ฮ่องกงกับแนวทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (NEW ECONOMY)

ฮ่องกงได้รับการขนานนามเป็นว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนแห่งเอเชียมาหลายทศวรรษ และเมื่อกล่าวถึงการเปิดตลาดการค้าในต่างประเทศหลายคนจึงนึกถึงฮ่องกงเป็นอันดับต้น ๆ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจฮ่องกง ขับเคลื่อนด้วยเสาหลัก 4 ด้าน อันประกอบด้วย ภาคบริการทางการเงิน ภาคการค้าการขนส่ง ภาคบุคลากรวิชาชีพชั้นสูง และภาคการท่องเที่ยว โดยในปี พ.ศ. 2564 รายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของฮ่องกง (GDP) ร้อยละ 21 มาจากภาคบริการทางการเงิน และร้อยละ 24 มาจากภาคการค้าการขนส่ง ซึ่งทั้งสองด้านดังกล่าวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม โลกกำลังเปลี่ยนไป อาทิ การเกิดการค้ารูปแบบออนไลน์ได้เพิ่มมากขึ้น การให้บริการทางการเงินในรูปแบบเก่าเริ่มเข้าสู่ทางตัน ฮ่องกงจึงจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์และกำหนดนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของเมืองให้มุ่งสู่การเป็น Smart City และออกนโยบายการเงินการคลังในเชิงรุกด้วยการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาใช้กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น Fintech, InsurTech, GreenTech และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของรัฐบาลในอนาคต 

ในปี พ.ศ. 2565 ฮ่องกงได้ระดมเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอับดับ 2 ของโลก โดยส่งเสริมให้เกิดบริษัท StartUp ด้านไอทีประมาณ 4,000 บริษัท ซึ่งมากกว่า 10 บริษัทที่เป็นระดับยูนิคอร์น และสามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกงได้ อาทิ บริษัท DJI ผู้นำด้านหุ่นยนต์ บริษัท WeLab ผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และบริษัท SenseTime ผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่งลงนามในสัญญาความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แผนแม่บทสำหรับการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮ่องกง (I&T) 

เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระยะ 5 – 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนฮ่องกงไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน I&T ในระดับสากล          ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ทิศทาง ดังต่อไปนี้ 

1. พัฒนาระบบนิเวศน์สีเขียวโดยใช้ I&T และสนับสนุนอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ในฮ่องกง (New Industrialisation)
2. ขยายการพัฒนากลุ่มบุคลากรด้าน I&T ให้มากขึ้น เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเติบโต
3. สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาเมืองฮ่องกงสู่การเป็น Smart City
4. บูรณาการการพัฒนาด้าน I&T ให้เข้ากับการพัฒนาโดยรวมของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยยึดบทบาท ของฮ่องกงในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับโลกภายนอก

เป้าหมายของรัฐบาลฮ่องกงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระยะ 5-10 ปี 

1. สานต่อโครงการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ซึ่งโครงการนี้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองทั้ง 6 ด้านให้มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อันประกอบไปด้วย
– Smart Mobility – Smart Living – Smart Environment
– Smart People – Smart Government – Smart Economy

2. เพิ่มจำนวนบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ I&T ในฮ่องกงจาก 45,310 คนในปี พ.ศ. 2565 ให้ได้จำนวนอย่างน้อย 100,000 คน 

3. เพิ่มจำนวนบริษัท StartUp ด้าน I&T ที่จดทะเบียนจัดตั้งในฮ่องกง จากประมาณ 4,000 บริษัทในปัจจุบันให้ได้จำนวนอย่างน้อย 7,000 บริษัท 

4. เพิ่มจำนวนบริษัท Unicorn ด้าน I&T ให้ได้จำนวน 30 บริษัท

5. สร้างอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ (New Industrialisation) ที่เน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยจะเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากร้อยละ 0.99 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมฮ่องกง (GDP)   ในปัจจุบัน ให้เป็นร้อยละ 2.0 

