เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ได้มีพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) ที่มีตารางเวลาประจำ เส้นทางจีน-สปป.ลาว และจีน-เวียดนาม เที่ยวปฐมฤกษ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกรมพาณิชย์ สำนักงานศุลกากร และการรถไฟมณฑลยูนนาน โดยออกจากสถานีรถไฟเหยียนเหอในเมืองยวี่ซีของมณฑลยูนนาน จากนั้น ขบวนเส้นทางจีน-สปป.ลาวจะผ่านด่านรถไฟโม่ฮานไปยังเวียงจันทน์ของสปป.ลาว โดยใช้เวลาประมาณ 26 ชั่วโมง ขณะที่ ขบวนเส้นทางจีน-เวียดนามจะเปลี่ยนไปใช้รางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตรที่อำเภอเหอโข่ว ก่อนผ่านด่านรถไฟเหอโข่วไปยังจังหวัดหล่าวกายของเวียดนาม โดยใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง
ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) ที่มีตารางเวลาประจำดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมบทบาทของมณฑลยูนนานในการเป็น “สะพานเชื่อมต่อ” ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน โดยใช้ประโยชน์จากการขนส่งระบบรางที่มีความปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีความตรงต่อเวลา และมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยรักษาความสดใหม่ของสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง
เนื่องจากมณฑลยูนนานมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติซึ่งเพาะปลูกผักและผลไม้ได้หลากหลายชนิดตลอดปี ส่งผลให้มณฑลยูนนานมีผลผลิตผักสดสูงถึงปีละกว่า 28 ล้านตันและมีผลผลิตผลไม้มากกว่าปีละ 13 ล้านตัน ในจำนวนนี้ แต่ละปีมีการส่งออกผักและผลไม้ไปยังประเทศอาเซียนประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) ที่มีตารางเวลาประจำทั้งเส้นทางจีน-สปป.ลาว และจีน-เวียดนาม จะสามารถช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรของมณฑลยูนนานได้อีกปีละกว่า 50,000 ตัน ขณะเดียวกัน ผลไม้เขตร้อนทั้งจากไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ก็สามารถส่งออกไปยังจีนได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง ปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน
โดยในระยะแรกของการเปิดใช้งาน ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) เส้นทางจีน-สปป.ลาว จะให้บริการวันละ 1 ขบวน ขณะที่ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) เส้นทางจีน-เวียดนาม จะให้บริการสัปดาห์ละ 1 ขบวน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประเมินอุปสงค์-อุปทานและปรับความถี่ของขบวนรถไฟต่อไป
ทั้งนี้ นอกเหนือจากด่านโม่ฮานซึ่งเป็นช่องทางหลักที่ไทยส่งออกผลไม้ไปยังมณฑลยูนนานอยู่แล้ว สำหรับเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาวซึ่งเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ครบ 22 เดือนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ได้ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 26.8 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เป็นสินค้าข้ามแดนกว่า 5.50 ล้านตัน ที่สำคัญคือ เป็นการขนส่งผักและผลไม้รวมกว่า 83,500 ตัน แบ่งเป็น นำเข้าผลไม้เข้าจีนกว่า 72,500 ตัน และส่งออกผักและผลไม้ออกจากจีนกว่า 11,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,200 ล้านหยวน
ขณะที่ นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน (เหอโข่ว)-เวียดนาม (หล่าวกาย) ได้เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามแดนเป็นต้นมา ก็ได้ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 4,100 ขบวน คิดเป็นปริมาณสินค้า ข้ามแดนกว่า 1.6 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ด่านรถไฟเหอโข่วยังไม่ได้เป็น “ด่านจำเพาะ เพื่อการนำเข้าผลไม้” ดังนั้น เส้นทางรถไฟจีน-เวียดนามจึงยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศผ่านด่านรถไฟเหอโข่วได้โดยตรง จึงต้องใช้การขนส่งหลากรูปแบบ โดยสับเปลี่ยนจาก “ราง” ไปใช้ “ถนน” เพื่อผ่านด่านเหอโข่วเข้าจีน ก่อนจะกลับมาใช้ “ราง” ช่วงภายในจีนต่อไป
ในส่วนของเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมเข้าไปในเมียนมา แต่ก็ได้มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟช่วงภายในมณฑลยูนนานถึงชายแดนจีน-เมียนมาซึ่งเชื่อมการขนส่งทางบกต่อไปยังเมียนมาแล้ว ได้แก่ เส้นทางคุนหมิง-เป่าซานซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 โดยในอนาคตจะขยายเส้นทางไปถึงเมืองรุ่ยลี่ และเส้นทางรถไฟคุนหมิง-หลินชางซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยสถานีรถไฟเป่าซานเหนือมีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 3.2 ล้านตัน และสถานีหลินชางมีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 1 ล้านตัน
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/BOjZBHgc52Hz3spLTFsSnQ https://yn.yunnan.cn/system/2023/10/16/032793490.shtml