สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-6 มิถุนายน 2566

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทอดพระเนตรโครงการทดลองทางฟิสิกส์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ด้วยการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนในห้องปฏิบัติการใต้ดิน (จูโน) ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงแห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ณ เมืองเจียงเหมิน และทรงร่วมพิธีฉลองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 50 ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง ซึ่งสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ  จัดขึ้น นอกจากนี้ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในนครกว่างโจว เมืองฝอซานและกรุงปักกิ่ง

ภาพ : ข่าวในพระราชสำนัก

สถานีตรวจวัดนิวทริโนใต้ดินแห่งเมืองเจียงเหมิน

(Jiangmen Underground Neutrino Observatory: JUNO)

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของสถานีตรวจวัดนิวทริโนใต้ดินแห่งเมืองเจียงเหมิน (การทดลอง JUNO) ณ เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศ. Yifang Wang ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนหน่วยงานภาคีความร่วมมือไทย-JUNO และผู้แทนมูลนิธิ สอวน. ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ

อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน และ ข้อความ
อาจเป็นรูปภาพของ 10 คน และ ข้อความ

ภาพ : icitynews

พิธีฉลองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน  ครั้งที่ 50

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าร่วมพิธีฉลองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 50 ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง ซึ่งสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น 

โดยมีอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พระอาจารย์ภาษาจีน และผู้ที่เคยปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณในโอกาสเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมงาน

นายหานเจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน กล่าวชื่นชมพระปรีชาสามารถและพระกรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่มีมาแต่โบราณให้แน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “มาคราวนี้ได้พบชาวจีนหลายท่านที่ไม่ได้พบกันมานาน เพราะว่ามีโควิด ทั้งคุณครูที่เคยสอน ทั้งนักการทูตที่เคยอยู่ในไทย วันนี้ได้มาก็ยินดีมาก

ข้าพเจ้าได้เดินทางเยือนจีนครบทุกมณฑล ได้เห็นวิถีชีวิต สถานที่ธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย ชาวจีนก็ได้ต้อนรับด้วยความเป็นมิตรไมตรีและโอบอ้อมอารี ขอให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป และขอให้ความสัมพันธ์ของเราเจริญก้าวหน้าไม่เสื่อมคลาย”

พระราชนิพนธ์เสด็จฯ เยือนจีน (ภาพ : ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524 หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปหลายมณฑล ทั้งเขตปกครองตนเองและเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศจีน ทรงเป็นที่รู้จักและรักใคร่ของชาวจีนทุกเพศทุกวัย พระราชนิพนธ์บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนและพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีนหลายเล่ม ทำให้คนไทยเข้าใจจีนมากขึ้น ทรงเป็นที่ชื่นชมยกย่องของชาวจีน ทรงทำให้คนจีนรู้จักคนไทยดีขึ้น

สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน ประกาศเฉลิมพระเกียรติและถวายพระสมัญญานามว่าเป็น “ทูตไมตรีไทย-จีน” ด้วยทรงเจริญสัมพันธไมตรี เสด็จพระราชดำเนินเยือนครบทุกมณฑลของจีนในปี พ.ศ. 2547 และทรงเป็นที่เทิดทูนและยกย่องของชาวจีนให้เป็น “มิตรที่ดีที่สุดในโลก” ในปี พ.ศ. 2552

ทรงเป็นมหามิตรที่ช่วยผลักดันให้มิตรภาพจีน-ไทยแน่นแฟ้น ทรงเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลจีน ซึ่งประกาศยกย่องให้ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ “รัฐมิตราภรณ์” เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่รัฐบาลจีนมอบเป็นการสรรเสริญเกียรติคุณให้ชาวต่างชาติที่สร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกับจีน เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2562

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, แท่นบรรยาย และ ข้อความพูดว่า "澳廣視 TDM"

พระราชทานพระวโรกาสให้นายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเฝ้าฯ

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ที่กรุงปักกิ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้นายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีนเข้าเฝ้าฯ 

โอกาสนี้ นายหาน เจิ้ง กราบบังคมทูลฯ ว่า ขอถวายการต้อนรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเสด็จเยือนจีนอย่างอบอุ่น และขอถวายความปรารถนาดีและถวายพระพรไปยังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรากูร ขอเทิดทูลพระเกียรติที่พระองค์ฯ ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-ไทยนับแต่เสด็จเยือนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524

รองประธานาธิบดีจีนกราบบังคมทูลฯ ว่า มิตรภาพจีน-ไทยก้าวข้ามพันปี ความสัมพันธ์จีน-ไทยยิ่งเก่ายิ่งใหม่ จีนยินดีร่วมกับไทยดำเนินตามฉันทามติที่ผู้นำสองประเทศทำไว้ สานต่อไมตรีจิตมิตรภาพดั่งคำพูดที่ว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ร่วมเดินหน้าโครงการ “1 แถบ 1 เส้นทาง” อย่างมีคุณภาพ ลงลึกความร่วมมือทุกด้านเพื่อผลสำเร็จ พัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ด้านสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตรัสขอบคุณจีนที่สนับสนุนไทยในการต้านโควิด-19 การเยือนจีน 50 ครั้งได้ย่ำแดนจีนทั่วเหนือจรดใต้ สัมผัสถึงน้ำใจไมตรีของประชาชนจีนอย่างสุดซึ้ง ขอพระราชทานพรให้จีนเจริญรุ่งเรือง มิตรภาพไทย-จีนเขียวขจีเป็นหมื่น ๆ ปี

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, วัด และ แท่นบรรยาย

พระราชทานวโรกาสให้นายหวัง อี้ เข้าเฝ้าฯ

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่กรุงปักกิ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้นายหวัง อี้ กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เข้าเฝ้าฯ

นายหวัง อี้ กราบบังคมทูลฯ ว่า ขอถวายการต้อนรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 50 ในช่วงหลายสิบปีมานี้พระองค์เสด็จฯ เยือนดินแดนจีนไปทั่วทุกพื้นที่จากเหนือจรดใต้ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนไทย-จีนและมิตรภาพสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมกับนายสี จิ้นผิง ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของจีน-ไทย จีนยินดีร่วมกับไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์หุ้นส่วนความร่วมมือรอบด้านระหว่างสองประเทศให้ลงลึกยิ่งขึ้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตรัสว่า หวังว่าจะมีโอกาสเยือนจีนมากขึ้น เพื่อทำความรู้จักเมืองจีน และกระชับมิตรภาพไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษแก่ China Media Group

ความสำเร็จของการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนจีน-ไทย

ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า ในปี ค.ศ. 2001 พระองค์ได้เสด็จฯมาประทับยังมหาวิทยาลัยปักกิ่งเพื่อศึกษาหลักสูตรพิเศษและทางมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างปลาบปลื้มในพระวิริยะอุตสาหะและได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิด พระองค์ทรงมองว่าความสำเร็จของการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งคืออะไร และควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนจีน-ไทยอย่างไร 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า ตอนที่ไปปักกิ่งตอนนั้นก็มีหลายคนช่วย  มีท่านทูตจีนตอนนั้นก็พยายามหาทางให้ได้ไป แล้วก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ไป เพราะอย่างน้อยก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติม แล้วครูอาจารย์ทุกท่านก็พยายามสอน เพราะว่ามีเวลาสั้นมากแต่ก็มากันทุกวัน

วันนี้ (5 มิถุนายน 2566) ตั้งแต่เช้าครูเหล่านั้นก็ ได้มาคุยด้วย และก็ได้ร่วมงาน (พิธีฉลองการเสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50) ที่ทางรัฐบาลจีนจัดก็ดีใจ เพราะว่าไม่ได้พบกันตั้ง 3 ปีแล้ว ปีนี้ได้พบกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี คิดว่าปีหน้าจะได้มาอีก 

ด้านความสำเร็จของการศึกษา คือ ถ้าเราได้เรียน แล้วเราต้องสนุก เราต้องชอบ ต้องมีความสุข และได้รับความรู้เพิ่มเติม แล้วเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์  เรียกว่าเป็นความสำเร็จของการศึกษา ต้องได้เห็นคุณค่าของผู้อื่นและคุณค่าของตัวเอง เพราะฉะนั้นเยาวชนจีน-ไทย ถ้าได้ศึกษาร่วมกัน ทั้งในห้องเรียนและอยู่นอกห้องเรียน อาจจะคุยแลกเปลี่ยนความรู้ แม้แต่ไปเที่ยวด้วยกัน  เล่นกีฬาด้วยกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่มีค่าเมื่อโตขึ้นหรือสำเร็จการศึกษาคิดว่าน่าจะติดต่อกันไว้แล้วจะได้ช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคต  ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความสำเร็จของการศึกษา ไม่เฉพาะที่เรียนความรู้ทางวิชาการ แต่การที่ได้เพื่อน มีความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีคนอื่นสนิทด้วย ก็ถือเป็นความสำเร็จ 

