บทสัมภาษณ์พิเศษ : ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ “โครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไทย-จีน”

ในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไทย-จีน อันสร้างคุณูปการแก่ทั้งสองประเทศ โอกาสนี้ ทาง China Media Group (CMG) ภาคภาษาไทย ได้สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กระทรวง อว.ในปัจจุบัน) และขออนุญาตนำบทความที่น่าสนใจจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้มาเผยแพร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงอุปถัมภ์ความสัมพันธ์ไทย-จีนมาตลอดกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยากให้อาจารย์ได้เล่าถึงโครงการต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์มาโดยตลอด


สารคดีพิเศษเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50


คลิปสัมภาษณ์https://fb.watch/lq7y0J4z7c/ 

โครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้เล่าตัวอย่างโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไทย-จีน ที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ ตามพระราชดำริฯ นับตั้งแต่ ค.ศ. 2007 จนปัจจุบัน  มีสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของแคส (Chinese Academy of Sciences: CAS) 14 แห่งลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัย/มหาวิทยาลัยไทย 12 แห่ง มีทั้งการพัฒนากำลังคนและความร่วมมือกันทำวิจัยและพัฒนาด้านวัตกรรมดังปรากฏในรูปที่ 1 ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่

Supporting structure of JUNO completed - INFN Sezione di Padova

(1) โครงการ Jiangmen Underground Neutrino Observatory สถานีตรวจวัดนิวทริโนใต้ดิน ตั้งอยู่ที่เมืองไคผิง (Kaiping) เขตเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อตรวจวัดลำดับมวลทางควอนตัมของอนุภาคนิวทริโนที่ผลิตออกมาจากโรงไฟฟ้าปรมาณู 2 แห่ง คือ หยางเจียง (Yangjiang) และ ไถชาน (Taishan)

ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการไทย-จูโนประกอบด้วยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และนักวิจัยจาก 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT  โดยมีความร่วมมือที่สำคัญคือการออกแบบ และสร้างระบบขดลวดลดทอนสนามแม่เหล็กโลก (Earth Magnetic Field (EMF) Shielding) ที่รบกวนการทำงานของหน่วยตรวจวัดนิวทริโน ได้ส่งนักวิจัย นักศึกษาไปทำงานกับจูโนที่จีน ประเทศไทยได้สนับสนุนเงินจำนวน 15 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งและพระองค์ท่านได้เสด็จฯ เยี่ยมในวันที่ 3 มิถุนายน 2023 ตอนเริ่มโครงการนี้นั้น ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์-พลังงานสูง (IHEP) ของแคสกับ มทส., จุฬาฯ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. (NARIT) มีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศคามพระราชดำริฯ เป็นพยานเมื่อ 7 เมษายน 2560 ณ สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn (right) visited the PMT lab

ภาพโครงการ JUNO เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรหน่วยทวีคูณแสง (photomultiplier tube) ณ Institute of Higher Energy Physics: IHEP ของ CAS กรุงปักกิ่ง ศาสตราจารย์ Wang Yifang (คนที่ 2 จากซ้าย), IHEP Director ถวายคำอธิบาย และมีศาสตราจารย์ ไพรัช ธัชยพงษ์ (คนที่ 3 จากซ้าย) เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารนเทศตามพระราชดำริฯ และศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (คนซ้ายสุด) อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมฟังด้วย

(ภาพ : http://juno.ihep.cas.cn/PPjuno/201704/t20170418_176138.html)

(2) โครงการวิจัยขั้วโลก (อาร์กติกและแอนตาร์กติก) ความเดิมมีว่าพระองค์ท่านได้เคยเสด็จฯ เยือนทวีป    แอนตาร์กติก เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2536 จึงทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติก และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “แอนตาร์กติกา : หนาวหน้าร้อน” เป็นบันทึกการเดินทางครั้งนั้น ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่าควรส่งนักวิจัยไทยไปอาร์ติกและแอนตาร์กติกโดยการร่วมมือกับจีน ตั้งแต่ ค.ศ. 2014 – 2019 ทุกปีได้มีนักวิจัยไทยเดินทางไปยังแอนตาร์กติกเพื่อทำวิจัยที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ สถานีวิจัยจงซาน และบนเรือเสวี่ยหลง (Xuelong) รวม 10 คน

แล้วในคณะเดินทางสำรวจของจีนชื่อ Chinese National Antarctic Research Expedition ชื่อย่อ CHINARE แต่ต้องหยุดไปชั่วคราวเพราะการระบาดของ Covid-19 และคาดจะเริ่มต้นใหม่ในปี 2023 นี้ งานวิจัยก็มีด้าน Marine biology, Microbiology, Pollution, Oceanography, Geology และ Geodesy  นักวิจัยไทยมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยจปร. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 รัฐบาลจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่ที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์เพื่อให้นักวิจัยของไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ ได้ใช้ในการปฏิบัติการวิจัยห้องดังกล่าวชื่อ “China-Thailand HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn Antarctic Joint Laboratory” ภาษาจีน  ชื่อ 中泰诗琳通公主南极联合实验 “หน่วยงานของจีนที่ทำงานร่วมกับไทยในโครงการวิจัยขั้วโลก (อาร์กติกและแอนตาร์กติก) คือ สำนักงานบริหารอาร์กติก และแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) และสถาบันขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China: PRIC)

about : Polar Research -  มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี

ภาพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับบนเรือตัดน้ำแข็ง “เสวี่ยหลง” ของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีน นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนเมษายน 2556

(ภาพ : https://www.princess-it.org/en/mou-inter-en/polar-research-en/main-project-polar-en/about-polar-research-en.html)

(3) โครงการ นักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปศึกษา UCAS ระดับปริญญาโทและเอก (ส่วนใหญ่ปริญญาเอก) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552-2565 รับทุนทั้งสิ้น 44 คน สำเร็จการศึกษาโท/เอกกลับมารับราชการ 19 คน และ กำลังศึกษา 22 คน

(4) นักเรียนทุนปี 2565 เตรียมตัวสมัครเรียนภาษาจีน 3 คน ตัวอย่างสาขาวิชา ได้แก่ microbiology , remote sensing , material and material engineering , management science and data mining ,  operation research and control engineering , robot and automation, computer sciences , nanotechnology , accelerator physics and synchrotron technology  โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษากลับมารับราชการในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยกรมกองต่าง ๆ ของรัฐบาล ปัจจุบันก็ยังมีการคัดเลือกส่งนักเรียนทุนทุกปีส่งไปยัง UCAS 

นอกจากนี้ ยังมีทุนระดับปริญญาโททีจากมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง (Xi’an Jiaotong University: XJTU) สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทูลเกล้าฯถวายปีละ 3 ทุนใน 9 สาขา เช่น Mechanical Engineering, Power Engineering and Engineering Thermophysics, Electronic Science and Technology, Information and Communication Engineering, Management Science and Engineering

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2565 มีนักศึกษา 12 รุ่น รวม 30 คน สำเร็จการศึกษา 23 คน อยู่ระหว่างศึกษา 6 คน ลาออก 1 คน ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วทำงานบริษัทเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัยและศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ปัจจุบันยังคัดเลือกส่งไปทุกปี

ภาพศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้สัมภาษณ์กับ China Media Group (CMG)

โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก

ผู้สื่อข่าวถามถึงต้นปีที่แล้ว พระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยกับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก โครงการนี้ช่วยไทยได้ศึกษาวิจัยด้านขั้วโลก และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ระบุว่า โครงการความร่วมมือไทย-จีน ตามพระราชดำริฯ นับตั้งแต่  ค.ศ. 2007 จนปัจจุบันนั้นได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของจีนและไทยหลายหน่วยงานแล้ว  เมื่อกลางปีที่แล้ว วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ณ วังสระปทุม พระองค์ท่านประทับเป็นประธาน ในการลงนามต่ออายุ MoU  บางโครงการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เป็นผู้ประสานงาน ดังนี้

ภาพพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก 

(ภาพ : https://www.princess-it.org/th/new-all/new-royal/mou2022-3s.html)

เรื่องที่ 1 โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (โครงการวิจัยขั้วโลกอาร์กติกและ    แอนตาร์กติก) ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในข้อ 1 ฝ่ายจีนมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน (H.E. Wang Guanghua) เข้าร่วมในพิธีและถวายรายงานด้วย มีผู้ลงนามได้แก่ ผู้บริหารสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) และผู้บริหารหน่วยงานไทย 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT

ภาพพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ภาพ : https://www.princess-it.org/th/new-all/new-royal/mou2022-3s.html)

เรื่องที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายจีนมีอธิการบดี (Professor Li Shu-Shen) มหาวิทยาลัยแห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (University of Chinese Academy of Sciences: UCAS) เข้าร่วมในพิธีและถวายรายงานด้วย ผู้ลงนามฝ่ายจีนได้แก่ รองอธิการบดี (Dr. Wu Jun) ของ UCAS ฝ่ายไทยได้แก่ เลขาธิการ ก.พ. (ดร.ปิยวัฒน์ ศิวรักษ์)

การลงนามนี้ช่วยให้ความร่วมมือดำเนินการดังกล่าวไว้ในข้อ 1 ให้ต่อเนื่องก้าวหน้าต่อไปอย่างดียิ่ง ที่อยากกล่าวไว้ด้วยว่าในการร่วมทำวิจัยนั้น เช่น JUNO และขั้วโลก รวมทั้งโครงการความร่วมมือไทย-จีน อื่น ๆ มีนักศึกษาระดับโทและเอกของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งเข้าร่วมโครงการด้วยจนจบปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัยไทยด้วย

