ไฮไลท์
- ท่าเรือชินโจวนำเรือขุด “เทียนคุนฮ่าว” (Tian Kun Hao/天鲲号) ซึ่งเป็นเรือขุดลอกพื้นใต้ทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย มาใช้ในโครงการขยายร่องน้ำเดินเรือทางคู่สำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือชินโจวเพื่อตอบสนองความต้องการในการทำการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือแห่งนี้
- ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวกำลังทวีบทบาทการเป็น Hub ขนถ่ายสินค้าในระบบการค้าต่างประเทศที่โดดเด่นมากขึ้นทุกขณะ ความได้เปรียบทางกายภาพของท่าเรือ อาทิ ที่ตั้งอยู่ใกล้อาเซียน การเป็นกลุ่มท่าเรือแห่งเดียวของภาคตะวันตก ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ท่าเทียบเรือกับสถานีรถไฟขนส่งตู้สินค้าเชื่อมแบบไร้รอยต่อ นโยบายสนับสนุนจากส่วนกลางอย่างเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว และระบบพิธีการศุลากรที่รวดเร็วและทันสมัย ทำให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือชินโจวเพื่อทำการค้ามากยิ่งขึ้น
- สำหรับประเทศไทย ท่าเรือชินโจวเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้ว โดยมีสายเรือ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC (3 เที่ยว) บริษัท PIL และบริษัท EMC ให้บริการรวมสัปดาห์ละ 5 เที่ยว ซึ่งเส้นทางบริการขนส่งตรงใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วันเท่านั้น
ท่าเรือชินโจวนำเรือขุด “เทียนคุนฮ่าว” (Tian Kun Hao/天鲲号) ซึ่งเป็นเรือขุดลอกพื้นใต้ทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย มาใช้ในโครงการขยายร่องน้ำเดินเรือฝั่งตะวันออกให้เป็นร่องน้ำทางคู่เฟสแรกสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 1 แสนตัน โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือชินโจวในการรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในการทำการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลภาคตะวันตกของจีน
เรือขุดทรงพลังลำนี้ ตั้งชื่อตามพญามัจฉาในตำนานของจีนที่สามารถแปลงกายเป็นพญาปักษาได้ มีความยาว 140 เมตร กว้าง 27.8 เมตร สามารถปฏิบัติการที่ความลึก 35 เมตรจากผิวน้ำ บริษัท China State Shipbuilding Corp. หรือ CSSC (中国船舶工业集团有限公司) ซึ่งเป็นสถาบันที่ออกแบบเรือขุดลำดังกล่าว และสื่อมวลชนได้ขนานนามเรือลำนี้ว่า “เรือเนรมิตเกาะเทียม”
ด้วยความทรงพลังของเรือขุดลอกพื้นใต้ทะเลได้ในหลายสภาพแวดล้อม ทั้งพื้นโคลน พื้นทราย พื้นหิน และพื้นที่เป็นแนวปะการัง โดยจะตักและดูดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจากก้นทะเลได้มากถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ลำเลียงผ่านท่อไปทิ้งได้ไกล 15 เมตร หัวสว่านมีกำลังมากกว่า 6,000 กิโลวัตต์ สามารถขุดเจาะหินที่มีความแข็ง 50 mPa (เคยประสบความสำเร็จในการขุดเจาะหินที่ความแข็ง 70 mPa) ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้ 50%
การนำเรือขุด “เทียนคุนฮ่าว” มาช่วยปฏิบัติการขยายร่องน้ำเดินเรือในท่าเรือชินโจวในครั้งนี้ จะเป็นการขุดลอกร่องน้ำระยะทาง 4,000 เมตร คิดเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมดราว 1.6 ล้าน ตร.ม. โดยเรือขุดลำนี้จะปฏิบัติการร่วมกับเรือและอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ที่สำนักงานเจ้าท่าชินโจวได้ทยอยติดตั้งไว้ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นท่อลำเลียงใต้น้ำความยาว 1,800 กว่าเมตร ท่อลำเลียงลอยน้ำ 400 กว่าเมตร และเรือสมอ 5 ลำ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564
โครงการขยายร่องน้ำเดินเรือฝั่งตะวันออกของท่าเรือชินโจวเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (International Land and Sea Trade Corridor-ILSTC) และเป็น Key project ในการพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (หรือคนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เป็นท่าเรือระดับนานนาชาติ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวกำลังทวีบทบาทการเป็น Hub ขนถ่ายสินค้าในระบบการค้าต่างประเทศที่โดดเด่นมากขึ้นทุกขณะ ความได้เปรียบทางกายภาพของท่าเรือ (ที่ตั้งอยู่ใกล้อาเซียนและการเป็นกลุ่มท่าเรือแห่งเดียวของภาคตะวันตก) และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ท่าเทียบเรือกับสถานีรถไฟขนส่งตู้สินค้าเชื่อมแบบไร้รอยต่อ นโยบายสนับสนุนจากส่วนกลางอย่างเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว และระบบพิธีการศุลากรที่รวดเร็วและทันสมัย) ทำให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือชินโจวเพื่อทำการค้ามากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ท่าเรือชินโจวเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้ว โดยมีสายเรือ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC (3 เที่ยว) บริษัท PIL และบริษัท EMC ให้บริการรวมสัปดาห์ละ 5 เที่ยว ทุกวันจันทร์ 2 เที่ยว และวันพุธ ศุกร์ อาทิตย์วันละ 1 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางบริการขนส่งตรง จำนวน 3 เส้นทาง ที่ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วันเท่านั้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 22 ตุลาคม 2563
เว็บไซต์ www.eworldship.com (国际船舶网)
ภาพประกอบ www.guang-an.gov.cn และ www.stdaily.com