ในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในการประชุม BRF ครั้งที่ 3 นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงหัวข้อ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ซึ่งเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมระหว่างการเยือนทางการนั้น นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งจะได้มีกิจกรรมพบหารือกับภาคเอกชนของจีนเพื่อหารือการกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ผู้แทนภาคเอกชนของไทยได้ร่วมเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหารือการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนไทย – จีน ตลอดจนร่วมงานส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทย – จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2566
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 |
นายกฯ หารือประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ร่วมเดินหน้าความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีน |
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CITIC พลังงานสะอาด รถยนต์ EV ในไทย |
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CRRC เชิญชวนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง BCG Economy Renewable Energy และ EV |
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Ping An ขอบคุณการลงทุนในไทยหลายสาขา พร้อมเชิญชวนขยายการลงทุนในสาขาประกันภัยที่บริษัทมีศักยภาพ ใช้ประโยชน์จาก Health care และ Wellness ของไทย |
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Xiaomi เชิญชวนขยายตลาดและการลงทุนในไทยมากขึ้นเชื่อมั่นศักยภาพและข้อได้เปรียบทางธุรกิจของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย |
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Alibaba เชิญชวนขยายการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ และ Cloud Service |
นายกฯ หารือ ประธานาธิบดีปูติน ย้ำเจตจำนงร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ในทุกมิติพร้อมสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ |
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 |
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum เสนอ 4 แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเงินสีเขียว และความร่วมมือพหุภาคี |
นายกฯ ไทย-จีน เห็นพ้องกระชับความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคงและและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน |
นายกฯ รับฟังสรุปผลการประชุมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนจากผู้แทนภาคเอกชน 50 ราย |
นายกฯ หารือผู้บริหาร CEO บริษัท CHEC เชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ตั้ง Regional Office ในไทย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคร่วมกัน |
นายกฯ หารือผู้บริหาร CEO บริษัท Geely ขอบคุณที่เชื่อมั่นในศักยภาพพิจารณาลงทุนในไทยเชื่อว่าไทยมีนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมกับการลงทุนของบริษัท |
วันที่ 19 ตุลาคม 2566 |
นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand – China Investment Forumย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ |
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงยืนยันพร้อมร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพร้อมเป็นสักขีพยาน 8 พันธมิตรชั้นนำจีน เชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทย |
นายกฯ ไทย – ปธน. จีน เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านยกระดับความร่วมมือทุกมิติ มุ่งสู่ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 |
นายกฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ณ กรุงปักกิ่ง |
นายกฯ หารือ นายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ร่วมเดินหน้าความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีน |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น. ณ Reception Hall มหาศาลาประชาชน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 74 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 รวมถึงความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Asian Games ครั้งที่ 19 ณ นครหางโจว
ด้านประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับการเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนพร้อมร่วมมือกับไทยในกรอบพหุภาคี ทั้งกรอบอาเซียนและกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โอกาสนี้ ประธานสภาฯ ฝากความระลึกถึงประธานรัฐสภาไทย ยืนยันจีนต้องการมีความร่วมมือกับไทยในระดับรัฐสภา และในทุกระดับ
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นที่สนใจร่วมกัน ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ และการขจัดความยากจน และยินดีที่ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีนก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ของไทยในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังมีศักยภาพพัฒนาได้อีกมาก โดยไทยมีศักยภาพและนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนให้วิสาหกิจจีนเข้ามาใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของประเทศไทย และลงทุนในอุตสาหกรรมมุ่งเป้าของไทย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรม BCG
