เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า 

(Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area)

Greater Bay Area Map

ข้อมูลพื้นฐาน

เดือนกรกฎาคม 2560 นายเหอ ลี่เฟิง ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติ นายหม่า ซิ่งรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง นางแครี แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และนายชุย ซื่ออัน ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ร่วมลงนาม “กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊าและความร่วมมือเชิงลึก” (The Framework Agreement on Deepening Guangdong-Hong Kong-Macao Cooperation in Development of the Bay Area) โดยมีนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเป็นสักขีพยาน

เขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hongkong-Macao Greater Bay Area: GBA), 粤港澳大湾区) เป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ตามแนวคิด One Belt, One Road ของจีน ที่ได้ดำเนินงานตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2559-2563) ของจีน

เขต GBA ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจีนตอนใต้ คือ มณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า โดยในเขตมณฑลกวางตุ้งครอบคลุม 9 พื้นที่ ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่      เมืองฝอซาน เมืองหุ้ยโจว เมืองตงกวน เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน และเมืองจ้าวชิ่ง

  • เขต GBA มีพลเมืองรวม 86 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2565) มากกว่าพลเมืองเยอรมนีและฝรั่งเศสทั้งประเทศ
  • ครอบคลุมพื้นที่ 56,000 ตร.กม. 
  • GDP 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า GDP ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565)
  • Greater Bay Area ทั้ง 11 เมือง มีการแยกลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็น 2 ส่วน คือ Core Cities และ Key Node Cities
  • Core Cities รัฐบาลจีนจัดเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาในมณฑลกวางตุ้งจำนวน 4 เมือง ได้แก่ เมืองฮ่องกง เซินเจิ้น กว่างโจว และมาเก๊า 
  • Key Node Cities รัฐบาลจีนจัดให้เป็นเมืองรองจำนวน 7 เมืองเพื่อให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาของเมืองหลักให้ขยายตัวออกไป ได้แก่ เมืองจูไห่ ฝอซาน หุ้ยโจว ตงก่วน จงซาน เจียงเหมิน จ้าวชิ่ง
Greater Bay Area (11 เมือง)
Core CitiesKey Node Cities
ฮ่องกงจูไห่จงซาน
เซินเจิ้นฝอซานเจียงเหมิน
กว่างโจวหุ้ยโจวจ้าวชิ่ง
มาเก๊าตงก่วน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ core cities

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นเมืองที่ประเทศจีนวางยุทธศาสตร์ให้เป็นมหานครนานาชาติ (International Metropolis) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศที่สำคัญ 8 ด้าน และเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงประเทศจีนกับโลกสากล เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เมืองฮ่องกงจะมีอิสระในการบริหารตนเองสูงและมีความเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกมากที่สุด โดยศูนย์กลางระหว่างประเทศทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 

1. ศูนย์กลางการเงิน และเป็น Global offshore RMB business hub ในการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสกุลหยวน
2. ศูนย์กลางทางการค้า
3. ศูนย์กลางการขนส่ง
4. ศูนย์กลางการให้บริการทางกฎหมายในระดับสากล และการเจรจาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ
5 .ศูนย์กลางทางการบินแห่งเอเชีย
6. ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
7. ศูนย์กลางทรัพย์สินทางปัญญา
8. ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก

เมืองเซินเจิ้น เป็นเมืองหน้าด่านของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อทดลองนโยบายทางการเงินรูปแบบใหม่     ในลักษณะ Sandbox อาทิ การทดลองใช้เงินสกุลดิจิทัลหยวนในประเทศจีน และการตั้งเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ (Qianhai Cooperation Zone) เพื่อเชื่อมความร่วมมือระหว่างเซินเจิ้นกับฮ่องกงในด้านการค้าการลงทุน นอกจากนี้จีนยังวางยุทธศาสตร์ให้เซินเจิ้นเป็นเมืองแห่งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ โดย เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จำนวนมาก อาทิ บริษัทหัวเหว่ย (Huawei) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD บริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ZTE บริษัทไอทีที่ใหญ่ที่สุดของจีน Tencent และอื่น ๆ 

เมืองกว่างโจว เป็นเมืองยุทธศาสตร์ของมณฑลกวางตุ้ง ในด้านอุตสาหกรรม การค้า และการขนส่งในประเทศ โดยจะเป็นประตูศูนย์กลางเชื่อมสู่เมืองรองต่าง ๆ ในมณฑล โดยประเทศไทยได้จัดตั้ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ (BOI) เพื่อขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ระหว่างบริษัทต่าง ๆ ของจีนในเขต GBA กับประเทศไทยให้มากขึ้น 

เขตบริหารพิเศษมาเก๊า เป็นเมืองที่วางเป้าหมายของการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยว และ สันทนาการระดับโลก รวมไปถึงการเป็นศูนย์รวมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศจีนกับประเทศในกลุ่ม Lusophone ที่มีการใช้ภาษาโปรตุเกสร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้มาเก๊าสามารถเข้าร่วมการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่หลากหลายได้ อาทิเช่น การพัฒนาเขตการค้าเสรีในเขตเหิงฉิน (Hengqin Cooperation Zone) เพื่อเชื่อมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างมาเก๊ากับมณฑลกวางตุ้ง

