ภารกิจสํารวจดวงจันทร์

โครงการสํารวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 (ฉางเอ๋อ-6, 7, 8)

6 ก.พ. 66 – นายอู่ เหว่ยเหริน หัวหน้าทีมออกแบบโครงการสํารวจดวงจันทร์ของจีน เปิดเผยว่าจีนจะเดินหน้าผลักดันโครงการสํารวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ในปี 2566 ซึ่งรวมถึงภารกิจการนําตัวอย่างหนัก 2 กิโลกรัมที่เก็บรวบรวมจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก  จีนจะดำเนินการวิจัยดวงจันทร์อย่างต่อเนื่องผ่านภารกิจฉางเอ๋อ-6 ฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 

ฉางเอ๋อ-6

“ฉางเอ๋อ-6” (Chang’e-6) ยานอวกาศสํารวจดวงจันทร์ถัดไปของจีนในช่วงราวปี 2567 ภารกิจฉางเอ๋อ-6    จะเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ โดยยานอวกาศฯ จะมุ่งลงจอดบนแอ่งขั้วใต้-เอตเคน บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ เพื่อสํารวจและเก็บตัวอย่างจากภูมิภาคและยุคที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ยานอวกาศสํารวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 จะบรรทุกอุปกรณ์จากฝรั่งเศส อิตาลี ปากีสถาน และองค์การอวกาศยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเครื่องตรวจจับประจุลบและเครื่องตรวจจับก๊าซเรดอน

ฉางเอ๋อ-7

ภารกิจฉางเอ๋อ-7 จะเกี่ยวข้องกับการลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์และตรวจหาแหล่งน้ำ 

ฉางเอ๋อ-8

ภารกิจฉางเอ๋อ-8 จะเปิดตัวประมาณปี 2571 และจะทำงานร่วมกับฉางเอ๋อ-7 เพื่อสร้างแบบจําลองพื้นฐานของสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมถึงเครื่องมือสํารวจหลายรายการ อาทิ ยานโคจร ยานลงจอด ยานสํารวจ และยานบิน

สถานีวิจัยบนดวงจันทร์

นักวิทยาศาสตร์จีนเผยเป้าหมายสถานีวิจัยดวงจันทร์ในอนาคต - ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

ภาพ : China Daily

เป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้งาน

นายโจว หย่งเหลียว หัวหน้าแผนกการสํารวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Office of Lunar and Deep-space Exploration, Chinese Academy of Science) เปิดเผยเป้าหมายเกี่ยวกับสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ระหว่างการประชุมอวกาศระดับชาติ ดังนี้

จีนวางแผนสร้างแบบจําลองพื้นฐานของสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ โดยอ้างอิงจากสองภารกิจการสํารวจที่วางแผนไว้ภายในปี 2571 และขยับขยายสู่ระดับนานาชาติในภายหลัง คณะนักวิทยาศาสตร์เดินหน้าพัฒนาพิมพ์เขียวสำหรับสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ เป้าหมายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ

  1. การศึกษาวิวัฒนาการของดวงจันทร์
  2. การสํารวจการก่อตัวของดวงดาวและกิจกรรมต่าง ๆ
  3. การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และโลกจากบนดวงจันทร์
  4. การทดลองทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การเพาะปลูกพืชบนพื้นผิวดวงจันทร์ และการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรบนดวงจันทร์ เช่น แร่ธาตุบนดวงจันทร์และพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าดวงจันทร์ยังคงเป็น “สนามหลัก” ของการสํารวจอวกาศห้วงลึก และการสร้างสถานีวิจัย นานาชาติบนดวงจันทร์มีความจําเป็นในทางประวัติศาสตร์

ภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมภายในปี ค.ศ. 2030

29 พ.ค. 66 – องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (China Manned Space Agency: CMSA) ประกาศว่า จีนวางแผนบรรลุภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมภายในปี ค.ศ. 2030

หลินซีเฉียง รองผู้อํานวยการองค์การฯ กล่าวว่าจีนได้ริเริ่มการทํางานระยะการลงจอดบนดวงจันทร์ของโครงการสํารวจดวงจันทร์ที่มีมนุษย์ควบคุมเมื่อไม่นานนี้

หลินระบุว่า เป้าหมายโดยรวมคือการบรรลุการลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมครั้งแรกของจีน ภายในปี ค.ศ. 2030 และดําเนินการสํารวจทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์และการทดลองทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ หลินกล่าวว่า เป้าหมายข้างต้นยังครอบคลุมการเรียนรู้เทคโนโลยีที่สําคัญ เช่น การเดินทางไป-กลับระหว่างโลกและ ดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุม การพํานักระยะสั้นบนพื้นผิวดวงจันทร์ การสํารวจร่วมระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ การ บรรลุภารกิจหลายรายการในการลงจอด เคลื่อนที่ เก็บตัวอย่าง วิจัย และส่งคืน รวมถึงการสร้างขีดสามารถอิสระสําหรับ การสํารวจดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุม

วิธีลงจอดบนดวงจันทร์

9 มิ.ย. 66 – โจวเจี้ยนผิง หัวหน้านักออกแบบประจำโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน เปิดเผยว่าจีนกําลังพัฒนาจรวดสำหรับภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งจะส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมและยานลงจอดสู่วงโคจร ของดวงจันทร์ในสองเที่ยวบินที่แยกกัน 

ยานอวกาศข้างต้นจะส่งทีมนักบินอวกาศสู่วงโคจรของดวงจันทร์และเทียบท่ากับยานลงจอดบนดวงจันทร์ ต่อจากนั้นยานลงจอดจะพาทีมนักบินอวกาศลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนโมดูลพุ่งขึ้นของยานลงจอดจะพาทีมนักบินอวกาศกลับสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เพื่อเทียบท่ายานอวกาศและกลับสู่โลก

ภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์จะยากกว่าเที่ยวบินสู่สถานีอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม เนื่องจากการลงจอดบนดวงจันทร์ต้องการจรวดที่มีสมรรถนะการบรรทุกขนาดใหญ่กว่าเดิม  สมรรถนะการบรรทุกที่จําเป็นต่อการลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งเทียบเท่ากับสมรรถนะการขนส่งสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก จะอยู่ที่ราว 130-140 ตัน ซึ่งใหญ่กว่าสมรรถนะที่จําเป็นต่อการส่งส่วนประกอบสถานีอวกาศจีนทั้งหมด (ส่วนประกอบ 6 รายการ) ราวร้อยละ 30-40

โดยจีนจะบรรลุเป้าหมายส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030 และส่งพวกเขากลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ณ เขตปกครองตนเองทิเบต

ภาพ : Xinhua

15 ก.ย. 66 – จีนเปิดตัวโครงการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ในเมืองรื่อคาเจ๋อ เขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งจะสนับสนุนภารกิจสํารวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึกของประเทศในอนาคต และอํานวยความสะดวกแก่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นในด้านหลุมดำมวลยวดยิ่งและพลวัตของกาแล็กซีทางช้างเผือก

กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวพัฒนาโดยหอดูดาวแห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Shanghai Astronomical Observatory, Chinese Academy of Science: SHAO, CAS) และจะถูกรวมเข้าเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (VLBI) ในจีน ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยหอดูดาว 4 แห่ง ตั้งอยู่ ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้       อุรุมชี และคุนหมิง การรวมกล้องโทรทรรศน์จะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการสังเกตการณ์ของเครือข่ายฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่จะสามารถแสดงการวัดที่แม่นยําสำหรับยานอวกาศสองลำในครั้งเดียว

กล้องโทรทรรศน์ที่กําลังก่อสร้างนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ความแม่นยําสูงที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทั้งหมด โดยสถานีสื่อคาเจ๋อ ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 4,100 เมตร มีสภาพแวดล้อมการสังเกตการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับกล้องโทรทรรศน์

เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลเป็นเทคนิคที่ใช้วัดความแตกต่างของเวลาระหว่างการรับสัญญาณของกลุ่มเสาอากาศบนพื้นโลก ซึ่งจะจําลองกล้องโทรทรรศน์เสมือนจริงที่มีขนาดเท่าระยะห่างสูงสุดระหว่างกล้องโทรทรรศน์

กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ณ มณฑลจี๋หลิน

Construction of China's 40-meter-aperture radio telescope starts in northeast China's Jilin Province, October 11, 2023. /CMG

ภาพ : CMG

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 จีนเริ่มก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดรูรับแสง 40 เมตร ในเขตภูเขาฉางไป๋ มณฑลจี๋หลิน เพื่อสนับสนุนภารกิจสํารวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึกในอนาคต  เขตภูเขาฉางไป๋เป็นสถานที่ซึ่งเหมาะแก่การสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เนื่องจากมีท้องฟ้าแจ่มใสและสภาพอากาศแห้ง

กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวพัฒนาโดยหอดูดาวแห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Shanghai Astronomical Observatory, Chinese Academy of Science: SHAO, CAS) ถูกออกแบบให้เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายได้ทั้งหมด และมีความแม่นยําสูง กล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวนี้จะช่วยยกระดับการวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ (radio astronomy) ของจีน และส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรมในสาขาล้ำสมัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงด้านหลุมดำมวลยิ่งยวดและพลวัตเกี่ยวกับกาแล็กซี ก่อนหน้านี้ในปี 2566 จีนประกาศเดินหน้าดำเนินการวิจัยดวงจันทร์ด้วยภารกิจที่วางแผนไว้หลายรายการ อาทิ การนําตัวอย่างน้ำหนัก 2 กิโลกรัมจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ กล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวใหม่จะรวมเข้าเป็นเครือข่ายกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุอีก 5 แห่ง ทั่วประเทศ และศูนย์ประมวลผลข้อมูลหนึ่งแห่งในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการสังเกตการณ์ของจีน และรองรับการสํารวจอวกาศห้วงลึกได้ดียิ่งขึ้น การก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์ใหม่นี้และสถานีจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]