ไทยและจีนยินดีที่การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนสองประเทศได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ประกาศมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นระยะเวลา 5 เดือน
โดยในด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทย และสภาประชาชนแห่งชาติจีนมีความใกล้ชิดมายาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือน และจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประธานสภาฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CITIC พลังงานสะอาด รถยนต์ EV ในไทย |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. Mr. Zhu Hexin, Chairman CITIC Group Corporation เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นบริษัทฯ ใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง กลุ่ม CITIC ได้รับการจัด อันดับอยู่ใน Fortune’s Global 500 เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 และอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2566 โดย CITIC สนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในหลากหลายธุรกิจ
โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสาตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน สะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเชิญชวนให้มาตั้ง Regional Headquarter โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่
ฝ่ายบริษัทฯ ประสงค์ขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน บริษัทมีธุรกิจครอบคลุมและมีบริษัทในเครือจำนวนมาก และมีศักยภาพการแข่งขันระดับโลก รวมทั้ง ด้านพลังงานสะอาดที่ไทยสนใจ
ไทยและ CITIC จะร่วมมือกันเพื่อต่อยอดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล บริษัทต้องการขยายความร่วมมือและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนายกฯชวนมาขยายธุรกิจด้านการเงินในไทย ซึ่ง CITIC มีธุรกิจเกี่ยวข้องการเงินอยู่ด้วยแล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้นๆในจีน จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทยได้ จะได้หารือในขั้นตอนต่อไป
ไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV จึงขอเชิญบริษัทฯ เข้ามาลงทุนลักษณะ supply chain เช่น ล้อแม็กซ์ฯ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของ BOI
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CRRC เชิญชวนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง BCG Economy Renewable Energy และ EV |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. Mr. Yongcai Sun, Chairman and Executive Director, CRRC Group เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย CRRC Group เป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ออกแบบ การซ่อมแซม และให้บริการทางเทคนิค ซึ่ง CRRC ได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างเครือข่ายและขยายธุรกิจไปสู่ขอบเขตที่กว้างขวาง อาทิ การพัฒนาเมืองสีเขียว และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
บริษัทฯ ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุน และช่วยเหลือการลงทุน มีความร่วมมือกันมายาวนาน บริการผลิตเครื่องจักรรถไฟที่หลากหลาย สำหรับรถไฟทุกแบบ ครบวงจร พร้อมถ่ายทอดความรู้และทักษะเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่สุดของจีน และมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง
โดยบริษัทฯ แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทยในส่วนที่มีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนว่ามีโอกาสอย่างมากในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางในไทย แบบครบวงจร สร้างมูลค่าและคุณค่าควบคู่กัน ยินดีร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งรถไฟเพื่อการขนส่งอื่นๆด้วย ต้องการเชิญนายกฯไปทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงด้วยตนเอง
ไทยให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากต่างประเทศด้วยระบบสาธารณูปโภคครบครัน และสิทธิพิเศษการลงทุน จึงอยากเชิญชวนมาตั้งโรงงานในไทย ควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ไทย ไทยพร้อมด้านแรงงาน และ healthcare ที่จะดูแลนักลงทุน นอกจากนี้ ยังมีความต้องการหัวจักรรถไฟจำนวนมาก สำหรับการขนส่งทางรถไฟของไทย โดยไทยเสนอให้บริษัทฯ มองภาพระยะยาวการลงทุนในไทย ที่จะดีและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาจพิจารณาตั้งเป็น 2nd Hub ในไทย
สำหรับโครงการ landbridge เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อการขนส่งด้านพลังงาน และสินค้า เพื่อย่นระยะเวลาและประสิทธิภาพการขนส่ง สามารถขนส่งไปที่ต่างๆของโลกได้ง่ายขึ้นมาก
บริษัทฯ เปรียบนายกฯ เป็นหัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนทั้งการพัฒนาระบบการขนส่งและการพัฒนาที่จะสำเร็จด้วยดี จึงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งต่อศักยภาพของไทยที่จะเป็น hub การขนส่งระบบราง
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Ping An ขอบคุณการลงทุนในไทยหลายสาขา พร้อมเชิญชวนขยายการลงทุน ในสาขาประกันภัยที่บริษัทมีศักยภาพ ใช้ประโยชน์จาก Health care และ Wellness ของไทย |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. Mr. Xie Yonglin, Executive Director, President, Co-CEO เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย บริษัท Ping An เป็น 1 ใน 3 ของผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน บูรณาการด้านการเงินและการบริการด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน และรวมถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งปี 2565 Ping An อยู่ในอันดับที่ 25 ของการจัดอันดับ Fortune Global 500 (อันดับ 4 หากจัดประเภทบริษัททางการเงินทั่วโลก) อันดับที่ 4 ของ Fortune China 500 และอันดับที่ 17 ของ Forbes Global 2000
