คุณเคยรู้สึกแปลกใจไหมว่า… เวลาที่เราพูดคุยกันเรื่องอะไรสักพัก เรื่องที่เราพูดคุยกันจะตามมาอยู่บนนิวส์ฟีดของเราทันที หรือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ทำไมสามารถปลดล็อกด้วยใบหน้าได้ ทำไมเราถึงสั่งการทำงานของอุปกรณ์ภายในรถยนต์หรือระบบบ้านอัจฉริยะได้ หรือทำไม ChatGPT สามารถวาดรูปได้อย่างรวดเร็ว?
นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI computing ที่ช่วยให้ “เครื่องจักรไร้ชีวิต” ที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงลึก (Deep Training) แล้ว สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ ประมวลผล และจัดการข้อมูลมหาศาลอย่างรูปภาพ ข้อความ และเสียงพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า “สมองมนุษย์”
ในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัวลง แต่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” กลับรักษาระดับการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และ “พลังประมวลผล” ถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
ผลงานวิจัยของ China Academy of Information and Communications Technology หรือ CAICT (中国信息通信研究院) ระบุว่า การลงทุนในพลังประมวลผล หรือ Computing power ทุก 1 หยวน จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ได้ 3-4 หยวน
ความสำคัญข้างต้นทำให้รัฐบาลจีนเร่งผลักดันการก่อสร้างศูนย์ AI computing ให้แพร่หลายทั่วประเทศ ข้อมูล ณ มิถุนายน 2566 ประเทศจีนได้เปิดใช้งานศูนย์ AI computing แล้ว 25 แห่ง และมีอีกกว่า 20 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังประมวลผล และขับเคลื่อนให้สังคมก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลและอัจฉริยะ
ในฐานะที่เป็น Gateway to ASEAN รัฐบาลกว่างซีได้เปิดตัว “ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน” (中国—东盟人工智能计算中心) อย่างเป็นทางการที่นครหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซี หลังจากที่ได้ผ่านการทดลองใช้งานเป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ครอบคลุมสถานการณ์ (Scenario) ด้านการศึกษา การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การคมนาคม การผลิต อินเทอร์เน็ต มีเดีย รถยนต์พลังงานทางเลือก การควบคุมระยะไกลผ่านดาวเทียม และการแพทย์
มาทำความรู้จักกับ “ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน”ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิง ก่อตั้งโดยบริษัท Digital Silk Road Technology Co., Ltd. (数丝科技有限责任公司) บริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจ Nanning Industrial Investment Group (南宁产投集团) ถือเป็นรากฐานสำคัญด้านพลังประมวลผล (Computing Power) ของกว่างซี มุ่งให้บริการด้านการประมวลผลข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจีน รวมถึงชาติสมาชิกอาเซียนในทุกรูปแบบ โดยใช้หน่วยประมวลผล AI ที่มีชื่อว่า Huawei Ascend ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่พลังการประมวลผลที่รวดเร็ว (AI Training 42P / AI Inference 1.4P โดย 1P เทียบเท่ากับความเร็วในการประมวลผล 1,000 ล้านล้านครั้งต่อวินาที) รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ที่จีนพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวได้กำหนดตำแหน่ง (positioning) ที่จะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสาธารณะใน 4 ด้าน คือ แพลตฟอร์มการให้บริการพลังประมวลผล แพลตฟอร์มบ่มเพาะการประยุกต์ใช้นวัตกรรม แพลตฟอร์มการคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และแพลตฟอร์มบ่มเพาะการวิจัยเชิงนวัตกรรมและการบ่มเพาะทาเลนท์
ผลงานที่น่าสนใจของศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน อาทิ (1) แพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนา Large Scale Artificial Intelligence (LSAI) แบบครบวงจร (2) โซลูชันการผลิตอัจฉริยะ (3) การวิจัยเทคโนโลยีแกนเกี่ยวกับมนุษย์ดิจิทัลเสมือนจริง หรือ Virtual Human (4) โมเดลอัจฉริยะด้านการดูแลผู้สูงอายุ (5) โซลูชันการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City Digital Management Solution – CIM (6) โซลูชันอุปกรณ์อัจฉริยะ (7) โซลูชันระบบการแปลภาษาจีน-ภาษาในชาติสมาชิกอาเซียน และ (8) โซลูชันการประเมินคุณภาพการบริการด้วยเทคโนโลยี AI
ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน และบริษัท Guangxi Daring Technology Co., Ltd. (广西达译科技有限公司) ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการแปลภาษาจีน-ภาษาในชาติสมาชิกอาเซียน โดยใช้เทคโนโลยี AI computing มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำของการรู้จำเสียงพูดและการแปลภาษา สามารถแปลภาษาได้แบบ real-time ในสถานการณ์ (Scenario) การค้าระหว่างประเทศ การประชุมสัมมนา และการถ่ายทอดสด
ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน และคณะปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย Guilin University of Electronic Technology (桂林电子科技大学) ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีแกนของมนุษย์ดิจิทัลเสมือนจริง ครอบคลุมทั้งการสร้างและแก้ไขภาพใบหน้า การขยับปากให้ตรงกับเนื้อหาคำพูด และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกให้ตรงกับน้ำเสียง เพื่อเพิ่มความเสมือนจริงและเพิ่มทักษะการคิดของมนุษย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซี ได้ประกาศแผนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ Huawei Ascend การประยุกต์ใช้ผลงานนวัตกรรมของ AI รวมถึงสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศอันดีสำหรับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ผลิตโดยจีน และการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเชื่อว่า ในอนาคต ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเชิงลึกในระดับสากล เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมให้ AI พัฒนาแบบข้ามชาติข้ามสาขา และการคลัสเตอร์อุตสาหกรรม AI รวมถึงผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้มีความเป็นดิจิทัลและความเป็นอัจฉริยะด้วย ทำให้ศูนย์ ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน กลายเป็น New Highland ทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งสู่อาเซียน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ประเทศจีนกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคสังคม 5.0 หรือยุค Metaverse ที่มีการผสมผสานระหว่างโลกกายภาพ (Physical World) กับโลกเสมือน (Virtual World) ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมมนุษย์ในทุกมิติ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของยุคสังคม 5.0 เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างอัจฉริยะ
“พลังประมวลผล” เป็นเทคโนโลยีแกนของ AI Computing ที่เปรียบเสมือนน้ำและไฟฟ้าที่สังคมขาดไม่ได้ในปัจจุบัน เมื่อปี 2565 รัฐบาลไทยได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) และแผน AI Thailand เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI
ในบริบทข้างต้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลและการคำนวณขั้นสูง ซึ่งเทคโนโลยีการประมวลผล (AI Computing) พลังประมวลผล และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI server ถือเป็นตัวจักรชิ้นสำคัญในขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรม
บีไอซี เห็นว่า ศูนย์ AI computing จีน-อาเซียน สามารถเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี AI ระหว่างไทยกับจีน(กว่างซี) ทั้งในการลงทุน การส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยภาครัฐและเอกชนไทยสามารถนำเอาประสบการณ์และผลสำเร็จของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในกว่างซีมาปรับใช้ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) และการพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อรองรับตลาดแรงงานยุคดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้ โดยอาศัยความได้เปรียบของกว่างซีในด้านการเป็นฐานบ่มเพาะทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาของชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนในอนาคต
จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.news.cn (新华网) วันที่ 12 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ https://gx.chinadaily.com.cn (中国日报) วันที่ 7 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ http://dsjfzj.gxzf.gov.cn (广西大数据发展局) วันที่ 30 ธันวาคม 2565
หนังสือพิมพ์ Economic Daily (经济日报) วันที่ 20 กรกฎาคม 2566