กว่า 740 ดวง นับตั้งแต่เริ่มดําเนินงาน การสังเกตการณ์พัลซาร์เป็นงานสำคัญของฟาสต์ ซึ่งสามารถใช้ยืนยันการมีอยู่ของรังสีความโน้มถ่วงและหลุมดำ และช่วยไขสารพัดข้อข้องใจอื่น ๆ ในสาขาฟิสิกส์

เจียงเผิง หัวหน้าวิศวกรของกล้องโทรทรรศน์ฯ กล่าวว่า ระยะเวลาสังเกตการณ์ประจำปีของฟาสต์สูงเกิน 5,300 ชั่วโมงแล้ว นับตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2016 โดยมีการรับข้อมูล 30-40 เทราไบต์ทุกวัน และค้นพบพัลซาร์มากกว่า 740 ดวงแล้ว การค้นพบพัลซาร์เพิ่มเติมของฟาสต์ช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการค้นหาหลักฐานของคลื่นความโน้มถ่วง หรือสร้างระบบอ้างอิงเวลาที่ควบคุมโดยอัตโนมัติได้

พัลซาร์ คือ ดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวด้วยความเร็วสูง มีต้นกำเนิดจากแกนกลางที่ระเบิดอยู่ภายในของดาวฤกษ์มวลสูง ที่กําลังจะตายผ่านการระเบิดของซูเปอร์โนวา การสังเกตการณ์พัลซาร์เป็นภารกิจที่สำคัญของกล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ ซึ่งสามารถใช้ยืนยันการมีอยู่ของรังสีความโน้มถ่วง (gravitational radiation) และหลุมดำ อีกทั้งช่วยตอบคําถามเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่สำคัญอื่น ๆ ได้

ฟาสต์พบพัลซาร์คู่คุณสมบัติทำลายสถิติ

ภาพ : Xinhua

21 มิ.ย. 66 – ฟาสต์ (FAST) พบพัลซาร์คู่ (binary pulsar) ที่มีคาบการโคจร 53.3 นาที ซึ่งเป็นคาบสั้นที่สุดเท่าที่มีการค้นพบสําหรับพัลซาร์ในระบบดาวคู่

งานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยทีมที่นําโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัด สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ (21 มิ.ย.) ที่ผ่านมา

เจียงเผิง หัวหน้าวิศวกรของกล้องฟาสต์ ระบุว่าพัลซาร์คู่ดังกล่าวชื่อว่าพีเอสอาร์ เจ1953+1844 (เอ็ม71อี) (PSR J1953+1844 (M71E)) อยู่ในระบบพัลซาร์แมงมุม (spider pulsar) ที่มีความเร็วเชิงมุมในการโคจรใหญ่ที่สุด และนับ เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสถานะกลางของการวิวัฒนาการจากพัลซาร์แมงมุมหลังแดงเป็นพัลซาร์แมงมุมแม่ม่ายดํา ซึ่งช่วยเติมเต็มช่องว่างในทฤษฎีวิวัฒนาการของพัลซาร์แมงมุม

การสังเกตทางดาราศาสตร์พบว่าพัลซาร์บางดวงมีดาวฤกษ์บริวารในวงโคจรใกล้ โดยหานจินหลิน นักวิจัยของหอสังเกต การณ์ฯ กล่าวว่าคาบการโคจรของพัลซาร์ในวิวัฒนาการนั้นค่อนข้างสั้น และระยะห่างระหว่างดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก

ซึ่งสร้างความท้าทายอย่างยิ่งสําหรับการสังเกตการณ์ ทว่าการตอบสนองรวดเร็วและศักยภาพการตรวจจับของฟาสต์ ทําให้สามารถยืนยันเส้นทางวิวัฒนาการได้

ฟาสต์พบหลักฐานการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์
กล้องโทรทรรศน์ ‘ฟาสต์’ พบหลักฐานการมีอยู่ ‘คลื่นความโน้มถ่วง’ ระดับนาโนเฮิรตซ์

ภาพ : Xinhua

30 มิ.ย. 66 – ฟาสต์ (FAST) พบหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์ นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบพัลซาร์ 57 มิลลิวินาทีในจังหวะปกติเป็นเวลา 41 เดือน โดยใช้ประโยชน์จากการตอบสนองที่รวดเร็วของกล้องฟาสต์ และพบหลักฐานสำคัญสำหรับลักษณะบ่งชี้ความสัมพันธ์สูตรควอดรูโพล (Quadrupole)        ที่สอดคล้องกับการทํานายคลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์ ที่ระดับความเชื่อมั่นทางสถิติ 4.6 ซิกมา (sigma) โดยมีความน่าจะเป็นของการผิดพลาดอยู่ที่สองในล้าน

คลื่นความโน้มถ่วงคือ “ระลอกคลื่น” ที่เกิดจากวัตถุขนาดมหึมา เช่น หลุมดํา ขณะที่วัตถุเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านโครงสร้างของกาลอวกาศ (spacetime) อย่างรวดเร็ว คลื่นความโน้มถ่วงระดับนาโนเฮิรตซ์มีส่วนช่วยทำความเข้าใจการก่อตัวของโครงสร้างของเอกภพ และสํารวจการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ และการรวมตัวของวัตถุท้องฟ้ามวลมหาศาลที่สุดในเอกภพ ได้แก่ หลุมดำมวลยวดยิ่ง (supermassive black hole)

งานวิจัยที่จัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และสถาบันอื่น ๆ ได้รับการเผยแพร่ในวารสารการวิจัยทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Research in Astronomy and Astrophysics) 

หลี่เคอเจีย นักวิจัยของหอสังเกตการณ์ฯ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่าการตรวจจับคลื่นความโน้ม ถ่วงข้างต้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากมีความถี่ต่ำมาก ระยะเวลาที่ยาวนาน และมีความยาวคลื่นระดับปีแสง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]