รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม นำคณะเยือนจีน ระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2566

8-13 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นำคณะผู้บริหารกระทรวง อว. เจรจาผลักดันความร่วมมือกับ 8 หน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และสังคมศาสตร์ของจีน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences – CAS) องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration – CNSA) สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences – CASS) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งชาติจีน (China Academy of Railway Sciences – CARS) สถาบันวิจัยขั้นสูงเซี่ยงไฮ้ สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Shanghai Advanced Research Institute, Chinese Academy of Sciences (SARI, CAS) มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) และศูนย์วิจัยและพัฒนาหัวเว่ย นครเซี่ยงไฮ้ (Huawei Shanghai R&D Research Center) โดยมี นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมด้วย

อนึ่ง การเดินทางของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อว. ในครั้งนี้ นับเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของคณะไทยที่ใหญ่ที่สุด หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย และเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงลึกระหว่างไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันต่อไป

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

Ministry of Science and Technology of the People´s Republic of China
11 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้พบหารือกับนายหวัง จื้อกัง (H.E. Mr. Wang Zhigang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการยกระดับความร่วมมือเชิงนโยบาย ผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้าน วทน. ที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ในระดับอาเซียน โดยฝ่ายไทยยินดีเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสมาชิกอาเซียนกับจีน และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน ในปี 2568 ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการดำเนินความร่วมมือ 4 แนวทาง คือ 
(1) การจัดประชุมร่วม (Joint Meeting) ภายใต้กรอบข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ประเทศไทย
(2) ความร่วมมือโครงการวิจัยด้านดิจิทัลเพื่อสุขภาพ
(3) ความร่วมมือสร้างและพัฒนาห้องทดลอง การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอุทยานวิทยาศาสตร์
(4) การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคี เช่น กรอบจีน-อาเซียน สหประชาชาติแม่โขงล้านช้าง รวมถึงความร่วมมือในการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green)

นายหวาง จื้อกัง กล่าวว่า จีนและไทยมีความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในหลากหลายสาขาต่าง ๆ มาอย่างนาน เช่น การแลกเปลี่ยนนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการวิจัย การแลกเปลี่ยนแพลตฟอร์มการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การดำเนินการวิจัยร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม และการประกอบการ การพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรระหว่างจีนและไทยในฐานะครอบครัวเดียวกันได้ก่อให้เกิดพลังเชิงบวก และเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 (29th APEC Economic Leaders’ Meeting) ที่เทศไทย และได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในการสร้างชุมชนไทย-จีนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

โดยมีอนาคตร่วมกัน เพื่อให้บรรลุฉันทามติที่สำคัญซึ่งกำหนดเส้นทางสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในอนาคตข้างหน้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนจะดำเนินการตามฉันทามติที่ได้รับจากผู้นำของทั้งสองประเทศ เดินหน้ากระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับไทย ประสานงานโดยรวมภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคี เช่น โครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   จีน-อาเซียน และแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) โดยร่วมกันส่งเสริมความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน-ไทย และสนับสนุนความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน

9 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้พบปะและหารือกับนายจาง กว่างจวิน (Zhang Guangjun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology – MOST) สาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ โดยทั้งสองฝ่ายห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-จีน (Joint Committee) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ วิชาการและนวัตกรรมระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้มีการลงนามร่วมกันในปี 2562 โดยฝ่ายจีนจะเดินทางมาเยือนไทยในอนาคตอันใกล้และจะเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนดังกล่าว   เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาวิทยาการและการพัฒนาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเข้มแข็งและเห็นพ้องกัน เช่น ควอนตัมเทคโนโลยี รวมไปถึงการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน   

Chinese Academy of Sciences
10 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้พบหารือกับ ศ.โฮว เจี้ยนกั๋ว (Prof. Hou Jianguo) ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences – CAS) นายจาง ย่าผิง (Zhang Yaping) รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือการพัฒนา วทน. ในหลายสาขาโดยเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (โทคาแมค) ดาราศาสตร์ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยไทย-จีน และความร่วมมือผ่านศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรม CAS-ICCB ณ กรุงเทพฯ 

ในการนี้ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนยินดีที่จะดำเนินงานสานต่อความร่วมมือกับกระทรวง อว. ภายใต้  ความเชื่อมโยงของนโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) และ BCG Model เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน ที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

