เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท Yuxinou (Chongqing) Logistics Co., Ltd. เปิดเผยว่า ในปี 2566 รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง) มีการเดินรถไฟมากกว่า 5,300 เที่ยว และบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า 430,000 TEU (TEU เป็นหน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ครองอันดับหนึ่งในประเทศจีนทั้ง 2 รายการ
ตามมาตรการเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้ร่วมกันพัฒนาเส้นทางรถไฟ และดำเนินการเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างมณฑลเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ขบวนรถไฟจีน – ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง) ” เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2564
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งสินค้าของขบวนรถไฟจีน-ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ทำให้การขนส่งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ขบวนรถไฟจีน-ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง) เปิดให้บริการถึง 50 เส้นทาง ครอบคลุม 110 เมืองในเอเชียและยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์การสื่อสารและเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้า รองเท้าและหมวก เคมีภัณฑ์ อาหาร ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอีกกว่า 20,000 รายการ ในจำนวนนี้ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ยังคงเป็นสินค้าที่มีปริมาณมากที่สุดในการใช้บริการขนส่ง
ในปัจจุบัน ร้อยละ 50 ของแท็บเล็ตทั่วโลก ร้อยละ 60 ของโน้ตบุ๊คทั่วโลก และร้อยละ 10 ขอโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ผลิตที่นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดึงดูดบริษัทในเครืออุตสาหกรรมจำนวนมากมาจัดตั้งบริษัทอยู่รอบเมือง
ท่าเรือรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู และChongqing International Logistics Hub Park ได้รวบรวมองค์กรธุรกิจประเภทต่าง ๆ กว่า 7,000 แห่ง ให้บริการขนส่งยานพาหนะครบวงจร ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ชีวเวชศาสตร์ และสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าสะสมมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน ปัจจุบัน ตลาดของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้ขยายไปยังกว่า 100 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกทางการค้าของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศุลกากรทั้งสองแห่งได้ร่วมกันสร้างโครงการสาธิตศูนย์กลางรถไฟจีน-ยุโรป และส่งเสริมการแบ่งปันร่วมมือและการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน โดยทั้งสองเมืองยังเป็นเมืองแรกที่นำโมเดลการผ่านด่านพิธีการศุลกากรอย่างรวดเร็วของรถไฟในการเข้าและออกเมืองในประเทศจีนมาใช้ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการพิธีการศุลกากรลงมากกว่า 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ 3 ปีที่ผ่านมา ด่านศุลกากรทั้งสองเมืองได้ตรวจสอบสินค้านำเข้าส่งออกรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง) กว่า 8,200,000 ตัน มีมูลค่ามากกว่า 350,000 ล้านหยวน
ความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง สามารถเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและค้าขายระหว่างประเทศไทย จีนและยุโรป ด้วยโมเดลการผ่านด่านพิธีการศุลกากรอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าสามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับจีน-ยุโรปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายตัวของตลาดนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งไปยังกว่า 100 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก จะสร้างโอกาสให้ธุรกิจและผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในเอเชียและยุโรป การพัฒนาเส้นทางรถไฟและการสร้างพื้นที่โลจิสติกส์ที่สะดวกสบาย ทำให้ระบบการขนส่งสินค้ามีความมั่นคงและเสถียรมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจและการค้าของประเทศไทยสามารถดำเนินไป อย่างต่อเนื่องได้ และคาดว่าเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน – ยุโรป จะสามารถทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับพื้นที่นี้ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล:
- เว็บไซต์ cq.gov.cn (เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67)