“อาหารซาเซี่ยน” หรือ “ซาเซี่ยนเสี่ยวชือ” (Shaxian Snacks) เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของอำเภอซาเซี่ยน เมืองซานหมิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในจีน และได้รับการขึ้นบัญชีมรดกที่จับต้องไม่ได้ระดับมณฑล อาหารซาเซี่ยนประกอบด้วยอาหารว่างหลากหลายชนิด อาทิ บะหมี่ต้มในซุปกระดูกพร้อมซอสถั่วลิสง เกี๊ยวนึ่ง ซุปตุ๋น ซาลาเปา และเกี๊ยวไส้เผือก ปัจจุบัน ความนิยมของอาหารซาเซี่ยนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปิดร้านอาหารซาเซี่ยนมากกว่า 88,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และเจียงซู โดยเมืองหลักที่มีการเปิดร้านอาหารซาเซี่ยนมากเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ เมืองเฉวียนโจว ตงก่วน เซี่ยเหมิน กว่างโจว เซินเจิ้น หวู่ฮั่น เจิ้งโจว และหนานจิง และกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมการจ้างงานของชาวจีนกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้มากกว่า 5 หมื่นล้านหยวนต่อปี
เมื่อปี 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปอำเภอซาเซี่ยนเพื่อย้ำทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยนอย่างยั่งยืน
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยนของเมืองซานหมิงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและสามารถช่วยพลิกฟื้นให้เมืองซานหมิงหลุดพ้นจากความยากจนและสร้างรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นมีดังนี้
3.1 การสนับสนุนด้านนโยบายจากส่วนกลาง ตั้งแต่ปี 2542 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กำหนดทิศทาง การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยนตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารมณฑลฝูเจี้ยน และปัจจุบันรัฐบาลจีนให้ความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยนในการเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจน ภายใต้แผนพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ ฉบับที่ 14 (ปี พ.ศ. 2564 – 2568) ของจีน อาทิ การจัดตั้งสินเชื่ออุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยน และเงินอุดหนุนสำหรับการเปิดร้านอาหารซาเซี่ยน ฯลฯ ทั้งนี้ เมืองซานหมิงประสบความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ต่อหัวของเกษตรกรจาก 2,805 หยวนในปี 2540 เป็น 30,528 หยวนในปี 2566
3.2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารซาเซี่ยน เมืองซานหมิง บนพื้นที่ 550 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีด้านอาหารมากกว่า 24 แห่ง เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของอาหาร ตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ ขนส่ง และแปรรูป โดยมีตัวอย่างวิสาหกิจชั้นนำ อาทิ บริษัท Xinmanyuan Food Technology จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตอาหารซาเซี่ยนด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ นอกจากนี้ เมืองซานหมิงยังส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารซาเซี่ยนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีการอบแห้งแบบแช่เยือกแข็ง และเทคโนโลยี Cold plasma หรือเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารโดยไม่ใช้ความร้อน ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารซาเซี่ยนด้วย
3.3 การส่งเสริมอาหารซาเซี่ยนควบคู่กับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยสนับสนุนการสร้างศูนย์ฝึกสอนทำอาหารซาเซี่ยน การสร้างสถานที่แสดงทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ด้านอาหารซาเซี่ยน เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเมื่อปี 2565 อำเภอซาเซี่ยนของเมืองซานหมิงได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านคน และสร้างรายได้มากกว่า 3 พันล้านหยวน
3.4 การใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์อาหารซานเซี่ยนผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อสังคมออนไลน์ สนับสนุนการใช้สื่อหลักและสังคมออนไลน์เผยแพร่ความนิยมอาหารซาเซี่ยนกลายเป็น “อาหารประจำชาติ” โดยสนับสนุนให้รายการโทรทัศน์และบุคคลที่มีชื่อเสียงนำอาหารซาเซี่ยนสอดแทรกในเนื้อหารายการ รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาอาหารซาเซี่ยน โดยกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลฝูเจี้ยนผ่านโปรแกรม TikTok ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 10 ล้านครั้ง
โดยสรุป อุตสาหกรรมการผลิตอาหารซาเซี่ยนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างรายได้แก่ชาวท้องถิ่นของเมืองซานหมิงและมีส่วนช่วยให้ชาวชนบทในเมืองซานหมิงหลุดพ้นจากความยากจน จากปัจจัยส่งเสริมด้านนโยบายจากรัฐบาลจีนกลาง การยกระดับการผลิตและการแปรรูปอาหารด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ตลอดจนการการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งผลได้รับความนิยมและสามารถเผยแพร่ไปยังกว่า 66 ประเทศทั่วโลก
แหล่งอ้างอิง https://m.kunming.cn/news/c/2023-06-16/13720890.shtml#/ http://www.fj.chinanews.com.cn/news/2023/2023-06-19/526809.html