รัฐมนตรี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวขอบคุณสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนสำหรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกันและเน้นย้ำว่า ฝ่ายไทยมีความตั้งใจที่จะดำเนินความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนอย่างเต็มที่และจะทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นทั้งในด้านการอุดมศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และได้มอบของที่ระลึกที่มีความหมายว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน 中泰一家亲” โดยหวังว่าความร่วมมือด้าน อววน. จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันตลอดจนช่วยเสริมสร้างมิตรภาพไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยั่งยืน

หลังการเจรจาหารือของทั้งสองฝ่ายแล้ว ฝ่ายไทยโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล และฝ่ายจีนโดย ศ. โฮว เจี้ยนกั๋ว และนายจาง ย่าผิง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านอวกาศแห่งชาติ (National Space Science Center: NSSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน [Memorandum of Understanding on Joint Study of Space Weather at Low Latitude between National Astronomical Research Institute of Thailand and National Space Center of Chinese Academy of Sciences]

10 กุมภาพันธ์ 2566 ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านอวกาศแห่งชาติ (National Space Science Center: NSSC) ในเขตจงกวนชุน และเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหลักของกิจกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และสภาพอากาศในอวกาศ (State Key Laboratory of Solar Activity and Space Weather) และห้องปฏิบัติการหลักของการตรวจจับสภาพแวดล้อมในอวกาศ (Key Laboratory of Space
Environment Detection) โดยมีนายเซิน ซูฮุ่ย นายจู ย่าจวิน นายคง หลิงเกา นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ และนายเหริน ลี่เหวิน ผู้อำนวยการสำนักงาน International Meridian Circle Program (IMCP) ร่วมให้การต้อนรับและพูดคุยติดตามผล

ทั้งสองฝ่ายได้แนะนำความคืบหน้าและดำเนินการหารือเชิงลึกเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านสภาพอากาศในอวกาศและโครงการ International Meridian Circle Program (IMCP) และชี้แจงรูปแบบและแนวทางของความร่วมมือ โดยมีการเสนอให้ส่งเสริมการวิจัยและการสังเกตการณ์ร่วมกัน และ  เร่งการปรับใช้อุปกรณ์และสถานี  ฝ่ายไทยจะทำงานร่วมกับฝ่ายจีนอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ร่วมจีน-ไทยในโครงการ International Meridian Circle Program (IMCP)

ในรายงานการประชุมทวิภาคีระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกับกระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมของไทย ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 การจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมจีน-ไทยและการส่งเสริมของโครงการ International Meridian Circle Program (IMCP) เป็นหนึ่งในรายการความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน

China National Space Administration (CNSA)
9 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ประชุมหารือกับนายจาง เคอเจี้ยน (Zhang Kejian) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration – CNSA) โดยฝ่ายไทยเสนอขอรับการสนับสนุนการส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อทดสอบระบบนำร่อง ระบบสื่อสารทางไกล และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสำรวจอวกาศห้วงลึกที่ต้องเผชิญกับรังสีพลังงานสูงในระยะไกลจากโลก ไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งฝ่ายจีนยินดีสนับสนุนการส่งดาวเทียมของไทยร่วมไปกับภารกิจ ฉางเอ๋อ 7 (Chang’e 7) ในปี พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ CNSA ยังยินดีให้การสนับสนุนหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ Sirindhorn Center for Geo-Informatics (SCGI) เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศของไทย ในรูปแบบของวิทยากร อาจารย์ที่ปรึกษา และการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาเป็นหลักสูตรนานาชาติในอาเซียน รวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษาให้บุคลากรไทยและอาเซียน เพื่อศึกษาและวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ ณ มหาวิทยาลัยด้านอวกาศชั้นนำของจีน เช่น Beihang University

สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน

Chinese Academy of Social Sciences (CASS)
10 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้พบหารือกับ ศ. เกา เผยหย่ง (Gao Peiyong) รองประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences – CASS) ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยฝ่ายไทยเสนอการส่งนักวิจัยมาทำงานร่วมกับนักวิจัยของ CASS ในด้านศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และ CASS เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในประเทศไทย เพื่อขยายการรับรู้ถึง      การพัฒนาวิทยาการและความเจริญของจีนไปยังประชาคมโลก ซึ่ง CASS ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยจีนแล้วใน 18 ประเทศ

