ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมุ่งดำเนินนโยบายการ “เปิดสู่ภายนอก” เน้นส่งเสริมตลาดภายในและต่างประเทศ (Dual Circulation) การพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบมีคุณภาพ
รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ของจีน โดยมีรัฐบาลกลางคอยให้การสนับสนุนเชิงนโยบายหลายประการ หนึ่งในผลผลึกสำคัญที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติจริงของรัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วง คือ การจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)” เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในมณฑลควบคู่กับการดึงดูดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
“เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)” จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ประกอบด้วย 3 พื้นที่ย่อย ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง/เศรษฐกิจของมณฑล) ท่าเรือชินโจว (เมืองท่า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดนติดเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจการค้าสูงของมณฑล)
ในช่วง 11 เดือนแรก ปี 2566 เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) มีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 227,990 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 18.7 เมื่อเที่ยบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ครองสัดส่วนร้อยละ 37.3 ของทั้งมณฑล มีบริษัทจดทะเบียนตั้งใหม่ 13,500 ราย และจากการคาดการณ์เบื้องต้น มีมูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศ 467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองสัดส่วนร้อยละ 58 ของทั้งมณฑล
โดย “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง” เป็น “ดาวเด่น” ที่น่าจับตามอง ข้อมูลปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนตั้งใหม่ราว 13,000 ราย (ครองสัดส่วนร้อยละ 96 ของทั้ง 3 พื้นที่ย่อย) ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทต่างประเทศ 151 ราย มีมูลค่าการลงทุนจริงจากต่างประเทศ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ครองสัดส่วนร้อยละ 62 ของทั้ง 3 พื้นที่ย่อย)
“การเงินและประกันภัย” เป็นไฮไลท์ของเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง
รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงได้ตั้งพื้นที่ฟังก์ชันที่มีชื่อว่า “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town (中国-东盟金融城) ใจกลางเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ไว้เป็นแหล่งรวมสถาบันและบริษัทการเงินและการประกันภัยชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ตอบโจทย์การเป็น “ประตูการเงินที่เปิดสู่อาเซียน” ที่รัฐบาลกลางมอบให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง
ปัจจุบัน ภายใน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” มีสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ เข้าตั้งกิจการแล้ว 512 ราย โดยเป็นรายใหม่ที่จดทะเบียนในปี 2566 จำนวน 102 ราย
อาทิ “ศูนย์บริการประกันสำหรับอาเซียน” (太平保险东盟服务中心) ของ Taiping Insurance ให้บริการประกันภัยในโครงการต่างประเทศ 37 โครงการ มูลค่ารวม 42,200 ล้านหยวน และ “ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจสำหรับอาเซียน” (中银香港东南亚业务营运中心) ของ Bank of China (HongKong) มีธุรกิจครอบคลุม 7 ประเทศในอาเซียน
จากผลการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรมและการปฏิรูปด้านการเงินของเขตทดลองการค้าเสรีจีน” ประจำปี 2565-2566 ซึ่งจัดทำโดย Sun Yat-sen University Institute for Free Trade Zone Research (中山大学自贸区综合研究院) ระบุว่า เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง อยู่ในอันดับ 21 จากทั้งหมด 51 พื้นที่ย่อยทั่วประเทศจีน ที่ผ่านมา เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง ได้แสวงหาช่องทางในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงนโยบายและเงื่อนไขการเข้าถึงตลาด (Market Access) ของสถาบันการเงินข้ามชาติให้สะดวกยิ่งขึ้น
อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไข/ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ QFLP หรือ Qualified Foreign Limited Partner (QFLP เป็นโครงการที่เปิดกว้างนโยบายการนำเงินลงทุนเข้ามาในประเทศจีนของนักลงทุนต่างชาติและส่งเสริมการลงทุน Private Equity และการสนับสนุนการเติบโตของ ‘เทคสตาร์ทอัป’ ในจีน) ให้เข้าถึงตลาดง่ายขึ้น มีข้อจำกัดน้อยลง และใช้ระยะเวลาสั้นลงในการขออนุมัติ
ณ สิ้นปี 2566 เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน QFLP เป็นจำนวนสะสม 9 กองทุน รวมเป็นมูลค่าสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ” อีกหนึ่งไฮไลท์ของเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง
ปี 2566 เขตทดลองฯพื้นที่ย่อยหนานหนิง มีบริษัทเทคโนโลยีและดิจิทัลตั้งอยู่มากกว่า 5,700 ราย คิดเป็น 1/3 ของทั้งมณฑล มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลายสาขา อาทิ การผลิตชิป สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรรวม โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริม
ห้วงที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำได้เข้ามาลงทุนในโครงการที่น่าสนใจ อาทิ สายการผลิตแผงวงจรรวมแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ทดสอบ และบรรจุหีบห่อระดับเวเฟอร์ (Wafer Level Packaging) ของบริษัท Hotchip Technology (深圳市华芯邦科技有限公司) / ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียนของบริษัท Digital Silk Road Technology Co., Ltd. (数丝科技有限责任公司) / สายการผลิตและแปรรูปวัสดุควอตซ์สังเคราะห์ (Synthetic quartz ingot) ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์และโซล่าเซลล์ของ Aura Optics Group Co. Ltd (神光光学集团有限公司)
นอกจากนี้ บริษัท CAIH (China-ASEAN Information Harbor Ltd./中国—东盟信息港股份有限公司) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเพื่อใช้ดำเนินความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทเมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการลงทุนสะสมใน Core Area ของเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง 35,600 ล้านหยวน มีโครงการลงทุนที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นรวม 40 โครงการ
บีไอซี เห็นว่า ด้วยจุดเด่นสำคัญด้านที่ตั้ง (เมืองเอก / เมืองใหม่ที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย) และปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งธุรกิจ (สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน อาทิ มาตรการลด/ยกเว้นภาษีเงินได้ การจ่ายเงินรางวัล เงินอุดหนุน และระบบคมนาคมที่ทันสมัย / ต้นทุนแรงงาน) เป็นแรงหนุนที่ทำให้เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งศักยภาพที่มีความพร้อมสำหรับธุรกิจจากต่างมณฑลและต่างประเทศที่จะทยอยเข้ามาแสวงหาโอกาสด้านการลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วง
จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn (南宁政府网) วันที่ 23 และ 19 มกราคม 2567
เว็บไซต์ http://bbwb.gxzf.gov.cn (北部湾经济区规划建设管理办公室) วันที่ 18 มกราคม 2567
เว็บไซต์ http://wsb.gxzf.gov.cn (广西外事办)
ภาพประกอบ www.caih.com และ http://gx.news.cn