“ปุ๋ยเคมี” เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของประเทศเกษตรกรรม รวมถึงประเทศไทย โดยปุ๋ยเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลายที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยประเทศจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีอันดับหนึ่งของไทย
จากสถิติของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่า ปี 2565 ประเทศจีนส่งออกปุ๋ยเคมี (พิกัดศุลกากร 3102-3105) มายังประเทศไทยรวม 758,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,728 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium Sulfate) มากที่สุด คิดเป็น 41.08% ของการส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งหมด หรือราว 311,677 ตัน โดยมีมณฑลยูนนานเป็นแหล่งส่งออกปุ๋ยเคมีสำคัญ รองลงมาคือ มณฑลหูเป่ย มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลซานตง และมณฑลเจียงซู
ขณะที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงถือเป็น “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในวงการส่งออกปุ๋ยเคมีของจีน โดยพบว่า หลายปีมานี้ ปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมีของกว่างซีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี 131,503 ตัน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 (131,232 ตัน) และเพิ่มขึ้น 543% จากปี 2563 (85,176 ตัน)
เพื่อส่งเสริมการค้าปุ๋ยเคมีและอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เมื่อไม่นานมานี้ เมืองเป๋ยไห่ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เมืองท่าสำคัญรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ได้เปิดตัว ‘โกดังปุ๋ยเคมี’ ที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติในบริเวณเขตปฏิบัติการท่าเทียบเรือเถ่ซานก่าง (铁山港) ภายในท่าเรือเป๋ยไห่ ซึ่งประกอบด้วยโกดัง 3 หลัง ความจุของพื้นที่ราว 180,000 ตัน ได้รับการออกแบบให้รองรับปริมาณการขนถ่ายปุ๋ยเคมีได้ปีละ 2.5 ล้านตัน
ความคืบหน้าล่าสุด โกดังอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ระบบสายพานลำเลียง (สายพานเชื่อมระหว่าง 3 โกดังกับท่าเทียบเรือ รวมความยาวกว่า 3 กิโลเมตร / เครื่อง) เครื่องพลิกผสม ระบบอัดอากาศ ระบบจ่ายไฟ รวมถึงระบบควบคุมส่วนกลาง (central control system) ที่ช่วยให้การลำเลียงปุ๋ยเคมีขึ้นเรือสินค้าทำงานได้แบบอัตโนมัติ ระบบรางรถไฟเฉพาะสำหรับการลำเลียงสินค้า และลานพักตู้สินค้า โดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปี 2566 นี้
รู้หรือไม่… ท่าเรือเป๋ยไห่เป็นท่าเรือแห่งแรกของจีนที่ประเทศออสเตรเลีย
ได้มอบหนังสือรับรองการเป็นท่าเรือที่มีความเสี่ยงต่ำสำหรับการส่งออกปุ๋ยเคมี
นายเจิ้ง กั๋วฮุย (Zheng Guohui/郑国辉) เจ้าหน้าที่ดูแลงานติดตั้งเครื่องจักรภายในโกดังจากบริษัท Installation Engineering Co., Ltd. Of CCCC First Harbor Engineering Co., Ltd. (中交一航局安装公司) เปิดเผยว่า โกดังแห่งนี้เป็นโกดังปุ๋ยเคมีแห่งแรกของเมืองเป๋ยไห่ มีฟังก์ชันพร้อมในการจัดเก็บ ลำเลียงและขนถ่าย (transship) ปุ๋ยเคมีระหว่างกว่างซีกับหัวเมืองอื่นในประเทศจีนและต่างประเทศผ่านทางทะเล
นอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการในการขนส่งปุ๋ยเคมีทางเรือแล้ว ความทันสมัยของอุปกรณ์ติดตั้งภายในโกดังและท่าเทียบเรือยังช่วยลดปัญหาเรือบรรทุกสินค้าค้างท่า ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าแก่ภาคธุรกิจบริเวณท่าเรือเป๋ยไห่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือเป๋ยไห่
วิจัยกรุงศรีคาดการณ์อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในระหว่างปี 2566-2568 จะเติบโตในอัตราต่ำ โดยราคาปุ๋ยเคมีเฉลี่ยในประเทศมีแนวโน้มปรับลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังอยู่บนฐานที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยที่มีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่องตามราคาพลังงาน ขณะที่ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปีจากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรที่เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ทำการเกษตร
ข้อมูลปี 2565 พบว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีรายใหญ่อันดับ 4 ของกว่างซี (รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และบราซิล) คิดเป็นปริมาณ 37,911 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน และบางส่วนจากท่าเรือเป๋ยไห่
บีไอซี เห็นว่า ท่าเรือเป๋ยไห่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ค้าปุ๋ยเคมีจีน(กว่างซี)กับไทย เนื่องจากมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นการเฉพาะสำหรับปุ๋ยเคมี และการขนส่งทางเรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งทางบกหลายเท่า อีกทั้ง ท่าเรือแห่งนี้ยังมีจุดแข็งด้านที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศไทย เป็นข้อต่อเชื่อมโยงจีนตะวันตกกับต่างประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC)
จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gdfs.customs.gov.cn (中国海关总署) วันที่ 7 กันยายน 2566
เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民网-广西频道) วันที่ 31 สิงหาคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (新华网-广西频道) วันที่ 30 สิงหาคม 2566
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)
ภาพประกอบ http://gx.people.com.cn
www.gx.xinhuanet.com