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต โดยฝ่ายไทยซึ่งได้มีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้มีองค์ประกอบในการส่งเสริม เชื่อมโยง สอดคล้องและเกื้อกูลกันในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย รวมไปถึงการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์พร้อมที่จะส่งนักวิจัยมาทำงานร่วมกับนักวิจัยจาก CASS ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการพัฒนาด้านศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยมีสถาบันวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในสังกัด CASS  16 สถาบัน และมีมหาวิทยาลัย    ในสังกัดที่ทำหน้าที่ในการผลิตบุคลากรด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมีนักศึกษา มากกว่า 10,000 คน  นอกจากนี้ รมว.อว. ยังเห็นว่าความร่วมมือเกี่ยวกับการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่าง     ครบวงจรเป็นประเด็นที่ควรเร่งผลักดันการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง รวมไปถึงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศรูปแบบ BCG (Bio – Circular – Green Model) เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วย และในส่วนของ CASS เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในประเทศไทย โดยอาจจัดตั้งภายใต้สถาบันการอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในประเทศต่าง ๆ มาแล้ว 18 ประเทศ โดยมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ฯ ต่างประเทศ เนื่องมาจากฝ่ายจีนเห็นว่าประเทศจีนมีการพัฒนาวิทยาการในสาขาต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง และต้องการให้มีการขยายการรับรู้ถึงการพัฒนาวิทยาการและความเจริญของจีนไปยังประชาคมโลก ทั้งนี้ รมว.อว. เห็นด้วยกับการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว และเห็นว่าหากการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวดำเนินการได้สำเร็จจะทำให้ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในสาขาวิทยาการต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

นายเกา เผยหย่ง ได้แนะนำว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีนได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างคลังความรู้ โดยเน้นที่การวิจัยเชิงประยุกต์การใช้งานบนพื้นฐานของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการวิจัยทฤษฎีฐานราก ส่งเสริมการแปลงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้เป็นผลสัมฤทธิ์ทางความคิด และส่งเสริมการวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในอนาคตสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน ยินดีที่จะรักษาการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย และร่วมกันสร้างเวทีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างจีนและไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งชาติจีน

China Academy of Railway Sciences – CARS
10 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และคณะ ได้ร่วมหารือกับนายเจียง ฮุ่ย (Jiang Hui) ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งชาติจีน (China Academy of Railway Sciences – CARS) ในการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือด้านระบบราง ทั้งการวิจัยพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร โดยฝ่ายไทยเสนอขอรับการสนับสนุนการร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัวรถจักร (Overhead Catenary System: OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ CARS ได้วิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้จริงแล้ว

ในการนี้ ดร.พาสิทธิ์ รอง ปอว. กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่คณะผู้บริหาร อว. ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบระบบรางของรถไฟความเร็วสูง และศูนย์ทดสอบระบบรางของ CARS โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารอบพื้นที่ กทม. โครงการรถไฟรางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือที่ได้จากการหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และบุคลากรด้านระบบรางของไทย ให้สามารถพัฒนาระบบรางของไทยให้มีค่าใช้จ่ายลดลง  ในขณะที่มีประสิทธิภาพของระบบรางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วว. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านระบบรางที่มีความโดดเด่นของไทยจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างและ การพัฒนาระบบรางร่วมกับ CARS ผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและบุคลากร และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อขยายผลการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับระบบรางของจีน

ด้าน ดร. ชุติมา ผู้ว่าการ วว. เสนอขอรับการสนับสนุนเพื่อการร่วมวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัวรถจักร หรือ Overhead Catenary System: OCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ CARS ได้วิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้จริงแล้ว ในปัจจุบัน ความร่วมมือดังกล่าวกับ CARS จะทำให้ไทยสามารถเปลี่ยนระบบหัวจักรรถไฟจากระบบดีเซลเป็นระบบไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนั้น การรับ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรสำหรับระบบดังกล่าวจากจีนจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านการวิจัยพัฒนา และการผลิตระบบหัวจักรไฟฟ้าของกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนมาอย่างยาวนาน พร้อมเน้นย้ำถึงแนวทางการพัฒนากำลังคนของจีนซึ่งยึดหลักการที่ว่า “คนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี” ดังนั้น การพัฒนาด้านกำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ CARS มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และพร้อมถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในการฝึกอบรมบุคลากรให้แก่ฝ่ายไทย โดยยินดีต้อนรับบุคลากรวิจัยของไทยให้มาฝึกอบรมที่ประเทศจีน การหารือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี ของทั้งสองประเทศต่อไป

อนึ่ง วว. และ China Academy of Railway Sciences (CARS) มีความร่วมมือในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านขนส่งทางราง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการรับรองและทดสอบชิ้นส่วน และการลดมลภาวะในภาคอุตสาหกรรมขนส่งทางราง นับเป็นความร่วมมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