โดย Ping An ขานรับนโยบายรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนสีเขียว (Green Investment) ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ในโครงการที่มีแนวโน้มการปลดปล่อยคาร์บอนสูง (High Carbon-Emitting Assets) รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการปล่อยกู้ (Green Credit) การออกพันธบัตร (Green Bond) รวมทั้งการให้ประกัน (Green Insurance) แก่โครงการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับปี 2566 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสีเขียวมากเพิ่มขึ้นอีก 20%
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณ Ping An ที่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและศักยภาพของไทย มีการดำเนินธุรกิจในไทยในหลากหลายสาขา ซึ่งประเทศไทยมีบริบท แวดล้อมในสังคมที่สนใจด้านสุขภาพและเทคโนโลยี จึงเหมาะสมกับการลงทุนของบริษัท สนับสนุนให้บริษัทเพิ่มการลงทุนในไทยในสาขาที่มีศักยภาพ
บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนาน มีธุรกิจครบวงจรเกี่ยวกับการเงิน medical care สำหรับผู้สูงอายุ และการแพทย์ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข จึงคิดว่าสามารถร่วมมือกับไทยได้
นายกฯ เชิญชวนให้มาลงทุนในไทยให้มากขึ้น ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากบริษัท ในทุกด้านที่บริษัทเชี่ยวชาญ เช่น healthcare การเงิน
ทั้งนี้ บริษัทจะขยายการบริการประกันภัยนอกประเทศ จะพิจารณาไทยเป็นประเทศแรก สำหรับ healthcare นั้น บริษัทฯ ขายประกัน และมีลูกค้าประกันสุขภาพขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมี healthcare รองรับซึ่งไทยมีบริการด้านนี้ และ wellness เป็นที่ยอมรับ
อีกทั้งไทยมีความร่วมมือด้าน Visa ซึ่งอาจขยาย ไปสู่การผ่อนปรนเงื่อนไขของ Visa สำหรับกลุ่ม Medical Tourism และ กลุ่มคนที่ต้องการใช้บริการการแพทย์ด้านการมีบุตร บริษัทฯ ได้ย้ำว่า จีนนิยมไปไทยในอันดับต้นๆ ทั้งท่องเที่ยว การรักษา รวมถึงการหาที่อยู่ในระยะยาวและ การหารือกับนายกฯ ทำให้ สนใจลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะได้รับข้อมูลและเห็นโอกาสที่ชัดเจน
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Xiaomi เชิญชวนขยายตลาดและการลงทุนในไทยมากขึ้นเชื่อมั่นศักยภาพและข้อได้เปรียบทางธุรกิจของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. Mr. Alain Lam, Vice President, CFO เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย Xiaomi เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีนวัตกรรมขั้นสูง สร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย โดดเด่นในการผลิตโทรศัพท์มือถือที่ปฏิบัติการบนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Android
บริษัทฯ มีเครือข่ายและธุรกิจทั่วโลก เริ่มธุรกิจในไทย ปี 2018 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีไทยเป็น Head quarter ในภูมิภาค รวมถึงการให้การสนับสนุนไทยในด้านต่างๆ เช่นในช่วงโควิด หรือการศึกษา
บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท Xiaomi Technology (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจำหน่าย และทำการตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย รวมทั้งขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง และตลาดอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือไทย
นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่บริษัทเชื่อมั่นในประเทศไทย โดยพร้อมสนับสนุนการขยายตลาดและการลงทุนในประเทศไทย เชื่อว่าไทยมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจที่บริษัทจะได้ประโยชน์ในการลงทุนและขยายตลาดในพื้นที่
นายกฯ ชื่นชมการดำเนินการของบริษัท และขอให้ขยายการลงทุน การค้าในไทย ขอบคุณการถ่ายทอดเทคโนโลยี R&D สำหรับโครงการ landbridge จะเป็นโอกาสของบริษัท ในการร่วมกันพัฒนาในกรอบ BRI ซึ่งบริษัทฯ กำลังมองหาสถานที่ผลิต หรือโรงงานการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจในหลายๆด้านที่เกี่ยวข้อง แม้แต่รถยนต์ EV
นายกฯ ย้ำให้ความมั่นใจการเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่พร้อม และสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบ ไทยเป็นประเทศแรกที่ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับ carbon credit ทั้ง supply and demand sides มีผู้ผลิตหลายรายที่แสดงความประสงค์ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย
โดยนายกฯ ได้อธิบายความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งและโครงการ landbridge ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งไปยังจุดต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการเป็น Hub
บริษัทยินดีที่จะขยายการผลิตชิ้นส่วน electronics ต่างๆในไทยสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท และนำสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการผลิตของแรงงานไทยควบคู่กับการ training เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและมีทักษะ
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร Alibaba เชิญชวนขยายการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ และ Cloud Service |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. Mr. Fan Jiang, CEO บริษัท Alibaba International Digital commerce Group เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย Alibaba Group เป็นบริษัท e-commerce รายใหญ่ ให้บริการและพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ระบบ Alibaba Cloud Computing และระบบการชำระเงิน Alipay บริษัททำสถิติการขายหุ้นให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก (IPO) ด้วยมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นนิวยอร์ก จำนวน 25,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ 800,000 ล้านบาท
บริษัทฯ เห็นว่าไทยมีศักยภาพ เป็น strategic partner บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในไทยในหลากสาขาของผลิตภัณฑ์ มีลูกค้าตลาดใหญ่ของบริษัทฯ ยินดีสนับสนุน e-training ให้กับไทย พร้อมขยายความร่วมมือการลงทุน ได้แก่ E-commerce training สำหรับบุคลากรและแรงงานไทย
โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณ Alibaba สำหรับความมั่นใจและการลงทุนใน Cloud Service หวังว่าจะได้รับการขยายการลงทุน และ Alibaba จะสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสในการลงทุนไทยได้อีกมาก
บริษัทฯ ยินดีสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในด้านดิจิทัล และเสนอให้ตั้ง smart digital hub ในไทย ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ Travel platform เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ กำลังขยายการดำเนินการ และเป็นไปด้วยดี ซึ่งกำลังร่วมมือกับ ททท. ของไทยเสนอรัฐบาลสำหรับมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยใช้ระบบ online และเสนอการใช้ใบขับขี่จีนในไทย จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงบริษัทจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ไทย online help center สำหรับนักท่องเที่ยว
นายกฯ หารือ ประธานาธิบดีปูติน ย้ำเจตจำนงร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ในทุกมิติพร้อมสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ เรือนรับรองเตี้ยว หยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม
ประธานาธิบดีปูตินชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ครม. (16 ตุลาคม 2566) มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้
ด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง
ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย
นายกรัฐมนตรีได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทยซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forumเสนอ 4 แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการส่งเสริมการเงินสีเขียว และความร่วมมือพหุภาคี |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 16.17 น. ณ ศูนย์การประชุม China National Convention Center (CNCC) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum ภายใต้หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature”
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) พร้อมเน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นกลไกสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การประชุม BRF ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปจนถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเกิดจากการเสื่อมถอยของความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน BRI ไปสู่ “ความร่วมมือสายแถบและเส้นทางคุณภาพสูง” (“High-Quality Belt and Road Cooperation”) เพื่อ “การพัฒนาและความรุ่งเรือง” (“Common Development and Prosperity”) โดยไทยมุ่งมั่นที่จะนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งให้คณะรัฐมนตรีวางแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการ Land Bridge เชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเข้ากับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทย โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าโครงการนี้จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ BRI และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลก ไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2559 โดยไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
นอกจากนี้ ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy) นำมาใช้เป็นกรอบการทำงานที่ครอบคลุมกรอบแรกของเอเปคในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบพลิกโฉมและทะเยอทะยาน ประการที่สอง การเปิดตัวรางวัล APEC BCG Awards ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และความรู้สึกไม่แบ่งแยก
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
แนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์
“เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ”
นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ” 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ในทุกภาคส่วน เพื่อจำกัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไทยกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาวพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และได้ปรับแผนพลังงานแห่งชาติ เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมทั้ง ใช้แนวคิดเรื่องพืชไร่ที่ยั่งยืนลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่น จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ประการที่สอง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป้าหมาย 30 x 30 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP CBD) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเส้นทางสายไหมทางทะเลสีเขียว
