ข้อมูลประกอบในโอกาส

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ระหว่างวันที่ 8 – 13 กุมภาพันธ์ 2566

ข้อมูลพื้นฐานสาธารณรัฐประชาชนจีน
จัดทำข้อมูลโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

สาธารณรัฐประชาชนจีน

พื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร (19 เท่าของไทย)
เมืองหลวง กรุงปักกิ่ง
ประชากร 1,412 คน (2565)
ภาษาราชการ จีนกลาง
GDP Growth ร้อยละ 3 (2565)
GDP 17.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2565)

จีนมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นองค์กรนําทางการเมืองที่มีอํานาจในการบริหารปกครองประเทศ คณะผู้นําระดับสูงสุดของประเทศ ซึ่งดํารงตําแหน่งสมาชิกถาวรประจํากรมการเมือง หรือโปลิตบูโรของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน มี 7 คน ประกอบด้วย

  1. นายสี จิ้นผิง (习近平) ผู้นําที่เป็นแกน (core leader) 

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง และประธานาธิบดีจีน

  1. นายหลี่ เฉียง (李强) สมาชิกถาวรประจํากรมการเมือง  

(ลําดับที่ 2) และว่าที่นายกรัฐมนตรีจีน (รับตำแหน่งปี 2566)

  1. นายจ้าว เล่อจี้ (赵乐际) สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง

(ลําดับที่ 3) และว่าที่ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) (รับตำแหน่ง ปี 2566)

  1. นายหวัง ฮู่หนิง (王沪宁) สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง 

(ลําดับที่ 4) และผู้อำนวยการคณะกรรมการกลางเพื่อการปฏิรูปเชิงลึกรอบด้าน

  1. นายไช่ ฉี (蔡奇) สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (ลำดับที่ 5) 

และเลขาธิการคนที่ 1 สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคฯ

  1. นายติง เซวียเสียง (丁薛祥) สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง

(ลําดับที่ 6) และหัวหน้าสำนักงานทั่วไปพรรคฯ

  1. นายหลี่ ซี (李希) สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง(ลําดับที่ 7) 

และรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางพรรคฯ

ปัจจุบัน จีนดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “China’s Dream” ที่มุ่งฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ ความมั่นคง และความเข้มแข็งของจีนอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถบรรลุ “เป้าหมาย 100 ปี 2 ประการ” โดยเมื่อปี 2564 ในโอกาสการครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จีนประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายประการที่ 1 ในการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นและสร้างสังคม กินดีอยู่ดีระดับปานกลาง นับเป็นการปูทางสําหรับการบรรลุเป้าหมายประการที่ 2 ของการพัฒนาให้จีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย ในโอกาสการครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2552

ปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญทางการเมืองและกิจการภายใน เนื่องจากเป็นปีครบรอบ (1) 100 ปี แห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (2) 70 ปี แห่งการปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ (3) 40 ปี แห่งการก่อตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น และ (4) 30 ปี แห่งการพัฒนาเขตผู่ตงของ นครเซี่ยงไฮ้ โดยในพิธีเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนา พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดี   สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์เน้นย้ำความสําเร็จของการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศจีนให้เจริญก้าวหน้า

ภายใต้การนําของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างรอบด้าน รวมทั้งความร่วมมือกับนานาประเทศในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติผ่านนโยบาย  การต่างประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างสันติภาพ การพัฒนาประเทศอย่างสันติ และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงภายใต้ ข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative)

นอกจากนี้ ในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางแห่ง พรรคคอมมิวนิสต์จีน สมัยที่ 19 ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จีนได้รับรองข้อมติ “ความสําเร็จอันยิ่งใหญ่และประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้แห่งศตวรรษของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ข้อมติที่มีความสําคัญทางประวัติศาสตร์ (มีการรับรองสองข้อมติก่อนหน้าในสมัยนายเหมา เจ๋อตง และนายเติ้ง เสี่ยวผิง) โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการทบทวนความสําเร็จและบทเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการบริหารประเทศในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา และแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศจีนภายใต้การนําของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไป

ปี 2565 จีนจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 และแต่งตั้งผู้นําระดับสูงของ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 นายสี จิ้นผิง ได้รับการเห็นชอบให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 และได้ประกาศภารกิจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเดินทางครั้งใหม่และยุคใหม่ คือ “สามัคคีนำพาประชาชนทุกชาติพันธุ์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างประเทศให้เข้มแข็งทันสมัยแบบสังคมนิยมรอบด้าน บรรลุเป้าหมายศตวรรษที่สอง และความทันสมัยแบบจีน เพื่อเดินหน้าสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีนรอบด้าน”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งเป้าว่า ปี ค.ศ. 2020 – 2035 จะบรรลุความทันสมัยแห่งสังคมนิยมในขั้นพื้นฐาน และ ปี 2035 – 2049 จะสร้างจีนให้กลายเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มีความเจริญรุ่งเรือง แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตย และก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ตลอดจนมีความสามัคคีและความดีงาม

ในรายงานฯ การประชุม จีนได้นำกลยุทธ์หลัก 3 ประการ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา และบุคลากรที่มีคุณภาพ” มารวมกันเป็นครั้งแรก ถือเป็นการสนับสนุนขั้นพื้นฐานและกลยุทธ์สำหรับการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่าง รอบด้าน สร้างประเทศแห่งนวัตกรรม

ประการแรก ยึดมั่นในความสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ยึดถือการพัฒนาการศึกษาที่เน้นประชาชนเป็น ศูนย์กลาง เร่งสร้างระบบการศึกษาคุณภาพสูง ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาคนรอบด้าน และปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของประชาชน

ประการที่สอง ยึดมั่นในการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ปรับปรุงระบบระดับชาติใหม่ เสริมสร้างการวิจัยขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีหลักที่สำคัญและนวัตกรรมอิสระ ปรับปรุงระบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีและเร่งให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูงและการพัฒนาตนเอง

ประการที่สาม ยึดมั่นในบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นทรัพยากรแรก ปรับปรุงรูปแบบเชิงกลยุทธ์ของการพัฒนาบุคลากรคุณภาพ เร่งสร้างกองกำลังบุคลากรคุณภาพเชิงกลยุทธ์ระดับชาติปฏิรูประบบและกลไกการพัฒนาบุคลากรคุณภาพให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ปลูกฝังบุคลากรคุณภาพจำนวนมากด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทางการเมืองและความสามารถ และรวบรวมบุคลากรที่มีคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก

จีนมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเอกภาพ
ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมือง แห่งประชาชนจีน (การประชุม 2 สภา) ประจําปี 2564 ระหว่างวันที่ 4 – 11 มีนาคม 2564 ที่ประชุมได้รับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปี (2564 – 2564) และเป้าหมายระยะยาว ค.ศ. 2035 ซึ่งเปรียบเสมือน “คัมภีร์” ที่ทุกภาคส่วนของจีนจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อขับเคลื่อนประเทศในทิศทางเดียวกัน โดยการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ใน 5 ปี ข้างหน้า จะให้ความสําคัญกับการพัฒนาที่มีคุณภาพ คาร์บอนต่ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนด้วยกลไกเศรษฐกิจจากภายในประเทศ

ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 จีนยังได้กําหนดเป้าหมายและ ภารกิจหลัก ได้แก่
(1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ “อย่างมีคุณภาพและ ยั่งยืน”
(2) การพัฒนาที่ใช้นวัตกรรมนํา
(3) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและรัฐบาลดิจิทัล
(4) การสร้างความแข็งเกร่งให้กับตลาดภายในตามนโยบาย การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “วงจรคู่” (Dual Circulation) เพื่อลดการพึ่งพิง จากต่างประเทศ
(5) การฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้าน
(6) การพัฒนาสีเขียว
(7) การเพิ่มสวัสดิการของประชาชนทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และจัดการกับปัญหาสังคมสูงวัย

จีนดําเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก โดยมุ่งส่งเสริมบทบาทของการเป็น “มหาอํานาจที่มีความรับผิดชอบ” ในปี 2564 การดําเนิน นโยบายต่างประเทศของจีนเน้นการทูตที่นําโดยประมุขรัฐ ภายใต้กรอบแนวคิด “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” ซึ่งประกอบด้วย
(1) การทูตด้านสาธารณสุข ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอข้อริเริ่ม ใหม่ ๆ อาทิ ข้อริเริ่มเพื่อดําเนินการ ความร่วมมือด้านวัคซีนของโลก (Global Vaccine Cooperation Action) และหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วย ความร่วมมือวัคซีนโควิด 19 (Belt and Road Partnership on COVID-19 Vaccine Cooperation) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ยึดหลักการที่วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะโลก และสนับสนุนการกระจายวัคซีนอย่าง เท่าเทียม โดยจีนได้จัดหาวัคซีนเกือบ 2 พันล้านโดสให้กว่า 120 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจีนได้สมัครเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสําหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) และเดินหน้าผลักดันความคืบหน้าของโครงการข้อริเริ่ม สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจาก 144 ประเทศ และ 32 องค์การระหว่างประเทศ
(3) การเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ 2564 เป็นปีครบรอบ 50 ปีที่จีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอข้อริเริมเพื่อการพัฒนาของโลก (Global Development Initiative: GDl) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างรอบด้านในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยที่ 76 รวมทั้ง ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของโลก ในเวทีการประชุม UN Biodiversity Conference (COP) การประชุมผู้นํา G20 อาทิ ข้อเสนอในการสร้างประชาคมโลกด้านสุขภาพ การสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติและองค์การการค้าโลก การประกาศข้อริเริ่มว่าด้วยความปลอดภัยของข้อมูล และการออกแถลงการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ ในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
(4) การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศมหาอํานาจ ได้แก่ รัสเซีย โดยการต่ออายุสนธิสัญญา Good – Neighborliness and Friendly Cooperation ในโอกาสที่ครบรอบ 20 ปี และการหารือในระดับผู้นํา จํานวน 4 ครั้ง สหรัฐฯ โดยมีการหารือระดับผู้นําทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง และผ่านระบบการประชุมทางไกล 1 ครั้ง นอกจากนี้ นักการทูตอาวุโสของ จีน – สหรัฐฯ ยังได้พบหารือเชิงลึกที่อลาสก้า เทียนจิน ซูริค และโรม และสหภาพยุโรป โดยมีการหารือระหว่างผู้นําจีนและผู้นําฝรั่งเศสและเยอรมนี 2 ครั้ง มีการจัดการประชุมสุดยอดจีน – ประเทศยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern European Countries: CEEC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนความคืบหน้าของโครงการ BRI
(5) การส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาค อาทิ การยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน – จีนเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) การให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) การส่งเสริมความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง การมีบทบาทนําในการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) การจัดการประชุมระหว่างจีนและ 5 ประเทศเอเชียกลาง (C+C5) ตลอดจนการหารือในระดับผู้นํากับประเทศญี่ปุ่น มองโกเลีย อินเดีย เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เป็นต้น

สถานการณ์ในฮ่องกง ภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้บังคับใช้กฎหมาย ความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และปฏิรูประบบการเลือกตั้งฮ่องกงภายใต้แนวคิด “คนรักชาติเป็นผู้บริหารฮ่องกง” (Patriots Governing Hong Kong) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 สถานการณ์ในฮ่องกง มีความสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น และไม่ปรากฏเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงและจลาจลดังเช่นในช่วงก่อนปี 2561 ในขณะเดียวกัน ผู้นําจีนได้เน้นย้ำในหลายโอกาสว่าจีนจะยืนหยัดในนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในการบริหารฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพิทักษ์อธิปไตย ความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองเขตบริหารพิเศษ (ฮ่องกงและมาเก๊า) ในระยะยาว

ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน จีนยังคงยืนยันในหลักการจีนเดียวและฉันทามติ 2535 พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า จะไม่ยอมรับการแบ่งแยกไต้หวันหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการแยกตัวออกเป็นเอกราชของไต้หวัน ในขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำเป้าหมายของการรวมชาติ ซึ่งจีนถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในที่สุด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนมองว่า รัฐบาลไต้หวัน ภายใต้การนําของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้ร่วมกับประเทศตะวันตกปลุกกระแสการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน อาทิ การจัดให้ผู้แทนฝ่ายการเมืองหรือผู้นํารัฐบาลระดับสูงของชาติตะวันตกเดินทางเยือนไต้หวัน การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศของไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้และได้มีปฏิกิริยาตอบโต้หลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้มาตรการคว่ำาบาตรกับนักการเมืองไต้หวันและธุรกิจของไต้หวันในจีนแผ่นดินใหญ่

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน อยู่ในระดับดีมาก มีการแลกเปลี่ยน การเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และมีความร่วมมือที่มีผลเป็นรูปธรรม ในหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม

สถานะความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศเป็นผลพวงมาจากมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างกัน โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง รวมถึงการเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ซึ่งช่วยส่งเสริม มิตรภาพไทย – จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีนแล้ว 50 ครั้ง นอกจากนี้ ไทยกับจีนไม่มีประเด็นขัดแย้ง ทางประวัติศาสตร์หรือข้อพิพาทระหว่างกัน และดําเนินความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการมุ่งส่งเสริม ความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคี และในกิจการภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ไทยกับจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือ เชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อเดือนเมษายน 2555 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือ ให้มีความใกล้ชิดและรอบด้านมากยิ่งขึ้น และทั้งสองฝ่ายมีกลไกขับเคลื่อน ความร่วมมือที่สําคัญ อาทิ การประชุม Strategic Dialogue (SD) ไทย – จีน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก และทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุม SD ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทําแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2565 – 2569)

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจถือเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ไทย-จีน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยเป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกันเป็นแหล่งเงินลงทุน อันดับต้น ๆ ของไทย และเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปี 2564 จีนเป็นแหล่งนําเข้าอันดับที่ 1 และตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่า 131,179.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33

โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยกับจีนถือเป็นโครงการที่จีนให้ความสําคัญเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ได้เริ่ม การก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรและได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย – จีนแล้ว จํานวน 29 ครั้ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยและรองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเป็นประธานร่วม โครงการความร่วมมือฯ ดังกล่าวจะช่วยเชื่อมต่อโครงการ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนนโยบาย New International Land – Sea Trade Corridor (NILSTC) ซึ่งเป็นส่วนสําคัญของการเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เข้าด้วยกัน โดยพาดผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงมีความร่วมมือระหว่างกันในด้านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การควบคุมและการรักษาโรค นอกจากนี้ จีนได้ช่วยอํานวยความสะดวกในการจัดซื้อยาและ วัคซีนต้านโควิด-19 ตามข้อตกลงการซื้อขายเชิงพาณิชย์ให้กับไทย และตามสถิติ ณ วันที่ 4 มกราคม 2565 จีนได้ส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้วรวม 50.85 ล้านโดส (ในจํานวนนี้เป็นการบริจาค รวม 3.35 ล้านโดส)

ไทยกับจีนมีความร่วมมือในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน โดยจีนได้ให้การสนับสนุนไทยด้วยดีในการดํารงตําแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – จีน (ปี 2555 – 2558) และการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกรอบอนุภูมิภาค อาทิ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 จีนได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรกของ ACMECS ซึ่งจะช่วยสนับสนุนข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” ของจีนด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติใหม่ที่สำคัญในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการพูดคุยเชิงยุทธศาสตร์ และย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 – 2569) และแผน   ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และ  มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทุกสาขาและสนับสนุนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

คณะกรรมการประจำกรมการเมือง
ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 (7 คน)

คณะกรรมการกรมการเมือง
ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 (24 คน)

ระดับรัฐมนตรี 26 กระทรวง

หมายเหตุ คณะรัฐมนตรีจีนประกอบด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง 26 หน่วยงานทั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงกลาโหมที่ควบตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐด้วย
ตำแหน่งชื่อ-นามสกุล
1ประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาตินายเหอ ลี่เฟิง (何立峰)โดยควบตำแหน่งรองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองจีนเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี
2รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายฮวย จิ้นเผิง (怀进鹏)
3รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนายหวัง จื้อกัง (王志刚)
4รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศนายจิน จ้วงหลง (金壮龙)
5รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนายฉิน กัง (秦刚)
6รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายเว่ย เฟิงเหอ (魏凤和)
7รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะนายหวัง เสี่ยวหง (王小洪)
8ประธานคณะกรรมการกิจการชนชาตินายพาน เยว่ (潘岳)
9รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ นายเฉิน อี้ซิน (陈一新)
10รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนายถัง เติงเจี่ย (唐登杰)
11รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนายถัง อีจวิน (唐一军)
12รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายหลิว คุน (刘昆)
13รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมนางหวัง เสี่ยวผิง (王晓萍)
14รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาตินายหวัง กวงหัว (王广华)
15รัฐมนตรีว่าการกระทรวงระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมนายหวง หลุนชิว (黄润秋)
16รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่พักอาศัยและการพัฒนาเขตเมือง-ชนบทนายหนี่ หง (倪虹)
17รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนายหลี เสียวเผิง (李小鹏)
18รัฐมนตรีว่าการกระทรวงชลประทานนายหลี่ กัวหยิง (李国英)
19รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและชนบทนายถัง เหรินเจี้ยน (唐仁健)
20รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายหวัง เหวินเทา (王文涛)
21รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนายหู เหอผิง (胡和平)
22ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาตินายหม่า เสียวเหว่ย (马晓伟)
23รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารผ่านศึกนายเพ่ย จินเจีย (裴金佳)
24รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฉุกเฉินนายหวัง เซียงซี (王祥喜)
25ผู้ว่าการธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน (ธนาคารกลาง)นายอี ก้ง (易纲)
26ผู้ตรวจเงินแผ่นดินนางโฮ่ว ไค (侯凯)

กรุงปักกิ่ง

พื้นที่ 16,410.54 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 21.893 ล้านคน (2564)
GDP 624,189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2564) เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 8.5

กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็น เขตปกครองพิเศษแบบมหานคร (เทียบเท่าระดับมณฑล) 1 ใน 4 แห่งของจีน (อีก 3 แห่งได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน และนครฉงชิ่ง)

กรุงปักกิ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี โดยเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์เหลียว จิน หยวน หมิง และชิง รวม 5 ราชวงศ์ และเมื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 (ค.ศ. 1949) รัฐบาลจีนได้ตั้งให้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ

กรุงปักกิ่งมีเป้าหมายการพัฒนา 4 ประการหลัก ได้แก่ เป็นศูนย์กลางด้าน
(1) การเมือง
(2) วัฒนธรรม        
(3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
(4) การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2557 รัฐบาลจีนยกระดับยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย (Beijing – Tianjin – Hebei Integration หรือ จิง – จิน – จี้) ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ต่อมาเมื่อปี 2560 จีนจัดตั้งเขตเมืองใหม่สงอัน (Xiongan New Area) ที่มณฑลเหอเป่ย ซึ่งปัจจุบันเขตเมืองดังกล่าวได้เป็นที่ตั้งใหม่ของรัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และโรงพยาบาลบางแห่งที่ได้ย้ายออกจากกรุงปักกิ่ง

ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเผชิญกับความท้าทายของการเป็นเมืองขนาดใหญ่ อาทิ ปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 กรุงปักกิ่งมีนโยบายการเริ่มย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ของเมืองหลวง (non – capital functions) ออกจากพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น การย้ายหน่วยงาน รัฐบาลกรุงปักกิ่งไปยังเขตทงโจว (ส่วนรัฐบาลกลางของจีนยังตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางของกรุงปักกิ่ง) การสั่งปิดโรงงานหรือย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง และการสั่งปิดหรือย้ายตลาดขายส่ง เสื้อผ้า ผักและผลไม้ รวมทั้งมีการออกมาตรการควบคุมจำนวนรถยนต์บนท้องถนน (เช่น วันจันทร์ห้ามรถที่มีทะเบียนเลขท้าย 4 และ 9 วิ่งบนท้องถนน) ตลอดจนมีมาตรการควบคุมรถบรรทุกและรถต่างเมืองเข้ากรุงปักกิ่งอย่างเข้มงวด

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2564 ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 33 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยมีวันที่มีคุณภาพอากาศที่จัดอยู่ในเกณฑ์ดีและเกณฑ์ดีมาก ทั้งหมด 288 วัน คิดเป็นร้อยละ 78.9 และเพิ่มขึ้น 112 วันเมื่อเทียบกับปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เดือน ขณะที่มีวันที่มีมลพิษ ทางอากาศอย่างหนักอยู่ที่ 4 วัน ลดลง 50 วัน เมื่อเทียบกับปี 2556 หรือลดลงร้อยละ 86.2

เมื่อปี 2563 กรุงปักกิ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประมาณ 523,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากปี 2562 และในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2564) กรุงปักกิ่งมีนโยบายผลักดันการพัฒนา “2 เขต” ได้แก่ เขตสาธิตการเปิดธุรกิจภาคบริการแห่งชาติ (Integrated National Demonstration Zone for Opening up the Service Sector) และเขตทดลองการค้าเสรีกรุงปักกิ่ง (China (Beijing) Pilot Free Trade Zone) ซึ่งจะเน้นการผลักดันการเปิดธุรกิจภาคบริการโดยอาศัย แพลตฟอร์มสําคัญ อาทิ การจัดงาน China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ เมื่อปี 2564 จีนได้เปิดตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยบรรเทาอุปสรรคในการจัดหาเงินทุน รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ในจีน

ท่าอากาศยานแห่งใหม่ Beijing Daxing International Airport ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 โดยเป็นท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 7 แสนตารางเมตร จุดจอดเครื่องบิน 268 จุด มีทางวิ่งขึ้น – ลง 4 ทาง และตั้งเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 72 ล้านคนต่อปีภายในปี 2568 นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 จีนเปิดใช้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงปักกิ่ง – เขตเมืองใหม่สงกันอย่างเป็นทางการ โดยการเดินทางระหว่าง Beijing Daxing International Airport กับเขตเมืองใหม่สูงอันใช้เวลาเดินทางเร็วที่สุดเพียง 19 นาที

ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงปักกิ่ง มีชุมชนไทยประมาณ 1,500 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่มาศึกษาต่อในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ชุมชนไทยส่วนอื่นประกอบด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต และหน่วยงานราชการไทยประจำกรุงปักกิ่ง พนักงานบริษัทเอกชนไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทบ้านปู และเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มชาวไทยที่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อปี 2562 กรุงปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญถึง 2 รายการ ได้แก่ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 2 และงานมหกรรมพืชสวนโลก (Beijing International Horticultural Expo) สำหรับปี 2563 กรุงปักกิ่ง ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) ประจําปี 2563 ซึ่งนับเป็นการจัดงานด้านเศรษฐกิจและการค้านานาชาติในรูปแบบออฟไลน์เป็นครั้งแรกของจีนหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ต่อมาเมื่อปี 2564 กรุงปักกิ่งได้เป็น เจ้าภาพจัดงาน CIFTIS ประจำปี 2564 รวมทั้งมีการจัดงาน China Beijing International High – Tech Expo ครั้งที่ 24 และในปี 2565 กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ค.ศ. 2022

ผู้บริหารของกรุงปักกิ่ง


นายหยิน ลี่(尹力)
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรุงปักกิ่ง
รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565


นายหยิน หยง (服勇)
รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรุงปักกิ่ง
รองนายกเทศมนตรี และรักษาการนายกเทศมนตรี
รับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2565


นายหลิว เหว่ย (刘#)
รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรุงปักกิ่ง
รับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2565

นครเซี่ยงไฮ้

พื้นที่ 16,410.54 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 21.893 ล้านคน (2564)
GDP 624,189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2564)
เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 8.5

ผู้บริหารของนครเซี่ยงไฮ้


กง เจิ้ง(龚正)
นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้
รับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563


อู๋ ชิง(吴清)
รองนายกเทศมนตรีนครูเซี่ยงไฮ้
รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563


อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]