โครงการทางดาราศาสตร์ ไทย-จีน

ผู้สื่อข่าวถาม : ด้านโครงการดาราศาสตร์ พระองค์ทรงอุปถัมภ์ โครงการทางดาราศาสตร์ไทย-จีน อย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ให้ข้อมูลว่า มีโครงการดังนี้ คือ

1. โครงการวิจัย: Observations and investigations of special binary stars observed by TESS (พ.ศ. 2564 – 2566) การศึกษาวิจัย ติดตามสังเกตการณ์ดาวคู่อุปราคาจากฐานข้อมูล TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) เป็นความร่วมมือกับ Yunnan Observatories, CAS ซึ่งมี Prof. Sheng-Bang Qian ฝ่ายจีน และดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ฝ่ายไทย ในปี พ.ศ. 2565

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว เพื่อศึกษาดาวคู่พิเศษจากฐานข้อมูลของ TESS ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ดาวเทียมขององค์การนาซ่าร่วมกับข้อมูลสเปกตรัมจากกล้องโทรทัศน์ LAMOST ของ Xinglong Observatory ของจีน แล้วทำการติดตามสังเกตการณ์ด้วยกล้องภาคพื้นดิน เช่น จากกล้อง 2.4 เมตร กล้อง 1 เมตร ของไทย ร่วมกับข้อมูลจากกล้องของจีน เช่น จากกล้อง GMG 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเกาเหมยกู่เขตลี่เจียง กล้อง 0.6 เมตร และ 1 เมตร ของหอดูดาวยูนหนาน เขตคุนหมิง โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติร่วมกัน 4 เรื่อง เช่น ใน PASJ, RAA และ New Astronomy เป็นต้น

(2) โครงการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-Pathfinder เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง Changchun Institute of Optics, Fine Mechanics and Physics (CIOMP), CAS และ สดร. เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านวิศวกรรมขึ้นสูง โดย สดร. ได้ส่งวิศวกรจำนวน 3 คน เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิจัย เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจโลกกับคณะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของ CIOMP ณ เมืองฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปัจจุบันประกอบดาวเทียม TSC-P แล้วเสร็จในระดับต้นแบบวิศวกรรม (Engineering Model) แล้วดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนัก ~80 กก. วงโคจรต่ำ ความสูง ~500 กม. ภารกิจหลักทำหน้าที่สำรวจพื้นผิวโลก คาดว่าจะส่งขึ้นสู่วงโคจรราวปลายปี ค.ศ. 2025

พระอัจฉริยะภาพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้เล่าถึงพระอัจฉริยะภาพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ให้ข้อมูลว่า พระองค์ทรงสนพระทัยในการเรียนรู้และศึกษาความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดเวลา ทั้งจากวารสารวิชาการ การเข้าร่วมประชุมวิชาการและการเสด็จเยือนสถาบันด้านวัตกรรมสำคัญทั้งในและนอกประเทศ ทรงซักถามผู้เชี่ยวชาญและบันทึกในสมุดของพระองค์ท่านแบบนักวิชาการอย่างแท้จริง พระอัจฉริยะภาพที่สำคัญอย่างยิ่งคือพระปรีชาสามารถในการสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ นำนักวิจัยไทยเข้าร่วมโครงการต่างๆทั้งที่สาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าวมานี้และประทศอื่น ๆ ในยุโรป

การพัฒนากำลังคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากแนวพระราชดำริให้ศึกษาแนวทางความร่วมมือโครงการต่าง ๆ ได้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทยอย่างไรบ้าง

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ให้ข้อมูลว่า  นอกจากโครงการนักเรียนทุนกพ.ไปศึกษาที่ UCAS หรือทุนระดับปรัญญาโทที่มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง แล้วยังมีโครงการส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศในโครงการอื่น ๆ  แต่ที่อยากเน้นคือโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริฯ ทั้งหลายจะนำมาซึ่ง “การพัฒนากำลังคน”  ที่แฝงอยู่ในแต่ละโครงการด้วย นักวิจัยที่ร่วมโครงการ เช่น จูโน ขั้วโลก ดาวคู่ดาวเทียม มีนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ลงทะเบียนกับมหาวิทยาลัยไทยทำงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมโครงการเหล่านั้น นับเป็นการสร้างบุคคลากรไทยที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ

ขอบพระคุณข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และอดีตปลัด กระทรวง อว.

เรียบเรียงและสัมภาษณ์โดย มณีนาถ อ่อนพรรณา ผู้สื่อข่าว CMG

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]