ประการที่สาม การส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งขณะนี้ไทยสามารถระดมเงินได้ถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน และในเร็ว ๆ นี้ ไทยจะวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability Linked Bonds) อีกชุด กระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนและ MSMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประการสุดท้าย การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน ร่วมมือ แบ่งปันความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสวัสดิการของประชาชน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการทำงานร่วมกันภายใต้ BRI และสร้างความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน
ทั้งนี้ การประชุม High-Level Forum แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ Green, Connectivity และ Digital ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกัน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ Green ซึ่งมีนายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน เป็นประธานการประชุมฯ และมีผู้นำจากหลายประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลง
นายกฯ หารือ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นพ้องกระชับความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคง และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน |
ภาพ : Xinhua
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 เวลา 17.35 น. ณ Peony Hall เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีจีน และกล่าวขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นในวันนี้ พร้อมชื่นชมต่อความสำเร็จของจีนในการจัดการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 และการเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทย-จีน ได้หารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้
ความสัมพันธ์ไทย – จีน ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นมิตรแท้ร่วมกันมายาวนาน พร้อมเห็นพ้องแลกเปลี่ยนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในระดับการเมือง และพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ
ด้านนายกรัฐมนตรีจีนเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – จีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีไทยเชิญนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยและจีนยืนยันความร่วมมือเพื่อเผชิญกับความท้าทายทุกมิติทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์โลก
โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญภาคเอกชนจีนมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานโครงการ Landbridge ด้านนายกรัฐมนตรีจีนยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ให้เพิ่มพูนทุกด้าน พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในไทย และพร้อมต้อนรับดูแลการลงทุน
นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุน การนำเข้าสินค้าเกษตรไทย โดยขอให้จัดตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรที่ท่าเรือกวนเหล่ย และเพิ่มโควต้านำเข้าข้าว และการนำเข้าโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์โคโดยตรงจากไทย ทั้งนี้ทางไทยพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรฐานการกักกันโรคตามหลักวิชาการสัตวแพทย์เท่าที่ทางจีนกำหนด ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย – ลาว – จีน ตามแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยง 3 ประเทศ รวมทั้งโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชน และการพัฒนาของภูมิภาค
ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจที่มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงตรวจลงตราที่ยกเว้นให้นักท่องเที่ยวจีน และขอให้ฝ่ายจีนพิจารณายกเว้นให้ชาวไทยเช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีจีนให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว
ความร่วมมือด้านความมั่นคง ไทยและจีนต่างเห็นพ้องในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายประเทศ เพราะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย พร้อมร่วมกันแก้ไขปัญหา Call Center การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนไทย จีน และประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีจีนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน โดยเฉพาะการศึกษาของเยาวชนและสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี จีนสนับสนุนบทบาทสร้างสรรค์ของกันและกันในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรอบ ASEAN-จีน และ MLC เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองต่อภูมิภาคและโลก
นายกฯ ไทย-จีน ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสารสำคัญ 6 ฉบับ |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 เวลา 17.35 น. ณ Peony Hall เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกัน 6 ฉบับ ดังนี้
1) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
3) การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
4) แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570
5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ รับทราบการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกฯ รับฟังสรุปผลการประชุมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนจากผู้แทนภาคเอกชน 50 ราย |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 12.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังสรุปผลการประชุมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน
ในห้วงการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ได้มีผู้แทนภาคเอกชนไทย 50 ราย จากกว่า 20 บริษัท เดินทางเยือนจีน เพื่อร่วมกิจกรรมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลม Strengthening Thailand-China Business Partnership ที่กรุงปักกิ่ง โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนเข้าร่วม เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติ สำนักงานศุลกากร สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สภาธุรกิจจีน-อาเซียน ตลอดจนนักธุรกิจสาขาต่าง ๆ
ภายหลังกิจกรรม นายกรัฐมนตรีได้เข้ารับฟังรายงานผลจากนักธุรกิจไทยด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดันต่อไปคือ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน การยกระดับอุตสาหกรรมของสองประเทศ การเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาใช้ประโยชน์ในการหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนในวันนี้ (18 ต.ค. 2566) และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค. 2566)
นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้มาในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้แทนประธานสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และบริษัทรายใหญ่อื่น ๆ ที่ค้าขายลงทุนกับจีน เช่น SCG อมตะ คอร์ปอเรชัน บ้านปู มิตรผล ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร ฯลฯ
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CEO บริษัท CHEC เชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ตั้ง Regional Office ในไทย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคร่วมกัน |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 13.10 น. ณ ห้อง Function Room 3B โรงแรม China world Mr. Wang Tongzhou (นายหวัง ถงโจว) Chairman บริษัท CHEC เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน โดยดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งประกอบธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และการให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. (16 ตุลาคม 2566) มีมติรับหลักการโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2039
นายกรัฐมนตรียินดีที่ CHEC บริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้าง คมนาคม เป็นอันดับ 1 ของเอเชียด้านก่อสร้าง มีการลงทุนจากบริษัทฯ ในไทย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงเฟส 3 บริษัทยืนยันได้รับการสนับสนุนจากไทยด้วยดีมาตลอด BRI จะเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือเข้าสู่มิติใหม่
บริษัทฯ ยินดีที่ไทยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบถ้วนครอบคลุมในประเทศ เสนอความร่วมมือของบริษัทฯ
1. ทางหลวงและระบบราง เฟส 3 ของแหลมฉบัง ดำเนินไปด้วยดี มีแผนผนวก ท่าเรือ เมือง และนิคมเข้าด้วยกัน
2. โครงการ landbridge บริษัทฯ ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการด้วย
นายกฯ ยินดีหากบริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมใน landbridge ซึ่งมีโครงการสร้างและขยายสนามบินด้วย จึงขอให้บริษัทฯ ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของไทย อาทิ กระทรวงคมนาคม
สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ของไทย landbridge ท่าเรือ โครงการรถไฟขอให้คุยกับ BOI นการเข้ามาลงทุน เพื่อขอรับสิทธิพิเศษการลงทุนตามนโยบาย โดยในโอกาสนี้ นายกฯ ชักชวนบริษัทฯ ให้เปิด regional office ในไทยเพื่อประโยชน์ยิ่งขึ้น
นายกฯ หารือ ผู้บริหาร CEO บริษัท Geely ขอบคุณที่เชื่อมั่นในศักยภาพพิจารณาลงทุนในไทยเชื่อว่าไทยมีนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมกับการลงทุนของบริษัท |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 13.50 น. ณ ห้อง Function Room 3B โรงแรม China World Mr. Daniel li (นายแดเนียล ลี) CEO บริษัท Geely เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสรุปผลการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสดีสำหรับ Geely และรัฐบาลไทยที่จะได้หารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและกิจการต่อเนื่องในประเทศไทย และขอบคุณบริษัทที่เห็นศักยภาพและพิจารณาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งทราบว่าบริษัทมีแผนจะนำรถ EV Pickup ไปจำหน่ายในไทยในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งนายกฯ เห็นว่ายังไม่มีผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าภายในประเทศจึงเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยในฐานะผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด บริษัทฯ สนใจลงทุนในไทย ด้านยานยนต์ โดยเฉพาะ EV พลังงาน Solar และนายกฯ เชิญชวนให้บริษัทฯ ผลิตรถยนต์ EV ทั้งระบบ ครบวงจร โดยไทยยินดีเสนอสิทธิพิเศษการลงทุนและอำนวยความสะดวก
