• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กุ้ยโจวเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และวัสดุพลังงานใหม่ เป้าหมายทะลุหลักแสนล้านหยวน – thaibizchina

กุ้ยโจวเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และวัสดุพลังงานใหม่ เป้าหมายทะลุหลักแสนล้านหยวน – thaibizchina

มณฑลกุ้ยโจวในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรและอุตสาหกรรมแร่ฟอสฟอรัสที่สำคัญของจีน รวมถึงได้พัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานใหม่ ให้ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และวัสดุพลังงานใหม่ของมณฑลกุ้ยโจวมีมูลค่าการผลิตรวมกว่า 12,000 ล้านหยวน และเพิ่มขึ้นเป็น 53,200 ล้านหยวนในปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 จะมีมูลค่าทะลุหลักแสนล้านหยวน

ปัจจุบัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุแบตเตอรี่ลิเธียม (Lithium) ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจต้าหลง เมืองถงเหริน และเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งชาตินครกุ้ยหยาง บริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ เช่น บริษัท CNGR Advanced Material จำกัด และ บริษัท Guizhou Anda Energy Technology จำกัด

สำหรับบริษัท Guizhou Anda Energy Technology จำกัด ถือเป็นตัวอย่างของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการยกระดับจากอุตสาหกรรมเคมีฟอสฟอรัสดั้งเดิมให้กลายเป็นอุตสาหกรรมวัสดุพลังงานใหม่ที่ทันสมัย โดยก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2539 ดำเนินธุรกิจหลักด้านการวิจัย การผลิต และการจำหน่ายไอออนฟอสเฟต (Iron (Ferric) Phosphate) และ ลิเธียมฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate, LiFePO4 หรือ LFP) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กันอย่างแพร่หลายในธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานใหม่และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน โดยมีบริษัทคู่ค้ารายใหญ่ เช่น BYD, China Aviation Lithium Battery (CALB) และ Sunwoda ปัจจุบัน สามารถผลิตลิเธียมฟอสเฟตปีละ 150,000 ตัน ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 6,500 ล้านหยวน และกำไร 810 ล้านหยวน

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และวัสดุพลังงานใหม่ สำนักงานการคลังมณฑลกุ้ยโจวได้ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านหยวน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมทันสมัย ขณะเดียวกัน ยังระดมทุนพิเศษ 1,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ 6 แห่ง และโครงการอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และวัสดุพลังงานใหม่ที่สำคัญ 20 โครงการ รวมถึงก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมวัสดุพลังงานใหม่ เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ฟอสฟอรัส และ ฟลูออรีน (Fluorine)

ที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1783239893077702997&wfr=spider&for=pc

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : stsbeijing@mhesi.go.th

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: stsbeijing@mhesi.go.th