“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า ปี ค.ศ. 2023 เป็นปีครบรอบ 10 ปีข้อริเริ่มการร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี ค.ศ. 2022 จีนและไทยได้ลงนามในแผนส่งเสริมความร่วมมือหลายโครงการ  เช่น  การเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างประเทศในภูมิภาค พระองค์ทรงมองว่าจะมีบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างไร 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า คิดว่าเรื่องนี้มีบทบาทใหญ่ เพราะว่าเจอคนไทยหลายคนที่รู้จักกันที่เขาขายผลไม้ เขาบอกว่าตั้งแต่ที่มีรถผ่านทางลาวขึ้นไป เขาขายผลไม้ได้มากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนจีนก็ได้รับประทานผลไม้จากเมืองไทย เศรษฐกิจเงินทองหมุนเวียนคนไทยคนจีนได้ร่วมมือกันลงทุนหลายโครงการได้มากขึ้น แต่เสียดายเล็กน้อยที่ทางรถไฟของไทยแคบแต่ทางรถไฟจีนสร้างที่ลาวกว้างกว่า แต่ก็ไม่เป็นไรเราก็เปลี่ยนรถไฟเมื่อเดินทางถึงชายแดนแล้วเราข้ามไปลาว อาจจะไปถึงท้องที่ต่าง ๆ เท่าที่ถามรถไฟเส้นนี้จะไปทั่วในประเทศจีน แล้วจะออกไปทางตะวันตก ไปยุโรปต่อไปในอนาคต ซึ่งก็มีอีกสายจะเชื่อมกัน คิดว่าไม่เฉพาะเศรษฐกิจไทย-จีน แต่ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะดีขึ้นจากข้อริเริ่มนี้ คนไทย คนจีน แม้แต่คนชาติอื่นก็อาจจะได้ร่วมมือกัน หวังว่าจะมีโครงการลงทุนในประเทศไทย คนจีนมาลงทุน และคนไทยก็ได้ไปลงทุนในประเทศจีน ไม่เฉพาะด้านค้าขาย แต่ยังได้การเดินทาง ท่องเที่ยว ล้วนแต่เป็นเรื่องดี ๆ ทั้งนั้น 

แผนโดยสารรถไฟในอนาคต

ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า แล้วพระองค์ทรงมีแผนจะโดยสารรถไฟสายนี้ในอนาคตไหม 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า อยากลองก่อนหน้านี้เคยไปหลายสาย อย่างที่เซี่ยงไฮ้เส้นทางไปสนามบินตอนนั้นยังเป็นตอนเริ่มต้น แต่ถ้าทางไกลก็ยังไม่เคยไปทางรถไฟความเร็วสูง คิดว่าจะหาทางเดินทางให้ไกลกว่านั้น 

พื้นที่ในจีนที่ทรงประทับใจ

ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 เป็นต้นมา พระองค์เสด็จฯ เยือนจีน 50 ครั้งแล้วเสด็จฯ ไปเกือบทุกพื้นที่ของจีน พื้นที่ใดบ้างที่พระองค์ทรงประทับใจ 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า มีหลาย ๆ ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจไปหมด รู้สึกว่ายังมีอีกหลาย ๆ ที่ยังไม่มีโอกาสไป แม้ไปครบมณฑลต่าง ๆ แล้ว แต่ว่าแต่ละมณฑลมีขนาดใหญ่มาก ต้องพยายามเจาะแต่ละพื้นที่ให้ลึกลงไปอีก จะพยายามหาโอกาสไปแต่ละพื้นที่ ยังมีอีกเยอะที่ควรจะไป 

ภาพลักษณ์จีนในสายพระเนตรของพระองค์

ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า ในสายพระเนตรของพระองค์ ทรงมองว่า จีนมีภาพลักษณ์อย่างไร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า คนจีนเป็น  คนขยันขันแข็ง มีความเป็นมิตร และเป็นเพื่อนที่ดี 

พระราชทานสัมภาษณ์ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ดำเนินการสัมภาษณ์โดย คุณ หลี่ ฏันฏัน พิธีกร-ผู้สื่อข่าว China Media Group  ภาคภาษาไทย

ภาพประกอบจาก คลิปสัมภาษณ์

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]