เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้รับเหมาสำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางหวงถ่ง (กุ้ยโจว) – ไป่เซ่อ (กว่างซี) ช่วงเส้นทางในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งในประกาศได้ระบุถึงเวลาเริ่มต้นการก่อสร้างในวันที่ 10 ธันวาคม 2566 และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในวันที่ 10 ธันวาคม 2571
เส้นทางรถไฟหวงถ่ง (กุ้ยโจว) – ไป่เซ่อ (กว่างซี) มีระยะทางรวม 312.62 กิโลเมตร เป็นเส้นทางในมณฑลกุ้ยโจว 173.85 กิโลเมตร และเส้นทางในเขตฯ กว่างซีจ้วง 138.77 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 33,854 ล้านหยวน (ในส่วนของกว่างซี 15,070 ล้านหยวน) ใช้เวลาการก่อสร้างนาน 5 ปี
ตามรายงานของรัฐบาลกว่างซี เส้นทางรถไฟสายดังกล่าวจะใช้สำหรับการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ร่วมกับการขนส่งผู้โดยสาร ได้ถูกออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นหนึ่งใน Key Project ในยุทธศาสตร์ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลของจีนตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC)
จากภาพจะเห็นได้ว่า โครงข่ายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าในภาคตะวันตกของจีนมีความเป็นรูปเป็นร่างเกือบสมบูรณ์ ขาดเพียงช่วงเส้นทางหวงถ่ง (กุ้ยโจว) – ไป่เซ่อ (กว่างซี) เท่านั้น
ดังนั้น การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้จะทำให้การเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าในภาคตะวันตกมี ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการขนส่ง รวมทั้งเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของมณฑลในภาคตะวันตก โดยเฉพาะนครเฉิงตู และนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็น 2 หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญในภาคตะวันตกที่จะได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้
เมื่อเส้นทางรถไฟสายนี้เปิดใช้งาน การขนส่งลำเลียงสินค้านำเข้า-ส่งออกจากนครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) – หวงถ่ง (เมืองอันซุ่น มณฑลกุ้ยโจว) – เมืองไป่เซ่อ – นครหนานหนิง – เมืองท่าชินโจวของเขตฯ กว่างซีจ้วง จะมีระยะทางเพียง 1,390 กิโลเมตร ใช้เวลาในการขนส่งเพียง 26 ชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟที่มีระยะทางสั้นที่สุดของนครเฉิงตูที่เชื่อมออกสู่ทะเลที่อ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย)
ในอนาคต สินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการกระจายสินค้าเข้าสู่จีนตะวันตก ผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (ท่าเรือชินโจว) หรือใช้ประโยชน์จากเส้นทางบกทางภาคอีสาน (R9 R12) ผ่าน สปป.ลาว ผ่านเวียดนาม (ด่าน Tra Linh จังหวัด Cao Bang) เข้าสู่ด่านสากลทางบกหลงปัง อำเภอระดับจิ้งซี เมืองไป่เซ่อ เพื่อลำเลียงสินค้าผ่านโครงข่ายรถไฟขนส่งสินค้าของเมืองไป่เซ่อได้อีกทางด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxbszx.gov.cn (百色政协网) วันที่ 24 ตุลาคม 2566