โดยไทยมีศักยภาพรองรับ และเป็น Detroit of Asia อยากเชิญชวนบริษัท มาผลิตรถ EV ทั้งระบบ ตั้งแต่อะไหล่ เครื่องยนต์ จนถึงการประกอบรถยนต์ เพื่อส่งออก บริษัทตั้งเป้าผลิตรถซีดานปีละ 100,000 คันต่อปี แต่หากรวมรถประเภทอื่นจะถึง 200,000 คันต่อปี แต่ยังมีปัญหาเรื่องการใช้งาน เพราะรถกระบะไฟฟ้าใช้งานหนักไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี swap battery เพื่อสะดวกต่อการชาร์จ จึงต้องการพื้นที่สำหรับ station การชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งตรงนี้บริษัทให้ความสำคัญมาก ซึ่งไทยเห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ติดขัดกับระเบียบปัจจุบัน แต่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand – China Investment Forumย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 09.20 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 2-3 โรงแรมเคอร์รี่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand – China Investment Forum โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ในปี ค.ศ. 2023 นี้ จะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไทยและจีนเพิ่งครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ. 2022 – 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก
สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก
โดยไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันทางบก ไทยมีเส้นทางถนน R3A เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศมีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังไทย นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจ บุคลากร และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) สำหรับการค้าและการลงทุน
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนี้ ไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน
ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีย้ำบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของไทย โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ผ่านการค้าและการลงทุน พร้อมใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน
ด้านเศรษฐกิจของไทย รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย – จีนจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน
ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของไทย รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย พร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อเวทีโลก
ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนเสริมสร้างสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี
ด้านการศึกษา จีนเป็นประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมาก หวังว่าทั้งสองประเทศจะผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของไทยและจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะช่วยเชื่อมโยง กระตุ้นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนมากขึ้น พร้อมเชื่อมั่นว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อม ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้า เต็มศักยภาพ และรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
โดยได้แจ้งการดำเนินโครงการ Landbridge และเชิญชวนนักลงทุนจีนร่วมลงทุนในโครงการนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันการสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนจีน ให้ Ease of doing business เกิดขึ้นจริง ขอร่วมเดินทางกับจีนในเส้นทาง business ที่ท้าทาย เพื่อความรุ่งเรืองร่วมกัน
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงยืนยันพร้อมร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมเป็นสักขีพยาน 8 พันธมิตรชั้นนำจีน เชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทย |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 09.55 น. ณ โรงแรมเคอร์รี่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 8 พันธมิตรชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นโอกาสให้ไทยและจีนกระชับความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยง การค้าและการลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศให้แน่นแฟ้น ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและจีนอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เปรียบเหมือนคำกล่าวที่ว่า “จงไท่อี้เจียชิน” หรือ “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
รัฐบาลไทยมุ่งอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวจีน ได้มีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วยส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของสองประเทศ
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ไทยมีความปลอดภัยและยินดีต้อนรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว พร้อมดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว มุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 8 พันธมิตรชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย หัวเว่ย (Huawei) ซีทริป (Ctrip) เหม่ยถวน (Meituan) อาลีเพย์ (Alipay) สปริงแอร์ไลน์ (Spring Airline) สำนักข่าว Sina News อ้ายฉีอี้ (iQIYI) และเจโก้ทริป (JekoTrip) ในวันนี้ เห็นถึงความสำคัญของพันธมิตรในการทำงานร่วมกัน ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ของทุกฝ่าย เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ทางการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป เซี่ยเซี่ย ต้าเจีย
นายกฯ ไทย – ปธน. จีน เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านยกระดับความร่วมมือทุกมิติ มุ่งสู่ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 17.15 น. ณ East Hall มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐนตรีกล่าวขอบคุณต่อการต้อนรับที่อบอุ่นในการเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีจีน และยินดีต่อวาระการครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) รวมถึงความสำเร็จในการจัดการประชุมฯ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีนยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมายาวนาน ตามประโยคที่ว่า “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” พร้อมเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านไทย-จีน ที่ใกล้ชิด การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสู่วาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2568 โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญประธานาธิบดีจีนเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก
ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมองว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ จึงยินดีร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการตอบสนองต่อความท้าทาย รวมถึงเห็นพ้องการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอเกี่ยวกับโครงการ Landbridge เชิญชวนให้มีการลงทุน ทั้งนี้ ไทยยังเห็นความสำคัญของนักลงทุนจีน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับแรกของไทย ซึ่ง ประธานาธิบดีกล่าวว่านักลงทุนจีนก็มีความสนใจในการลงทุนใน mega project ของไทย
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีมองว่าการท่องเที่ยวสามารถเป็นนโยบายที่จะสามารถดำเนินการและเกิดผลประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว (Quick win) ไทยจึงออกนโยบาย Visa Free ชั่วคราวสำหรับชาวจีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศได้มากขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจที่มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า ยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเต็มที่ และการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิด และให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาการตกลงเรื่องการยกเว้นตรวจลงตราระหว่างกัน
ความร่วมมือด้านความมั่นคง จีนยืนยันความร่วมมือกับไทยในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลต่อการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหา Call Center การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยและจีนได้หารือร่วมกันถึงแนวทางสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) อาเซียน-จีน และสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคและโลก
นายกฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ณ กรุงปักกิ่ง |
ภาพ : ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การประชุมฯ ถือเป็นโอกาสที่ผู้นํานานาประเทศได้รวมตัว เพื่อแนะนํา แผนการพัฒนาของตนเอง และแสดงความตั้งใจจะทำงานร่วมกันเพื่อต่อยอดแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ให้ เป็นปึกแผ่นและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
นายเศรษฐา กล่าวว่า แผนริเริ่มฯ ที่นําเสนอโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเชื่อมโยงนานาประเทศ สร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ด้วยการสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่าง ประชาชน พร้อมเสริมว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในพิธีเปิดการประชุมฯ ได้สื่อสารความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาอย่างสันติและขยับขยายการเปิดกว้างยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายเศรษฐายังได้เจรจาพูดคุยกับบริษัทผู้ประกอบการของจีนหลายแห่งระหว่างอยู่ปักกิ่ง เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ไทย โดยเศรษฐาเผยว่าการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อส่งสารถึงบรรดาบริษัทผู้ประกอบการของจีนว่าไทยพร้อมต้อนรับกลุ่มนักลงทุนจากจีน
สำหรับแผนการส่งเสริมความร่วมมือไทย-จีน นายเศรษฐา กล่าวว่า ทั้งสองประเทศยังพัฒนาความร่วมมือในหลายด้าน ในด้านการพัฒนาพลังงานใหม่นั้นปัจจุบันมีบริษัทยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนหลายแห่งเข้ามาลงทุนและก่อสร้างโรงงาน ในไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ในความร่วมมือการเกษตรระหว่างสองประเทศ นายเศรษฐายกการส่งออกทุเรียนเป็นตัวอย่าง โดยกล่าวว่าชาวจีนนิยมรับ ประทานทุเรียนอย่างมาก และคาดหวังว่าไทยจะสามารถส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพสูงสู่จีนเพิ่มขึ้นในอนาคต
อนึ่ง นายเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคม ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ
นายเศรษฐา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยและจีนนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ประชาชนของสองประเทศได้ช่วย เหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันฉันญาติสนิทมิตรสหาย ขณะเดียวกันไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี จึงหวังว่าจะเกิดความ ร่วมมือกับกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการของจีนภายใต้แผนริเริ่มฯ เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศและเดินหน้าการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี