ศักยภาพของมณฑลหูหนานในการจัดงาน 2023 World Computing Conference

ช่วงวันที่ 15-16 กันยายน 2566 มณฑลหูหนานได้จัดงาน 2023 World Computing Conference ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเป่ยเฉินนครฉางซา ภายใต้หัวข้อหลัก “พลังการประมวลผลสร้างอนาคต-การเปลี่ยนแปลงใหม่ในอุตสาหกรรมการประมวลผล” ซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลหูหนาน และกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีน

มณฑลหูหนานถือเป็นแหล่งกำเนิดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super Computer) ของจีน โดยในปี 2526 มหาวิทยาลัย National University of Defense Technology ซึ่งตั้งอยู่ที่นครฉางซา ได้พัฒนาและผลิตซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของจีน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการคำนวณและการประมวลผลในมณฑลหูหนาน จนปัจจุบัน มณฑล
หูหนานมีพลังการประมวลผลรวมมากกว่า 5000P Flops (หน่วยวัดสมรรถนะในการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำได้ใน 1 วินาที) และมีสถานีฐาน 5G รวมสะสม 115,000 แห่ง สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน ขณะเดียวกัน อัลกอริทึม (Algorithm) และการประมวลผลยังช่วยให้ธุรกิจสำคัญของมณฑลหูหนาน เช่น เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2565 มณฑลหูหนานมีขนาดของอุตสาหกรรมการประมวลผลมากกว่า 250,000 ล้านหยวน และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลทะลุหลัก 1,500,000 ล้านหยวน

นอกเหนือจากความสำคัญด้านพลังการประมวลผลแล้ว มณฑลหูหนานยังมีจุดเด่นด้านปัจจัยอื่นที่มีส่วนช่วยให้พลังการประมวลผลของมณฑลแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เช่น ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS) โดยในปี 2565 ขนาดของอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ารวม 38,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของมูลค่าอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วของทั้งประเทศ รวมถึงการเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมด้านดิจิทัลมากมาย เช่น Internet Yuelu Summit และ International Summit on BDS Applications

นอกจากนี้ มณฑลหูหนานยังเป็นแหล่งรวมของบริษัทชั้นนำและนิคมอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศมากมายเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 และศูนย์วิจัยและพัฒนาในมณฑลหูหนาน เช่น บริษัทซังฟอร์ เทคโนโลยี (Sangfor Technologies) ผู้ผลิตโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที คลาวด์ และโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริษัท Wondershare บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาและผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ขณะเดียวกัน นครฉางซายังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลโดยเฉพาะที่เป็นระดับชาติถึง 4 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์ (Internet of Vehicles: IoV) เขตสาธิตการพัฒนานวัตกรรมอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet) และเขตนำร่องนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมสื่อวิดีทัศน์วัฒนธรรมและความสร้างสรรค์หม่าหลานซาน (Malanshan Video Cultural and Creative Industrial Park) ซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญของจีน เน้นการดำเนินงานด้านวิดีทัศน์ดิจิทัล การซื้อขายลิขสิทธิ์ การวิจัยและพัฒนาซอฟแวร์

ที่มา: https://www.hunan.gov.cn/hnszf/hnyw/sy/hnyw1/202309/t20230915_29485437.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]