ไฮไลท์
- เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) ของนครหนานหนิง เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกลางได้มอบนโยบายให้เป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” ปัจจุบัน มีภาคธุรกิจเข้ายึดหัวหาดในพื้นที่แห่งนี้แล้วกว่า 4,000 ราย รวมถึงบริษัท BrandZ Top 100 Most Valuable Global Brand บริษัท Top 500 Enterprises ของประเทศจีนและของโลก ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นและตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และธุรกิจในสาขาต่างๆ
- ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจการเงินของนครหนานหนิงมีการขยายตัวที่รวดเร็ว ดัชนีภาคการเงินต่างๆ ขยายตัวอย่างเด่นชัด อาทิ มูลค่าเพิ่มในภาคการเงิน การชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน มูลค่าการระดมทุนโดยตรงจากตลาดทุน บริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงจำนวนกองทุนร่วมและการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ
- สำหรับธุรกิจต่างชาติ นอกจากนครหนานหนิงจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่พร้อมรองรับการลงทุนแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ลดแลกแจกแถมอีกมากมาย โดยรัฐบาลกว่างซีได้เน้นย้ำว่าธุรกิจต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามาขยายธุรกิจในจีน รวมถึงภาคการเงินและการธนาคารของไทยด้วย
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ของจีน (ระหว่างปี 2559-2563) “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่ที่ได้รับนโยบายพิเศษจำนวนมากจากรัฐบาลกลาง ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปเปิดสู่ภายนอก และการพัฒนานวัตกรรมของนครหนานหนิงให้ไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor-ILSTC) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) ประตูการเงินจีน-อาเซียน เขตทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จีน(หนานหนิง)แบบครบวงจร และศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือทางบกระดับประเทศ(ชุดแรก)
เมื่อย่างก้าวเข้าไปที่ “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town (中国—东盟金融城) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ภาพที่เห็นคือ ป่าคอนกรีตสูงระฟ้าที่เป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินและวิสาหกิจระดับชั้นนำจำนวนมาก ยุทธศาสตร์ “ประตูการเงินสู่อาเซียน” ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่รัฐบาลกลางมอบให้กับเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง(นครหนานหนิง) ช่วยดึงดูดให้ธุรกิจการเงิน รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ตบเท้าเข้ายึดหัวหาดในพื้นที่แห่งนี้อย่างคึกคัก
นครหนานหนิงได้กำหนดฟังก์ชันย่านการเงินจีน-อาเซียน ออกเป็น 4 โซน ได้แก่
พัฒนาการช่วง 5 ปี ในแผนพัฒนาฯ พบว่า ภาคธุรกิจการเงินของนครหนานหนิงมีการขยายตัวที่รวดเร็ว ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ร้อยละ 1.1 จุด ตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของนครหนานหนิงในปี 2562 มีดังนี้
- มูลค่าเพิ่มภาคการเงิน คิดเป็น 36% ของทั้งมณฑล เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ขยายตัว 1.5 เท่า
- มูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน มีมูลค่า 66,311 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 224.34% (YoY) คิดเป็น 42% ของทั้งมณฑล เมื่อเทียบกับปี 2558 ขยายตัว 2.8 เท่า
- ยอดสินเชื่อคงเหลือที่เป็นสกุลเงินหยวน คิดเป็น 47% ของทั้งมณฑล
- จำนวนบริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ คิดเป็น 39% ของทั้งมณฑล
- มูลค่าการระดมทุนโดยตรงจากตลาดทุน 81,327 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 50.79% คิดเป็น 61% ของทั้งมณฑล
- กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) มีการลงทุนเพิ่มใหม่ 7 โครงการ รวมมูลค่า 89,945 ล้านหยวน และนครหนานหนิงเป็นเมืองแรกในมณฑลที่เริ่มจัดตั้งกองทุนใจดี (Angel Investment Fund)
- ตราสารหนี้ออกใหม่ 24 รายการ รวมมูลค่า 14,200 ล้านหยวน จำนวนและมูลค่าของตราสารหนี้คิดเป็น 5.5 เท่าและ 5.66 เท่า ของปี 2558
- การพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน 70 รายการ ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ใน 19 พื้นที่ย่อยของเขตทดลองการค้าเสรีจีนชุดที่ 5 (มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเหอเป่ย มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)
ปัจจุบัน นครหนานหนิงมีสถาบันการเงินประเภทธนาคารเข้าจัดตั้งกิจการแล้ว 49 ราย ธุรกิจประกันภัย 47 ราย และบริษัทหลักทรัพย์ 26 ราย เฉพาะใน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” มีบริษัทเข้าจัดตั้งธุรกิจแล้วกว่า 4,000 ราย มีบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ 100 แบรนด์ที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลก (BrandZ Top 100 Most Valuable Global Brand) จำนวน 10 ราย บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของประเทศจีนและของโลก จำนวน 62 ราย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินและตลาดทุน เช่น สาขาของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นและตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ อีกด้วย
นครหนานหนิง ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 มูลค่าเพิ่มภาคการเงินจะพุ่งทะลุ 1 แสนล้านหยวน สถาบันการเงินประเภทต่างๆ จะเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในย่านการเงินจีน-อาเซียนมากกว่า 300 ราย มูลค่าการระดมทุนโดยตรงจากตลาดทุนจะทะลุ 1.2 แสนล้านหยวน บริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มีจำนวนมากกว่า 70 ราย มูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนแตะ 1 แสนล้านหยวน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นโยบายที่รัฐบาลกลางมอบให้กับนครหนานหนิง ทำให้การเป็น “ศูนย์กลางการเงินจีน-อาเซียน” ของนครหนานหนิงมีความเด่นชัดมากขึ้นทุกขณะ นอกเหนือจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้มีความพร้อมรองรับการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง (Real economy) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงแล้ว ในระดับมหภาค รัฐบาลกลางยังสนับสนุนให้มณฑลแห่งนี้เป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้สกุลเงิน “หยวน” ของจีนก้าวสู่สากล โดยมุ่งเป้าการพัฒนาสกุลเงินหยวนในการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียน
สำหรับธุรกิจการเงินและการธนาคารจากต่างประเทศ (รวมถึงธุรกิจในสาขาอื่นด้วย) นอกจากสิทธิประโยชน์จำนวนมากของการเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในเขตเมืองใหม่แห่งนี้ ยังมีการให้เงินรางวัล เช่น เงินรางวัลในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่สูงสุด 8 ล้านหยวน และเงินรางวัลสำหรับการดำเนินธุรกรรมการเงินกับธนาคารในอาเซียน การให้เงินอุดหนุน เช่น เงินอุดหนุนการเช่า/ซื้ออาคารสำนักงานสูงสุด 6 ล้านหยวน เงินอุดหนุนพิเศษสำหรับนักการเงินและผู้บริหารระดับสูงจากต่างประเทศ การให้สิทธิการใช้ที่ดิน และการให้ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากธุรกิจต่างชาติ เน้นว่าธุรกิจต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน โดยได้พัฒนาระบบการบริการสำหรับนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และพัฒนากลไกการทำงานเพื่อให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุน รวมถึงเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้ามาขยายธุรกิจในจีน รวมถึงภาคการเงินการธนาคารไทยด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์หนานหนิง เดลี่ (南宁日报) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
ภาพประกอบ www.gx.xinhuanet.com