นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของการขนส่งสินค้าข้ามทวีปด้วยรถไฟระหว่าง “ประเทศในยุโรปตะวันออก – ประเทศในเอเชียกลาง – ประเทศจีน – ประเทศสมาชิกอาเซียน” โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ขบวนรถไฟ X9592 ที่ลำเลียงเคมีภัณฑ์ในตู้ 40 ฟุต จำนวน 50 ตู้จากรัสเซีย ได้เคลื่อนตัวออกจากท่าสถานีรถไฟนานาชาตินครซีอาน เพื่อไปขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจว โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย
คุณเหวย เจิงเซิ่ง (韦曾晟) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท Guangxi Beigang Logistics Co.,Ltd (广西北港物流有限公司) ให้ข้อมูลว่า เคมีภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสินค้าขาล่องของขบวนรถไฟ China-Europe Express Railway จากประเทศรัสเซียมายังนครซีอาน มณฑลส่านซี โดยบริษัท China Railway International Multimodal Transport Co.,Ltd (CRIMT) สาขาซีอาน ก่อนจะส่งต่อให้บริษัท Guangxi Beigang Logistics Co.,Ltd เป็นผู้รับผิดชอบในการเชื่อมงานขนส่งแบบไร้รอยต่อกับขบวนรถไฟ ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ (New International Land and Sea Trade Corridor หรือ ILSTC) ในเส้นทางนครซีอาน-อ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ซึ่งใช้เวลา 3-4 วัน เพื่อขึ้นเรือสินค้าที่อ่าวเป่ยปู้ โดยจะใช้เวลาราว 5 วันในการเดินทางไปถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการเชื่อมขบวนรถไฟ China-Europe Express Railway กับขบวนรถไฟ ILSTC หลังจากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เวียดนามประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าทางรถไฟไปยังเมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน โดยออกจากสถานี Đồng Đăng (เวียดนาม) ผ่านเข้าประเทศจีนที่สถานีรถไฟผิงเสียง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) เพื่อไปสมทบและเปลี่ยนขบวน China-Europe Railway Express ที่ท่าสถานีรถไฟนานาชาติซีอาน (มณฑลส่านซี) และออกจากประเทศจีนที่อำเภอระดับเมือง Qorğas qalası (แคว้นปกครองตนเองชนชาติคาซัคอีหลี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) ไปยังประเทศคาซัคสถาน ซึ่งใช้เวลาขนส่งไม่ถึง 25 วัน (ทางเรือใช้เวลาราว 50 วัน)
บีไอซี เห็นว่า ประเทศในยุโรปตะวันออก (รัสเซีย โปแลนด์) และเอเชียกลาง (คาซัคสถาน) เป็นตลาดที่มีศักยภาพและยังมีการแข่งขันไม่สูงมากนัก จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนไทยที่สนใจจะขยายโอกาสในบุกเบิกตลาดใหม่ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จาก “การขนส่งทางราง” ในการทำการค้าแบบสองทาง ทั้งการส่งออกสินค้าไทยไปเปิดตลาดเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงการนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพจากพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ รวมถึงแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วย โดยข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา ระบุว่า สินค้าไทยหลายประเภทมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการในตลาดคาซัคสถาน อาทิ (1) สินค้าอาหาร ซึ่งปัจจุบัน สินค้าดังกล่าวมีการวางขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในคาซัคสถานแล้ว (2) สินค้าสำหรับเด็ก เนื่องจากครอบครับชาวคาซัคสถานมีลูกหลายคน (3) สินค้าประเภทเครื่องเขียนและสินค้าตกแต่งบ้าน เนื่องจากสินค้าประเภทดังกล่าวที่มีอยู่ในคาซัคสถานยังไม่มีความหลากหลาย (4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่รถยนต์
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางรางในเขตฯ กว่างซีจ้วงเพื่อบุกเบิกพัฒนาการค้ากับประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางได้ 2 รูปแบบ คือ
(1) เรือ + ราง จากท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ มายังท่าเรือชินโจว (เขตฯ กว่างซีจ้วง) และลำเลียงตู้สินค้าขึ้นรถไฟในบริเวณท่าเรือชินโจว ไปยังท่าสถานีรถไฟนานาชาติซีอาน (มณฑลส่านซี) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมขบวนรถไฟ China-Europe Express Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปยังเอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้สายเรือที่ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว อาทิ SITC / PIL / EMC / Wanhai Lines / YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยระหว่าง 4-7 วัน
(2) รถบรรทุก + ราง จากภาคอีสานไทย (มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย) ผ่าน สปป.ลาว ก่อนเข้าเวียดนาม เพื่อไปขึ้นขบวนรถไฟที่สถานี Đồng Đăng (จังหวัด Lang Son เวียดนาม) และวิ่งเข้าสู่ประเทศจีนที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) ไปยังท่าสถานีรถไฟนานาชาติหนานหนิง และวิ่งไปเชื่อมขบวนรถไฟ China-Europe Express Railway ที่ท่าสถานีรถไฟนานาชาติซีอาน (มณฑลส่านซี) เพื่อลำเลียงสินค้าไปยังเอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก
ข้อมูลจาก THAIBIZ-VIETNAM รายงานว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 ระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ นาย Kassym – Jomart Tokayev ประธานาธิบดีของคาซัคสถาน ได้มีการหารือตกลงกันระหว่างการรถไฟเวียดนาม (Vietnam Railways Corporation – VNR) กับการรถไฟแห่งชาติคาซัคสถาน (Kazakhstan National Railways Corporation – KTZ) ที่จะเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างเวียดนามและคาซัคสถาน พร้อมปรับปรุงขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟผ่านด่านรถไฟ Đồng Đăng ไปยังจีน ซึ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนในการผลักดันการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างโอกาสทางการค้าของชาติสมาชิกอาเซียนกับประเทศในเอเชียกลางและยุโรปได้อย่างมาก
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 04 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ https://thaibiz-vietnam.com วันที่ 25 สิงหาคม 2566
The post เบิกทางขยายการค้าข้ามทวีด้วยการขนส่งทางรถไฟ “ไทย-รัสเซีย” ด้วยโมเดล “ราง+เรือ” ผ่านอ่าวเป่ยปู้กว่างซี appeared first on thaibizchina.