เมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 นครคุนหมิงได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “China International Travel Mart 2023” (CITM) ซึ่งถือเป็นมหกรรมแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2541 โดยมีนครคุนหมิงกับนครเซี่ยงไฮ้สลับกันเป็นเจ้าภาพทุกปี งานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Nihao China” ซึ่งใช้พื้นที่จัดงานรวม 9 อาคาร เนื้อที่กว่า 90,000 ตารางเมตร รวมจำนวนคูหามาตรฐานกว่า 5,000 คูหา
แน่นอนว่าการจัดงานแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในจีนครั้งแรกภายหลังจีนผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ย่อมต้องเป็นที่สนใจจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไปเยือน โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานการท่องเที่ยวระดับชาติจาก 8 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เนปาล มาเลเซีย และลาว องค์กรระดับโลกอีก 6 องค์กร ได้แก่ องค์กรการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) องค์กรการท่องเที่ยวโลก (WTA) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ภาคีการท่องเที่ยวภูเขานานาชาติ (IMTA) องค์กรการท่องเที่ยวแห่งแปซิฟิก (SPTO) และองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจาก 70 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเป็นที่หมายปองของหลากหลายประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก แต่ในทางกลับกัน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดหวัง จีนจึงไม่เพียงส่งเสริมให้ชาวจีนเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่จีนก็กำลังจ้องตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างตาเป็นมันเช่นกัน
โดยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “มาตรการปลดปล่อยศักยภาพการบริโภคด้านการท่องเที่ยวและผลักดันพัฒนาคุณภาพระดับสูงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” มีเนื้อหาครอบคลุม 5 หมวด รวม 30 ข้อ ในจำนวนนี้ หมวดที่ 4 กล่าวถึง “ยกระดับการทำงานด้านการท่องเที่ยวขาเข้า” ซึ่งมีเนื้อหาย่อย 5 ข้อ ได้แก่ (1) การดำเนินแผนงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวขาเข้า เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้า ยกระดับการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจีนและ เร่งทำการตลาดในต่างประเทศภายใต้ธีม “Nihao China” ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมพันธมิตรผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า อาทิ จัดอบรมข้อมูลการท่องเที่ยวจีนให้แก่ชาวต่างชาติผู้ให้บริการ นำนักท่องเที่ยวมาเยือนจีน (2) การปรับปรุงนโยบายการตรวจลงตรา (วีซ่า) และการผ่านแดน เช่น ยกระดับประสิทธิภาพการพิจารณาวีซ่าและระบบข้อมูลสารสนเทศ ฟื้นฟูนโยบายยกเว้นวีซ่าทุกประเภทอย่างเป็นขั้นตอน ศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มจำนวนประเทศ ที่ได้รับสิทธิยกเว้นวีซ่า ใช้ประโยชน์จากนโยบายการให้วีซ่าที่ด่านชายแดน การยกเว้นวีซ่าผ่านแดน และการยกเว้นวีซ่าภายในกลุ่มภูมิภาคเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ อำนวยความสะดวกด้านการผ่านแดนให้แก่การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ คาราวานรถยนต์ท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวขาเข้ารูปแบบอื่น ๆ (3) การฟื้นฟูและเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพิ่มเส้นทางบินกับประเทศที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขาเข้าและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน และยกระดับความสะดวกด้านการเดินทางทางอากาศ (4) ปรับปรุงการบริการท่องเที่ยวขาเข้า เพิ่มความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในการใช้เอกสารประจำตัวที่มีอายุเพื่อสำรองบัตรผ่านประตูแหล่งท่องเที่ยวและบัตรโดยสาร รวมทั้งลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรม เพิ่มการฝึกอบรมด้านภาษาต่างประเทศให้มัคคุเทศก์ และผู้ให้บริการในแหล่งท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น ปรับปรุงป้ายแสดงสัญลักษณ์และป้ายแสดงข้อมูลหลากหลายภาษาภายในแหล่งท่องเที่ยว ท่าอากาศยาน สถานี รถโดยสาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เพิ่มความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการใช้บัตรธนาคารต่างประเทศ ระบบชำระเงินออนไลน์ทุกประเภท และการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (5) เพิ่มประสิทธิภาพบริการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพและขยายพื้นที่ความครอบคลุมของนโยบายบริการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวที่นำสินค้าออกนอกประเทศจีน เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการร้านค้าและความหลากหลายของประเภทร้านค้าที่เข้าร่วมบริการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ (6) แสดงบทบาทผู้ให้บริการ ด้านการค้าท่องเที่ยว สนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของจีนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ส่งเสริมการจัดและดึงดูดผู้ประกอบการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวในประเทศจีน พัฒนาศูนย์กลางการค้าท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดและอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมจากต่างประเทศในการลงทุนในจีน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนได้แถลงว่า จีนจะยกเว้นการตรวจลงตราหรือ “วีซ่าฟรี” ให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอแลนด์ สเปน และมาเลเซีย ที่มีวัตถุประสงค์ในการเจรจาธุรกิจ ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ และเดินทางผ่านแดน โดยพำนักในจีนได้ไม่เกิน 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 อนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 จีนก็เพิ่มจะฟื้นฟูมาตรการยกเว้นวีซ่าให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางสิงคโปร์และบรูไน ซึ่งได้ถูกระงับมาตรการดังกล่าวชั่วคราวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังคงไม่ฟื้นฟูมาตรการยกเว้นวีซ่าให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่น
แน่นอนว่า การที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากบุกไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในจีนก็เพื่อหวังจะได้ ยอดนักท่องเที่ยวจีนกลับมา แต่จีนก็ใช้โอกาสนี้โชว์ผลิตภัณฑ์ บริการและเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน ยกตัวอย่างประเทศไทยเองที่ใช้ทุกมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเที่ยวไทย ในทางกลับกัน จีนก็เป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวของคนไทยจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาถึง เพื่อไปสัมผัสความหนาว ชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามและวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ ในราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ว่าจีนจะยังไม่ยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวไทยในรายชื่อประเทศกลุ่มแรกก็ตาม ก็หวังว่าจีนจะเพิ่มจำนวนประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นวีซ่า รวมถึงไทยด้วยในอนาคตต่อไป
ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2023/11/20/032839440.shtml