การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟเป็นหนึ่งใน ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น ‘ฮับ’ ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างจีน(ภาคตะวันตก)กับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เที่ยวปฐมฤกษ์ของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-เวียดนาม” เคลื่อนขบวนออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศนครหนานหนิง เพื่อลำเลียงสินค้าไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
จนถึงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-เวียดนาม วิ่งให้บริการรวม 1,073 เที่ยว ลำเลียงสินค้าคิดเป็นน้ำหนักรวม 5.94 แสนตัน โดยขบวนรถไฟดังกล่าวมีจุดรวมสินค้าอยู่ใน 20 เมือง ใน 6 มณฑล อาทิ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเจ้อเจียง มีสินค้ามากกว่า 620 ชนิดที่ใช้ขบวนรถไฟดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าไฮเทค รวมไปถึงเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรม โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ลำเลียงด้วยขบวนรถไฟดังกล่าวเป็นสินค้าจีน เวียดนาม ไทย และสปป.ลาว
ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ขบวนรถไฟจีน-เวียดนามที่ให้บริการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ สังกะสีออกไซด์ ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กกล้า สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ไม้ซุง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน และผลไม้ (ที่ด่านรถไฟผิงเสียง)
ด้านการให้บริการก็มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าลดลงจาก 20 กว่าชั่วโมง เหลือเพียง 14.5 ชั่วโมง จนกลายเป็นอีก “ทางด่วน” ของการขนส่งลำเลียงสินค้าในระบบการค้าระหว่างประเทศระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน โดยมีเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น “ข้อต่อ” สำคัญของเส้นทางรถไฟดังกล่าว โดยมีอยู่ 2 จุด คือ
(1) ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง ผู้นำเข้า-ส่งออกสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และเป็นสถานีแม่ข่ายสำคัญในโครงข่ายรถไฟจีน และโครงข่ายรถไฟ China- Europe Express Railway
ภายในเขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง มีเนื้อที่ราว 70.4 ไร่ ประตูไม้กั้น 12 ช่องจราจร (เข้า 6 ช่องทาง และออก 6 ช่องทาง) ลานตรวจสินค้ามีช่องรถบรรทุก 30 ช่องทาง มีอาคารโดมอเนกประสงค์ 3,060 ตร.ม. มีพื้นที่ลานตู้สินค้าและโกดังอุปกรณ์ตรวจกักกันโรค โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 6 แสน TEUs และมีศักยภาพในตรวจสอบสินค้าได้ปีละ 65,000 ตู้
ผู้นำเข้า-ส่งออกสามารถรวมตู้สินค้าขึ้นโบกี้รถไฟและสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (ทั้งการยื่นสำแดงเอกสารและตรวจปล่อยสินค้า) ที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง จากเดิมที่การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟนั้น ตู้สินค้าจะต้องไปดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองชายแดนที่อยู่ห่างจากนครหนานหนิงราว 200 กิโลเมตร
นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2566 ศูนย์ขนส่งสินค้าที่นครหนานหนิงของบริษัท China Railway Nanning Group มีบริการเที่ยวประจำสัปดาห์ละ 3 เที่ยว การขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่านท่าสถานีแห่งนี้มีความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการและเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าทางรถไฟประหยัด ทั้งเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่าย
(2) ด่านสถานีรถไฟผิงเสียง ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (ตรงข้ามจังหวัด Lang Son ของเวียดนาม) เป็นด่านสากลทางรถไฟแห่งแรกและแห่งเดียวของจีนที่สามารถวิ่งเชื่อมจีน-เวียดนาม ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (แยกกัน 2 จุด) และเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้ไทยทางรถไฟ” แห่งแรกของจีนด้วย โดยได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบิน
จุดเด่นของการขนส่งด้วยรถไฟ มีศักยภาพรองรับการขนส่งได้ในปริมาณที่มากกว่ารถบรรทุก และสามารถใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าไปสู่พื้นที่ตอนในทั่วจีนหรือขยายตลาดไปยังประเทศในเอเชียกลาง โดยช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ การขนส่งทางรถไฟเหมาะสำหรับการขนส่งระยะทางไกล หากเป็นการขนส่งระยะสั้น ควรใช้การขนส่งทางรถบรรทุก เช่น หากส่งผลไม้ไปยังนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง รถบรรทุกใช้เวลาเพียง 1-2 วัน สามารถประหยัดเวลาได้มากกว่าทางรถไฟที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน
บีไอซี เห็นว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยเพื่อใช้กระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีน หรือไปไกลถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้ ผ่านโมเดลขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ของกว่างซี กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนจะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” โดยรถบรรทุกจากภาคอีสานไทย สำหรับ “ตู้สินค้าทั่วไป” จะเปลี่ยนยานพาหนะจากรถบรรทุกขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง
ขณะที่ “ผลไม้ไทย” จะวิ่ง ผ่านกรุงฮานอยไปขึ้นรถไฟที่สถานี Đồng Đăng จังหวัด Lang Son ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน หรือส่งต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express
ทั้งนี้ หากในอนาคต “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” สามารถเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกผลไม้(ไทย)ได้ จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อีกหนึ่งลู่ทาง ช่วยลดอุปสรรคในการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการจราจรแออัดบริเวณด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของสองฝ่ายสามารถนำไปพิจารณาเพื่อเจรจาหารือต่อไป
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 02 ธันวาคม 2566