กินบัวลอย ชมโคมไฟ ดูพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกหลังตรุษจีน ในวันเทศกาลโคมไฟ (元宵节 หยวนเซียวเจี๋ย หรือมีอีกชื่อว่า 上元节 ซ่างหยวนเจี๋ย)
แต่ปีนี้แทบทุกที่ของจีน ไม่มีกิจกรรมเทศกาลโคมไฟ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา จึงมีการรณรงค์ “กินข้าว กินบัวลอย ดูทีวี ใช้เวลากับครอบครัวที่บ้านแทน”
.
วันนี้ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันมาฆบูชา วันสำคัญทางศาสนาพุทธ แต่นอกจากวันนี้จะเป็นวันมาฆบูชาแล้ว สำหรับคนจีนยังเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญมากหลังจากเพิ่งผ่านพ้นตรุษจีนไป นั่นคือ วันเทศกาลโคมไฟ (元宵节 หยวนเซียวเจี๋ย หรือมีอีกชื่อว่า 上元节 ซ่างหยวนเจี๋ย)
เทศกาลโคมไฟ ตรงกับวันที่ 15 เดือน1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกหลังผ่านพ้นปีใหม่จีน หรือตรุษจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน -ปีใหม่ของจีน ในเทศกาลนี้ที่จีนจะนิยมออกจากบ้านไปชมโคมไฟที่ประดับประดาอย่างสวยงามเพื่อเฉลิมฉลองส่งท้ายตรุษจีน และกินบัวลอยกันในครอบครัว โดยคนจีนมีความเชื่อว่าบัวลอยเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่ง คือสื่อถึงการรวมกันของคนในครอบครัวนั่นเอง
นอกจากวันเทศกาลโคมไฟจะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกหลังจากเข้าสู่ปีใหม่ ยังเป็นวันถือกำเนิดของเทพเจ้าแห่งฟ้า เทพเจ้าที่บันดาลพรความมั่งมีศรีสุขให้แก่มวลมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า จึงมีการบูชาขอพรจากเทพเจ้าแห่งฟ้าในวันนี้ โดยในบางพื้นที่จะมีการลอยโคมสู่ฟ้าเช่นกัน
.
ความสำคัญของเทศกาลโคมไฟ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ หากแต่ยังมีความสำคัญในประเด็น “เทศกาลโคมไฟกับความรักของสาวจีนในสมัยโบราณ”
ในสังคมจีนสมัยโบราณ ผู้หญิงสมัยโบราณจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน แต่ถ้าถึงเทศกาลโคมไฟ จะเป็นโอกาสพิเศษที่หาได้ไม่มากนัก ที่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน ดังนั้น โอกาสนี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่หญิงสาวจะได้เจอกับชายหนุ่ม บรรดาแม่สื่อทั้งหลายจึงทำหน้าที่กันอย่างหนักเพื่อให้หนุ่มสาวสมหวัง
นักคติชนวิทยาจีน กล่าวว่า เทศกาลโคมไฟจะถือว่าเป็นวันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวันแห่งคู่รักก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่หญิงสาวจะมีโอกาสพบปะกับเพศตรงข้ามอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จนคนจีนบางพื้นที่ถือว่าวันเทศกาลโคมไฟ เป็นวันแห่งความรักเลยด้วย เช่นในฮ่องกง เป็นต้น
.
“มีเทศกาลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลโคมไฟ 元宵节(上元节) หรือไม่?”
อย่างที่อ้ายจงเล่าไปแล้วว่า วันที่ 15 เดือน1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันถือกำเนิดของเทพเจ้าแห่งฟ้า เทพเจ้าที่บันดาลพรความมั่งมีศรีสุขให้แก่มวลมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า จึงมีการบูชาขอพรจากเทพเจ้าแห่งฟ้าในวันนี้ ซึ่งเรียกว่า 上元节 หรือที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อ 元宵节 เทศกาลโคมไฟของจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน -ปีใหม่ของจีน โดยในบางพื้นที่จะมีการลอยโคมสู่ฟ้าเช่นกัน
สำหรับเทพเจ้าอีก1องค์ คือ เทพเจ้าแห่งปฐพี เทพเจ้าที่มีหน้าที่อภัยโทษและปกปักรักษาโลกมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า เทพเจ้าแห่งปฐพี ถือกำเนิดในวันที่ 15 เดือน7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน และเมื่อครบรอบวันถือกำเนิด เทพเจ้าแห่งปฐพีจะอภัยโทษ อนุญาตให้วิญญาณกลับสู่โลกมนุษย์เพื่อรับบุญกุศล จึงเป็นที่มาของ 中元节 เทศกาลสารทจีน โดยคนจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน จะไหว้วิญญาณบรรพบุรุษในวันนี้ และในบางพื้นที่ในจีน จะมีการลอยโคมสู่ฟ้า และลอยประทีบในสายน้ำ เพื่อนำทางดวงวิญญาณให้กลับไปสู่ในที่ที่จากมา ไม่ให้หลงทาง
และวันบูชาเทพเจ้าองค์สุดท้าย คือเซี่ยหยวนเจี๋ย 下元节 ตรงกับ วันที่ 15 เดือน10 (วันเพ็ญ) ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนจีน ตามคติความเชื่อในลัทธิเต๋า เรียกว่า เทศกาลเซี่ยหยวน (下元节) เป็นวันบูชาและขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ 1 ใน 3 เทพเจ้าที่สำคัญในลัทธิเต๋า ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าสามพี่น้อง โดยเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ถือเป็นเทพเจ้าน้องเล็ก
เทศกาลเซี่ยหยวน เป็นเทศกาลที่คนจีนให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ปัจจุบันเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา แต่ยังคงมีคนจีนบางส่วนที่ยังคงให้ความสำคัญกับวันนี้ โดยจะไปที่ศาลประจำเมือง (God temple) หรือ วัดในลัทธิเต๋า เพื่อบูชาและไหว้เทพเจ้าแห่งสายน้ำ รวมถึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง และ นำสิ่งของใส่ถุงสีแดงเพื่อเป็นขอพรจากเทพเจ้า โดยจะเขียนชื่อของตนเองไว้บนถุงสีแดง เพื่อให้เทพเจ้าบันดาลพรไม่ผิดคน ซึ่งนักบวชในลัทธิเต๋าจะนำถุงสีแดงเหล่านี้ไปประกอบพิธีกรรม อย่างเช่นที่วัดลัทธิเต๋าในเมืองเซี่ยงไฮ้ ผู้คนยังคงไปร่วมพิธีกรรมในเทศกาลเซี่ยหยวน
และสำหรับในวันเซี่ยหยวน ในบางพื้นที่ของจีน คนจีนจะลอยโคมสู่ท้องฟ้า และลอยประทีปในน้ำ ตามคติความเชื่อที่คล้ายคลึงกับคนไทย คือ ลอยสิ่งไม่ดีออกไปจากตัวเรา และขอพรจากเทพเจ้า รวมถึงปล่อยปลาปล่อยเต่าลงแม่น้ำ เพื่อบุญกุศล คล้ายกับความเชื่อของคนไทยเช่นกัน
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง