การประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าด้วย

การแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1

ความเป็นมา

การประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 (The first Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange: BRST) ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “ร่วมกันเพื่อนวัตกรรม การพัฒนาเพื่อทุกคน” (Together for Innovation, Development for All) เน้นประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม นวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ในอนาคต วิทยาศาสตร์แบบเปิด และข้อมูล     ขนาดใหญ่  มีการจัดพิธีเปิดหรือการประชุมเต็มคณะ การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กิจกรรมภายใต้หัวข้อต่าง ๆ การประชุมโต๊ะกรม และการแสดงผลงานรวมกิจกรรมหลัก 10 รายการ

การประชุมนี้ ยังได้เผยแพร่โครงการริเริ่มความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ (International Science and Technology Cooperation Initiative) ซึ่งสนับสนุนและบ่มเพาะแนวคิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศอย่างเปิดกว้าง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก

นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศแผนสร้างเขตความร่วมมือด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Science and Technology Innovation Cooperation Zone) ในภูมิภาคเฉิงตู-ฉงชิ่งด้วย เช่นเดียวกับแผนความร่วมมือพิเศษด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Science and Technology Innovation Special Cooperation Plan) และรายงานพัฒนาเส้นทางสายไหมโดยใช้นวัตกรรม (Innovative Silk Road Development Report)

11月6日,首届“一带一路”科技交流大会在重庆悦来国际会议中心启幕。邹乐摄

นายจาง กว่างจวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานแถลงข่าวคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการประกาศรายงานสำคัญ ภายใต้หัวข้อความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นครั้งแรก จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นครั้งแรก มีการแสดผลงานแห่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งจะครอบคลุมถึงตัวอย่างกรณีความร่วมมือมากกว่า 80 กรณีที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายขอบเขต

ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษต้อนรับการประชุมฯ นายคาร์สเทน ฟิงค์ (Carsten Fink) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้เปิดตัวกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 100 อันดับแรก (Top 100 Science and Technology Clusters) วัดตามดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ประจำปี 2566 โดยจีนมีเมืองหลายแห่งที่ติด 10 อันดับแรก ทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และซูโจว ซึ่งแสดงให้เห็นระดับและผลกระทบของนวัตกรรมทั่วโลก

นายคอนสแตนติน โนโวเซลอฟ (Konstantin Novoselov) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2553 เปิดเผยว่า ทีมของเขาได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่ฉงชิ่ง เพื่อเจาะลึกในหัวข้อนี้ โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มการผลิตกราฟีน เขามองเห็นอนาคตที่หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญด้านการรวบรวมข้อมูลจะสร้างชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลรองรับการเรียนรู้ของเครื่องจักร ซึ่งจะช่วยพัฒนาวัสดุศาสตร์ให้ก้าวหน้าไปได้อย่างมาก

การประชุมฯ ได้เชิญแขกต่างชาติกว่า 300 คน จาก 70 กว่าประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล นักวิชาการชาวต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมีจำนวนเกือบ 40 คน ส่วนนักวิชาการภายในประเทศ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ตัวแทนสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และองค์กรหลักจะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ปีนี้เป็นการครบรอบ 10 ปีแห่งการเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภายในความร่วมมือและส่งเสริมของทุก ๆ ฝ่าย กลไกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการดำเนินลึกซึ้งอย่างต่อเนื่องบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยมีการติดต่อบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น และได้ประสบผลสำเร็จจากความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

รมว.อว. นำคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมการประชุม BRST ครั้งที่ 1
IMG 4496

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 (The first Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange: BRST) ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่าง ๆ จำนวน 24 ประเทศจาก 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า ได้เข้าประชุมเรื่อง Building Closer Belt and Road Partnerships on Science, Technology and Innovation โดยตนหยิบยกประเด็น “การเชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้น   โดยการกระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” รวมถึงในเรื่องของ  การแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย และความร่วมมือที่จีนได้เห็นชอบให้นำอุปกรณ์ตรวจวัดสภาวะอวกาศ (Space Weather Sensor) ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวง อว. พัฒนาขึ้นซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศไทยขึ้นไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ-7 ที่มีกำหนดการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2569 ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศที่สำคัญ รวมทั้งร่วมมือรับความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสีเขียว ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) พลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีอวกาศ

IMG 4499

รมว.กระทรวง อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนได้เข้าร่วมประชุม A Path toward Future-Oriented Innovation-Driven Development และกล่าวในหัวข้อ “การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขจัดความยากจน” โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ยกตัวอย่างที่กระทรวง อว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ “U2T” โดยให้นักศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาอาชีพ

“กระทรวง อว. ได้สนับสนุนให้มีการริเริ่มสร้าง Platform หรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการถอดบทเรียนความสำเร็จของประเทศจีนและยินดีร่วมมือกับประเทศจีนและนานาประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.ศุภมาส กล่าว

รมว.อว. พบปะกับนายหยิน เหอจวิ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้พบปะกับนายหยิน เหอจวิ้น (Yin Hejun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 (The first Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange: BRST) และการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ 1 ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในระหว่างการประชุม นายหยิน เหอจวิ้น และ รมว.อว. ได้ทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับทวิภาคีภายใต้กรอบของแผนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และแสดงความตั้งใจที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือต่อไป

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมไทย – จีน เพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ประสบผลสำเร็จและเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศ นิวเคลียร์ฟิวชัน เทคโนโลยีการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ และสาขาอื่น ๆ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างจีน – ไทยอย่างจริงจัง 

หลังการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชน ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” (Memorandum of Understanding on Science and Technology People-to-People Exchange Program)

รมว.อว. ลงนามโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน
ข่าวรัฐมนตรี ศุภมาส - “ศุภมาส” นำกระทรวง อว. ลงนามโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 (The first Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange: BRST) ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตนได้ประชุมทวิภาคีไทย – จีนร่วมกับ นายหยิน เหอจวิ้น (Yin Hejun) รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการลงนามใน “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชน ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” (Memorandum of Understanding on Science and Technology People-to-People Exchange Program)  เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ สร้างความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น 

logo_-_¬-ό-_

โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ของกระทรวง อว. และศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (China Science and Technology Exchange Center: CSTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้

รมว.กระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการประชุมหารือทวิภาคีไทย – จีนในฐานะประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ มีความครอบคลุมตั้งแต่ในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจนถึงด้านเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การร่วมกันพัฒนาเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่จะใช้ประโยชน์ในด้านการผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต รวมทั้งหยิบยกผลสำเร็จจากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่กรุงเทพฯ ที่มีเจตจำนงร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง นิวเคลียร์ฟิวชัน การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีด้านการแพทย์ เช่น การใช้ลำอนุภาคโปรตรอนพลังงานสูง บำบัดโรคมะเร็ง โดยใช้ proton cancer therapy technology นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยของจีนทางด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ด้วยเอไอ (AI medical imaging) ที่มีความก้าวหน้ามากอย่างยิ่งในประเทศจีน รวมทั้งเทคโนโยลีด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Robotics Medicine) ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง

สาขาความร่วมมือใหม่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีความสำคัญ ที่เป็น New growth engine ตัวใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ที่ทำให้เกิดการสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างงาน และสร้างผู้ประกอบการของประเทศ

“ดิฉันได้ขอให้ท่านรัฐมนตรีหยิน เหอจวิ้น ช่วยผลักดันและสานต่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของทั้งสองฝ่ายทั้งในระดับกระทรวงและระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย รวมทั้งจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของสองประเทศ และผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้านนายหยิน เหอจวิ้น กล่าวว่า ความร่วมมือในฐานะผู้แทนรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือโดยใช้กลไกการทำงานตามปกติ แต่หากมีความประสงค์ที่จะดำเนินการในเรื่องใดเป็นพิเศษ ฝ่ายจีนพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดและที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อประสานงานกันได้โดยตรง

4
อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]