ฮ่องกงต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

ฮ่องกง แม้จะเป็นเมืองขนาดเล็กและมีพลเมืองเพียงแค่ 7.29 ล้านคน แต่เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยในปี 2565 ฮ่องกงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกโดยมีนครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่ 2 และนครเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์เป็นอับดับที่ 3 (ข้อมูลจากสำนักข่าว open access government) 

พลเมืองฮ่องกงมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18,400 – 18,700 ฮ่องกงดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 75,000 – 76,670 บาท) ฮ่องกงจึงเป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ สำหรับแรงงานจากประเทศต่าง ๆ

เนื่องจากการปิดเมืองเป็นระยะเวลานานเกือบ 3 ปีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชากรทั้งชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติออกจากเมืองเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ฮ่องกงได้เริ่มเปิดเมืองอีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง โดยรัฐบาลเร่งผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในเกือบทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ ภาครัฐจึงได้ทบทวนข้อจำกัดของการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และพยายามผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้รัฐบาลลดระยะเวลาที่ใช้ในการอนุมัติตามโครงการ Supplementary Labour Scheme (SLS) ให้สั้นลง 

Supplementary Labour Scheme (SLS) คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษโดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการและนายจ้างในฮ่องกงสามารถยื่นขออนุมัตินำเข้าแรงงานจากต่างประเทศในระดับช่างหรือต่ำกว่า จากหลายสาขาอาชีพที่ฮ่องกงขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง แรงงานฝีมือ พ่อครัว ช่างซ่อมบำรุง ฯลฯ โดยค่าตอบแทนจะต้องทัดเทียมกับแรงงานในท้องถิ่น และในปัจจุบันได้มีการอนุมัตินำเข้าแรงงานผ่านโครงการนี้แล้วมากกว่า 5,000 ราย

สำหรับขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าแรงงานผ่านโครงการ SLS มีดังต่อไปนี้

(1) นายจ้างจะเป็นผู้รวบรวมเอกสารเพื่อยื่นใบสมัครที่หน่วยงาน The Supplementary Labour Division (SLD) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานฮ่องกง

(2) หลังจากนั้น นายจ้างจะต้องโฆษณาประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งนั้นในฮ่องกงเป็นเวลา 1 เดือน ถ้ายังหาผู้สมัครที่เหมาะสมไม่ได้จึงจะสามารถยื่นคำขออนุมัติจากหน่วยงาน SLD ต่อไป

(3) หน่วยงาน SLD จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนในการพิจารณาเพื่ออนุมัติ โดยการอนุมัติจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก Labour Advisory Board (LAB) ของกระทรวงแรงงานซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทนจากทั้งจากฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งสิ้น 12 คน และมีวาระในตำแหน่ง 2 ปี

(4) หลังจากได้รับอนุมัติแล้ว นายจ้างจะต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 400 ฮ่องกงดอลลาร์ คูณด้วยจำนวนเดือนตามที่ระบุในสัญญา (ต่อลูกจ้าง 1 คน)  แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 24 เดือน ให้กับหน่วยงาน Employees Retraining Board (ERB) เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมแรงงานท้องถิ่นในฮ่องกงต่อไป โดยเงินจำนวนนี้นายจ้างไม่สามารถขอคืนได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ

 อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังเห็นว่าระยะเวลาในการขออนุมัติผ่านโครงการ SLS นั้นนานเกินไป เนื่องจากขั้นตอนทั้งหมดในการอนุมัตินำเข้าแรงงานจากต่างประเทศใช้เวลาโดยรวมประมาณ 7 – 8 เดือน จึงได้มีการริเริ่มโครงการ Fast- Track plan 

Fast-Track Plan เป็นโครงการใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเข้าแรงงานฉุกเฉินในกรณีเร่งด่วนพิเศษ สำหรับอาชีพผู้บริบาลผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากมีความขาดแคลนแรงงานสูงสุดถึงร้อยละ 20 และกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้สูงอายุในเมือง โดยโครงการนี้คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 และกำหนดโควตานำเข้าแรงงานในสาขาอาชีพนี้ 7,000 ราย สำหรับระยะเวลาในการขออนุมัติอาจจะลดลงเหลือ 2 เดือนโดยจะตัดขั้นตอนของการอนุมัติผ่านคณะกรรมการ LAB ออกไป อีกทั้งยังเปิดทางให้สถานบริบาลผู้สูงอายุทั้งจากภาครัฐและเอกชนสามารถนำเข้าแรงงานได้ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะภาคเอกชนเท่านั้น ส่วนอัตราผลตอบแทนผู้บริบาลผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยของฮ่องกงในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20,000 ฮ่องกงดอลลาร์/เดือน (หรือประมาณ 82,000 บาท)

เนื่องจากประเทศไทยมีการฝึกอบรมบุคลากรในสาขาบริบาลผู้สูงอายุที่ได้คุณภาพ ประกอบกับโครงการ Fast-Track Plan ของฮ่องกงที่เอื้อต่อการนำเข้าแรงงานจึงถือเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่จะมีโอกาสเข้ามาทำงานในฮ่องกงได้ง่ายขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้นำคณะประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงและผู้อำนวยการสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฮ่องกง Mr. Sun Yuk Han และกับประธานและรองประธานสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกง (Employers’ Federation of Hong Kong) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าแรงงานจากไทย ซึ่งทุกฝ่ายให้การตอบรับและร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสถานกงสุลใหญ่และสำนักแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง จะผลักดันและติดตามต่อไป

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]