สถาบันวิจัยขั้นสูงเซี่ยงไฮ้

Shanghai Advanced Research Institute, Chinese Academy of Sciences (SARI, CAS)
12 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยขั้นสูง ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Advanced Research Institute (SARI), Chinese Academy of Sciences)

คณะผู้แทนได้เข้าเยี่ยมชมวงแหวนกักเก็บ (storage ring) และสถานีปฏิบัติการทั้งสองแห่งของสถาบัน SSRF ได้แก่ เครื่องยิงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (Shanghai soft X-ray Free Electron Laser facility: SXFEL) และแพลตฟอร์มช่องทดสอบคลื่นความถี่วิทยุตัวนำยิ่งยวด (Superconducting RF cavity test platform) สำหรับเครื่องยิงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง (Hard X-ray Free Electron Laser Facility)

ในการประชุม ศ.ไท๋ เหยินจง ได้อธิบายการพัฒนาทางประวัติศาสตร์และทิศทางการวิจัยของสถาบันโดยสังเขป และ ศ.จ้าว เจิ้นถาง ได้กล่าวรายงานถึงรายละเอียดการดำเนินงานและผลสำเร็จด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน SSRF และทบทวนความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในด้านรังสีซินโครตรอน

ในช่วงท้ายของการอภิปราย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับจากสถาบัน SARI และกล่าวว่าจากการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพื้นที่สำหรับความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังคงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย มุ่งมั่นที่จะสร้างผลลัพธ์ในความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค

ShanghaiTech University
12 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ดร.เจียง เก๋อ (Jiang Ge) รองผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค ศาสตราจารย์พิเศษเจียง เปียว (Jiang Biao) จาก Shanghai Institute for Advanced Immunochemical Studies (SIAIS) และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรม สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (กรุงเทพฯ) พร้อมด้วยผู้แทนอื่น ๆ จาก SIAIS, สถาบันวิจัย iHuman (iHuman Institute), วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: SIST) สำนักงานการวิจัย และสำนักงานวิเทศสัมพันธ์

คณะผู้แทนจากประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมชมอาคารวาย (Y Building) โดยมีศาสตราจารย์หยาง ไฮ่ถาว (Yang Haitao) กรรมการบริหารของ SIAIS และศาสตราจารย์จง กุยเซิง (Zhong Guisheng) ผู้ช่วยผู้อำนวยการของสถาบันวิจัย iHuman ได้แนะนำประวัติความเป็นมา คณาจารย์ที่โดดเด่น ผลสำเร็จด้านการวิจัยของทั้งสองสถาบัน และแผนสำหรับศูนย์การแพทย์แห่งอนาคตซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จากนั้น คณะผู้แทนได้เยี่ยมชม Multi-disciplinary Artificial Reality Studio (MARS) ของ SIST และการสาธิตภาพด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผสมผสานการใช้งานเข้ากัน จนสามารถสร้างเป็นภาพที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้

ดร.เจียง เก๋อ ได้แนะนำภาพรวมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ และตัวแทนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวถึงการศึกษาที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม คณาจารย์และนักศึกษาที่มีความสามารถและมีแรงจูงใจมีส่วนช่วยในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็วอย่างไร จากนั้น คณะผู้แทนจากกระทรวง อว. ได้แนะนำโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ (Global Partnership Program) ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ และการรวมตัวขององค์กรวิจัยทางคลินิกเพื่อสนับสนุนการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย ในช่วงสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความปรารถนาที่จะสร้างและส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต

ศูนย์วิจัยและพัฒนาหัวเว่ย นครเซี่ยงไฮ้

12 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.อว. และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาหัวเว่ย นครเซี่ยงไฮ้ (Huawei Shanghai R&D Research Center) โดยมีนายนายเจฟฟ์ หวัง (Jeff Wang) ประธาน Global Public Affairs and Communications Department ของบริษัทหัวเหว่ยจากสำนักงานใหญ่ นครเซิ่นเจิ้น ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บริษัทหัวเว่ย สำนักงานประเทศไทย

ในการเยี่ยมชม Mobile Broad Band Exhibition มีการจัดแสดง 3 ส่วน ได้แก่ 
1) ศักยภาพของบริษัท บริษัทดำเนินการในกว่า 170 ประเทศ/ภูมิภาค มีพนักงานรวม 195,000 คน ร้อยละ 54.8 ของพนักงานทำงานในด้าน R&D และการลงทุน R&D ของบริษัทสูงเป็นอันดับ 2 ของบริษัททั่วโลก (รองจาก Google) โดยในปี 2565 มีงบ R&D 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 24 ของรายได้ของบริษัท

