หลังเริ่มให้บริการ 6 ปี ทะลุ 30,000 เที่ยวแล้ว!!! เมื่อไม่นานมานี้ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม“เรือ+ราง” ในบริเวณท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เที่ยวขบวนที่ 30,000 ได้ออกเดินทางจากสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวไปยังนครฉงชิ่ง
ตามรายงาน ขบวนรถไฟดังกล่าวลำเลียงตู้สินค้า จำนวน 110 ตู้ โดยส่วนหนึ่งเป็นแป้งมันเทศ (sweet potato starch) ของเวียดนาม และเนยขาวของอินโดนีเซีย เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของข้อริเริ่มยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ซึ่งมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นข้อต่อสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ท่าเรือชินโจวและระเบียงการค้า ILSTC มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ระเบียงการค้า ILSTC เป็นเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์สายใหม่ที่มุ่งยกระดับการเชื่อมโยงและเปิดสู่ภายนอกของภูมิภาคจีนตะวันตก โดยมี“กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”เป็น Gateway เชื่อมการขนส่งทางบก (พื้นที่ตอนในของจีน) กับทางทะเล (ต่างประเทศ) แบบไร้รอยต่อ โดยเฉพาะกับชาติสมาชิกอาเซียน
ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นกลุ่มท่าเรือเพียงหนึ่งเดียวในภาคตะวันตกของจีน ประกอบด้วยท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ โดยมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นท่าเรือหลักโดยมีโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” (Multimodal Transportation) เป็น‘ฟันเฟือง’ ที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนางานขนส่งและโลจิสติกส์ในกรอบระเบียง ILSTC และถือเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดระหว่างมณฑลในภาคตะวันตกของจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน สามารถช่วยร่นเวลาการขนส่งได้ 10 วันเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบเดิมที่วนไปใช้ท่าเรือทางภาคตะวันออกของจีน อย่างท่าเรือเซี่ยงไฮ้
สถิติที่น่าสนใจของการขนส่งสินค้าในกรอบระเบียง ILSTC ที่ท่าเรือชินโจว ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 การขนส่งทางรถไฟภายใต้โมเดลการขนส่งเชื่อม “เรือ+ราง” มีโครงข่ายครอบคลุมไปยัง 138 สถานีใน 69 เมืองใน 18 มณฑลทั่วประเทศจีน (เน้นภาคตะวันตกเป็นหลัก) มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้สูงสุดวันละ 1,848 TEUs และปล่อยขบวนรถไฟได้มากสุดวันละ 21 เที่ยวขบวน
9 เดือนที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม “เรือ+ราง” วิ่งให้บริการรวม 6,107 ขบวน ขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ารวม 633,000 TEUs ขยายตัวร้อยละ 14 (YoY) โดยมณฑลในจีนใช้ “ท่าเรือชินโจว” เพื่อการนำเข้าและส่งออกสินค้ารวมมูลค่า 87,410 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 12.1 (YoY)
“ท่าเรือชินโจว”มีปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้า 31.54 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 35.9 (YoY) มีเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 42 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือกับชาติสมาชิกอาเซียน 36 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุม 7 เส้นทางกับประเทศไทยด้วย (ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง) โดยไฮไลท์สำคัญ คือ เส้นทางเรือขนส่งผลไม้ Express Route “แหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว” ที่เปิดให้บริการสัปดาห์ละ 5 เที่ยว ใช้เวลาขนส่งสั้นสุดเพียง 3 วันเท่านั้น
ระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือชินโจว 46.68 ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 82.54 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ขณะที่การส่งออกใช้เวลาประมาณ 1.37 ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 95.05 เมื่อเทียบกับปี 2560
ความมุ่งมั่นของท่าเรือชินโจว (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะ เฟส 2 ได้ผ่านการตรวจรับแล้ว โดยเฟส 2 ประกอบด้วยท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 10 สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 2 แสนตันให้เข้าเทียบท่าได้และสามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.6 ล้านTEUs ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง อาทิ โครงการฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจรในท่าเรือชินโจว (Integrated Cold-Chain Logistics Qinzhou Port Base/综合冷链物流钦州港基地) มีฟังก์ชันครบครันด้านการจัดเก็บ เปลี่ยนถ่าย กระจาย และแปรรูปสินค้าห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงบริการด้านการดำเนินพิธีการศุลกากรช่วย ‘เติมเต็ม’ช่องว่างให้กับท่าเรือชินโจว
(2) การพัฒนาทางเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่ง“เรือ+ราง”ด้วยการบูรณาการพื้นที่ปฏิบัติงาน (รื้อรั้วกั้น) ระหว่างท่าเทียบเรืออัจฉริยะชินโจวและสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวภายใต้การกำกับดูแลศุลกากรเดียว (ไม่แยกศุลกากรรถไฟกับศุลกากรท่าเรือ) ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
บีไอซีเห็นว่า “ท่าเรือชินโจว” เป็นทางเลือกใหม่ของภาคธุรกิจไทยในการทำการค้า โดยเฉพาะกับมณฑลที่อยู่ในภาคตะวันตกและภาคกลางของจีนด้วยความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบงานขนส่งโลจิสติกส์ ตลอดจนนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมดึงดูดการลงทุนในบริเวณท่าเรือชินโจว (เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว และเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว) ทำให้พื้นที่บริเวณท่าเรือชินโจวเป็นเป้าหมายการลงทุนที่มีศักยภาพ เหมาะกับภาคการผลิตที่กำลังวางแผนที่จะเริ่มต้นธุรกิจการผลิตและการแปรรูปสินค้าเพื่อเจาะตลาดภายในประเทศจีน หรือแปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สามผ่านเครือข่ายการขนส่งของระเบียงการค้า ILSTC ในทุกมิติ ทั้งทางเรือและทางรถไฟ (China-Europe Railway Express)
จัดทำโดย : นางสาวฉิน ยวี่อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์www.mot.gov.cn(中国交通运输部) วันที่ 31ตุลาคม 2566
เว็บไซต์http://qzftz.gxzf.gov.cn(中国(广西)自贸区钦州港片区管委会) วันที่ 18ตุลาคม 2566
เว็บไซต์www.gx.chinanews.com.cn(中新网) วันที่ 18สิงหาคม 2566
เว็บไซต์ www.news.cn(新华网) วันที่ 18ตุลาคม 2566 และวันที่ 8สิงหาคม 2566
เว็บไซต์https://ydyl.cctv.com(央视网) วันที่ 8ตุลาคม 2566