โครงการขนาดใหญ่

การพัฒนา Core Cities ในเขต GBA ทั้ง 4 เมืองจะมีลักษณะบูรณาการร่วมกันผ่าน 4 โครงการขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละเมืองเพื่อให้การพัฒนามณฑลกวางตุ้งบรรลุเป้าหมายตามแผน โครงการขนาดใหญ่ทั้ง 4 โครงการของ GBA ประกอบด้วย

1. โครงการ Guangzhou-Shenzhen-Dongguan Science & Technology Innovation Corridor (STIC) เชื่อมพื้นที่ 3 เมืองเพื่อสร้าง Silicon Valley ของประเทศ (กำหนดการสร้างเสร็จภายในปี พ.ศ. 2573) 
华新园 I 期2. โครงการ South China Advanced Materials Innovation Park หรือที่เรียกอีกชื่อว่า โครงการ Hua Xin Yuan ในเขตเมืองกว่างโจว 
3. โครงการ Nansha Science & Technology Park ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างฮ่องกง และเมือง Nansha 
4. โครงการ Hong Kong Science & Technology Park          ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความ ร่วมมือ            ด้านเทคโนโลยีระหว่างฮ่องกง เซินเจิ้น รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ          ในเขต GBA 

โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ
ประเทศจีนได้วางรากฐานการเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ให้สนับสนุนการพัฒนาซึ่งกันและกันอย่างมีระบบ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA เข้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge: HZMB) 
สะพานหนานซา (Nansha Bridge) หรือสะพานหู่เหมินเอ้อร์เฉียว (Humen Second Bridge)
สะพานเซินเจิ้น-จงซาน (Shenzhen-Zhongshan Bridge)
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link: XRL)


สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge: HZMB)
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ถือเป็นโครงการระดับโลก เนื่องจากเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก        โดยมีความยากลำบากในการก่อสร้างสูง และมีความยาวถึง 55 กม. เชื่อมต่อระหว่างเมืองฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า     เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในเมืองหน้าด่านของเขต GBA อันได้แก่ ฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊าเข้าด้วยกัน
Crossing an Ocean: The Hong Kong-Zhuhai-Macau Bridge - YouTube

สะพานหนานซา (Nansha Bridge)
สะพาน Nansha Bridge หรือ ที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สะพาน “Humen Second Bridge” เป็นสะพาน แขวนคานเหล็กหน้าตัดรูปกล่องที่กว้างที่สุดในโลก เปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ด้วยความยาว       12.9 กม. และเป็นสะพานแห่งแรกของจีนที่ติดตั้งเครือข่าย 5G ถือเป็นสะพานยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเมืองต่าง ๆ ใน        ฝั่งตะวันออกของ GBA อย่างเมืองเซินเจิ้น ตงก่วน และหุ้ยโจว เข้ากับเมืองฝั่งตะวันตกอย่าง ฝอซาน จูไห่ จงซาน        เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง โดยสะพานดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับ รถยนต์วิ่งผ่านได้ถึง 100,000 คัน    ต่อวัน และสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 100 กม. ต่อชั่วโมง
Guangzhou Nansha Bridge, China's World-class Bridge project - Nansha Bridge  - YouTube

สะพานเซินเจิ้น-จงซาน (Shenzhen-Zhongshan Bridge)
สะพานเซินเจิ้น-จงซาน หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สะพาน “หลิงติงหยาง” เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างเมือง    เซินเจิ้นกับเมืองจงซาน มีกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2567 โดยตัวสะพานมีความยาวประมาณ 24 กม. และหอคอยหลักของสะพานมีความสูงเทียบเท่าตึกสูง 90 ชั้น รวมทั้งมีช่องลอดใต้สะพานสำหรับการเดินเรือสูงถึง        76.5 เมตร และความกว้างของสะพานถึง 8 ช่องจราจร โดยสะพานนี้เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เมืองจงซานกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับบริษัทในเซินเจิ้นและเมืองข้างเคียงที่ต้องการมองหาที่ดินราคาไม่สูง ก่อให้เกิดการกระจาย     ความเจริญสู่ฝั่งตะวันตกของ GBA
Lingdingyang bridge in south China gets its final segments joined-XinhuaLink spanning Pearl River Delta from Shenzhen to Zhongshan approved | South  China Morning Post

โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link: XRL)
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง เป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้นไปถึงนครกว่างโจว และจะเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟของประเทศจีน ต่อไป ทั้งนี้รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 350 กม./ชั่วโมง โครงการนี้เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2561 ทำให้การเดินทางจากฮ่องกงไปยังนครกว่างโจวใช้เวลาเพียงแค่ 48 นาทีสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่ใช้ในอดีต


อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]