2) อุปกรณ์และเทคโนโลยี Broad Brand บริษัทเป็นผู้นำอันดับ 1 ในด้าน 5G ทั้งในส่วนของเสาอากาศและอุปกรณ์กระจายสัญญาณ รวมทั้งการใช้ 5G ในเมืองต่าง ๆ ทั้งในจีน และบางประเทศในยุโรป เช่น สเปนและเยอรมนี กลต. แอฟริกาใต้ หลายประเทศในลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง  และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย ซึ่งมีคุณภาพของสัญญาณ 5G ในระดับสูง โดยได้มีการแสดงสถิติของ กทม. และเชียงใหม่ 

3) การประยุกต์ใช้ 5G ในด้านต่าง ๆ อาทิ
(1) การแพทย์ สนับสนุน telemedicine (มีความร่วมมือกับ รพ. ศิริราช)
(2) การบริหารจัดการท่าเรือ ในลักษณะ smart port โดยมีความร่วมมือกับท่าเรือเทียนจิน ท่าเรือหยางซาน ท่าเรือหนิงโป ท่าเรือชิงต่าว และท่าเรือหนานซา และมีความร่วมมือเบื้องต้นกับท่าเรือแหลมฉบัง 
(3) Smart Classroom สนับสนุนให้ นร./ นศ. สามารถเข้าเรียนได้ในลักษณะ “anywhere & anytime” (มีความร่วมมือกับ ม. ศรีนครินทรวิโรฒ/ ม. ธุรกิจบัณฑิต/ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น)
(4) Indoor Positioning ใช้ในการติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ คลังสินค้า และเจ้าหน้าที่ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะพื้นที่อาคารหรือใต้ดิน ซึ่งอาจเป็นจุดอับสัญญาณ

ในช่วงการหารือ รมว. อว. ย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและวิศวกรรมให้แก่คนไทย ทั้งในหลักสูตรปริญญาและการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนการสร้าง career path ด้าน R&D ให้แก่คนไทย ซึ่งยังเป็นสาขาที่ไทยต้องทำเพิ่มเติม โดยสามารถร่วมมือผ่าน Sandbox ของ อว. ในเรื่องนี้ได้ บริษัทหัวเว่ย พร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในด้านดังกล่าว ในปัจจุบัน ได้จัดทำ MOU ความร่วมมือกับ           30 สถาบันการศึกษาของไทย ซึ่งสามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันเพิ่มเติมได้

รมว. อว. ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านดิจิทัลของบริษัทหัวเว่ยในภูมิภาคผ่าน Huawei ASEAN Academy ที่ประเทศไทย บริษัทหัวเว่ย ขอบคุณสำหรับการสนับสนุน ในชั้นนี้ Academy ดังกล่าวยังจำกัดการดำเนินการในประเทศไทยเป็นหลัก และจะขยายขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุมระดับภูมิภาคต่อไป

บริษัทหัวเว่ย กล่าวถึงการขยายสาขาธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผลิตเครื่องชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น

ข่าวสารนิเทศ
ภาษาจีน-อังกฤษ

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS)

    侯建国会见泰国高等教育科研与创新部部长

    https://www.cas.cn/yw/202302/t20230212_4874676.shtml?from=timeline

    สถาบันวิจัยขั้นสูงเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (SARI, CAS)

      泰国高等教育科研与创新部代表团访问上海高研院

      http://www.shb.cas.cn/gzdt2016/202302/t20230218_6679979.html

      http://www.sari.cas.cn/xwdt/zhxw/202302/t20230218_6679960.html

      มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech)

        Thailand Delegation from MHESI visited ShanghaiTech on Feb. 12

        https://www.shanghaitech.edu.cn/eng/2023/0214/c1260a1074473/page.htm

        ศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Centre)

          【教育】泰国高等教育与科研创新部长阿内率团访问中国

          https://mp.weixin.qq.com/s/zlkfPIrnjbArqJCLye-sXw

          สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

            泰国高等教育与科研创新部长阿内率团访问中国

            http://th.china-embassy.gov.cn/sgxw/202302/t20230215_11025239.html

            อัพเดทล่าสุด

            Facebook

            ติดตามเราบน Facebook

            Youtube

            ติดตามเราบน Youtube

            ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
            เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

            © 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]