6. ผลักดันให้มูลค่าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มจากร้อยละ 1.2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมฮ่องกง (GDP) เป็นร้อยละ 5

แผนงบประมาณประจำปี 2566-2567 ที่สนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญ 

แผนสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญในงบประมาณปี 2566 – 2567
การวิจัยด้าน Life & Health Technologyการวิจัยด้าน AI และเทคโนโลยี Quantum
จัดตั้งสถาบันวิจัยด้านวงจรไฟฟ้าขนาดเล็ก  (Microelectronics)สนับสนุนการลงทุนบริษัท StartUp ด้านเทคโนโลยีสีเขียว
จัดตั้งศูนย์ The Advanced Manufacturing Centre (AMC)สนับสนุนงานโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีด้าน FinTech
สนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ “Northern Metropolis”จัดตั้งกองทุน Green Tech Fund ด้านเทคโนโลยีสีเขียว
โครงการแอปพลิเคชั่นบริการรัฐบาล “iAM Smart”สนับสนุนอุตสาหกรรม “Web3”

1. อัดฉีดเงินจำนวน 6 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยต่าง ๆ สำหรับ การวิจัยด้าน Life & Health Technology และอีก 3 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านดังกล่าว 

2. อัดฉีดเงินจำนวน 3 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ เพื่อการพัฒนาและวิจัยทางด้าน AI และเทคโนโลยี Quantum 

3. สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาวงจรไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง (Microelectronics) 

4. สนับสนุนการลงทุนของบริษัท StartUp ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โดยจะจัดสรรเงินสนับสนุนผ่านหน่วยงาน HK Science and Technology Park (HKSTP) และ Cyberport 

5. จัดตั้งศูนย์ The Advanced Manufacturing Centre (AMC) ใน Tseung Kwan O InnoPark โดยมีพื้นที่ ขนาดใหญ่ถึง 110,000 ตร.ม. เพื่อให้ผู้เช่าสามารถมีพื้นที่ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 2565

6. สนับสนุนงานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน FinTech ซึ่งจะรวมไปถึงนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “e-HKD” และ “e-CNY” รวมทั้งการพัฒนาวิธีการชำระเงินข้ามพรมแดนให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น (Cross-Boundary Payment) โดยในขณะนี้ HK Monetary Authority (HKMA) ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบ Fast Payment System (FPS) ของฮ่องกงให้สามารถใช้ควบคู่กับระบบ PromptPay ของประเทศไทยได้ เพื่อสนับสนุนการชำระค่า สินค้าและบริการในท้องถิ่นได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 

7. สนับสนุนการเดินหน้าต่อของโครงการขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า “Northern Metropolis” ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเขตพื้นที่ทางตอนบนของฮ่องกงใกล้กับพรมแดนติดกับเมืองเซินเจิ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30,000 เฮกตาร์ (300 ตร.กม.) ให้เป็นศูนย์รวมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแห่งใหม่ และใหญ่ที่สุดของฮ่องกงที่เรียกว่า “Hong Kong Silicon Valley” เพื่อเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่เรียกว่า “South-North dual engine (finance-innovation-technology)” และผสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นสูง (High-end economy) ระหว่างฮ่องกงกับเมืองต่าง ๆ ในเขต Greater Bay Area ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

8. จัดตั้งกองทุน Green Tech Fund เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่สังคมสีเขียว  อาทิ การวิจัยพลังงานไฮโดรเจน การวิจัยระบบฟอกอากาศบนท้องถนน และอื่น ๆ 

9. จัดสรรงบประมาณจำนวน 200 ล้านฮ่องกงดอลลาร์เพื่อสานต่อโครงการ “iAM Smart” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกับประชาชน

10.จัดสรรงบประมาณจำนวน 50 ล้านฮ่องกงดอลลาร์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม “Web3” โดยในเบื้องต้นจะเน้นการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อวางรากฐานให้กับธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Non-Fungible Tokens: NFTs)

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]