ไฮไลท์
- ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port) ได้เริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือขนสินแร่และสินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของประเทศจีน สามารถรองรับเรือขนาด 2 แสนตัน มีมูลค่าการลงทุน 1,937 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
- โครงการดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีก้าวขึ้นสู่ท่าเรือนานาชาติ โดยมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 24 ล้านตัน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากแนวชายฝั่งทะเลน้ำลึกของเมืองฝางเฉิงก่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตอบสนองความต้องการในการขนส่งสินค้าของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลเมืองฝางเฉิงก่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมแบบครบวงจร
- ท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นอีกหนึ่งท่าเรือที่ได้พัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” แล้ว โดยรถไฟสามารถวิ่งเข้าไปถึงบริเวณท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงจากเรือ ช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่าง “เรือ+ราง” ทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นโอกาสสำหรับผู้ค้าไทยในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่จีนตอนใน โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านระยะทางที่ใกล้ ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ถูก รวมถึงระยะเวลาการขนส่งและการดำเนินพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2563 ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port/防城港港口) ได้เริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือขนสินแร่และสินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิบัติการชื่อซา เป็นท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือขนาด 2 แสนตัน มีมูลค่าการลงทุน 1,937 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือได้รับการออกแบบและก่อสร้างเผื่อไว้สำหรับรองรับเรือขนาด 3 แสนตัน
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือในเขตปฏิบัติการชื่อซา ประกอบด้วยท่าเทียบเรือขนาด 2 แสนตัน จำนวน 2 ท่า เป็นโครงการที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีก้าวขึ้นสู่ท่าเรือนานาชาติ เมื่อก่อสร้างเสร็จ จะมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 24 ล้านตัน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากแนวชายฝั่งทะเลน้ำลึกของเมืองฝางเฉิงก่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตอบสนองความต้องการในการขนส่งสินค้าของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลเมืองฝางเฉิงก่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมแบบครบวงจร
ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซี หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย ประกอบด้วย 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือศูนย์กลาง) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (ปีกซ้าย) และท่าเรือเป๋ยไห่ (ปีกขวา) เป็นกลุ่มท่าเรือที่เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันและแบ่งหน้าที่หลักให้แต่ละท่าเรือ โดยท่าเรือชินโจวจะเน้นการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก ขณะที่ท่าเรือฝางเฉิงก่างจะเน้นการขนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ และท่าเรือเป๋ยไห่จะเน้นการขนส่งสินค้าและการเป็นท่าเรือสำราญ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นอีกหนึ่งท่าเรือที่ได้พัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” แล้ว โดยรถไฟสามารถวิ่งเข้าไปถึงบริเวณท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงจากเรือ ช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่าง “เรือ+ราง” ทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบทั่วไป แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) และแบบเปิดด้านบน (Open Top) ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง
โอกาสสำหรับประเทศไทย ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือของประเทศจีนที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่ง “เรือ+ราง” เพื่อขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่จีนตอนใน โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านระยะทาง ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งและการดำเนินพิธีการศุลกากรที่มีรวดเร็ว
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.xinhuanet.com (新华社新媒体) วันที่ 05 ตุลาคม 2563
เว็บไซต์ www.bbrtv.com (北部湾在线–新媒体) วันที่ 30 กันยายน 2563
เว็บไซต์ www.fcgsnews.com (防城港市新闻网) วันที่ 29 กันยายน 2563
ภาพประกอบ www.thepaper.cn
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู