เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนของปี 2566 เมืองเซี่ยเหมินประกาศแผนปฏิบัติการพัฒนาท่าเรือสีเขียวระยะ 3 ปี (ปี 2566-2568) เพื่อส่งเสริมการก้าวขึ้นสู่การเป็นพื้นที่สาธิตระบบนิเวศทางการขนส่งสีเขียวของจีน ภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองนโยบายแผนพัฒนาการขนส่งสีเขียวฉบับที่ 14 ของคณะมนตรีรัฐกิจ โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาการใช้พลังงานไฟฟ้า อาทิ การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่าเรือ เช่น เครนไฟฟ้า หุ่นยนต์อัตโนมัติ และการใช้ระบบอัจฉริยะ AI ในการจัดการพลังงานและการจราจร โดยปัจจุบันมีการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือเซี่ยเหมินกว่าร้อยละ 10 แล้ว ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าเชื้อเพลิง (ค่าน้ำมันเทียบค่าไฟฟ้าในการชาร์จ) ถึง 5 – 10 เท่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแล้ว ยังช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 7 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e) ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 9 ล้านต้น
(2) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด อาทิ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผ่น solar cell จำนวนมากบนพื้นที่แหล่งน้ำรอบท่าเรือ และอาคารต่าง ๆ โดยความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในท่าเรือ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 22 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง รวมถึงพลังงานไฮโดรเจนที่อยู่ในระหว่างการศึกษา โดยมีแผนผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (การใช้น้ำทะเลมาผลิตไฮโดรเจนโดยตรง) แผนพัฒนาท่าเรือขนส่งแอมโมเนีย (ไฮโดรเจนที่แปรรูปเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง) และการพัฒนาท่อขนส่งไฮโดรเจน ฯลฯ
(3) การลดมลพิษที่ปลดปล่อยจากท่าเรือและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเน้นการบริหารจัดการของเสียและรีไซเคิลน้ำจากเรือซึ่งเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าที่มีการปลดปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และเสริมความสามารถการกำจัดและบำบัดของเสียที่เกิดจากท่าเรือซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการขนส่งทางน้ำที่มีการปลดปล่อยมลพิษทั้งจากการขนส่งสินค้าเข้าออกท่าเรือ รวมถึงการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในท่าเรือ
ทั้งนี้ ท่าเรือเซี่ยเหมินได้รับการจัดตั้งเป็นหนึ่งในท่าเรือสีเขียวแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกในปี 2566 และแผนแนวทางดังกล่าวนอกจากจะส่งผลบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าเรือและผู้อยู่อาศัยรายรอบแล้ว ยังส่งผลบวกกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า ชิ้นส่วนและแบตเตอรี่รถบรรทุกไฟฟ้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขณะที่ไทยสามารถติดตามมาตรการและพัฒนาการของจีนในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานของจีนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2060 เพื่อศึกษาและแสวงหาโอกาสเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้ แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/show/787.html
The post เมืองเซี่ยเหมินออกแผนปฏิบัติการพัฒนาท่าเรือสีเขียวระยะ 3 ปี (ปี 2566-2568) appeared first on thaibizchina.