เพื่อติดตามพัฒนาการของการเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ กับกรอบความร่วมมือ GBA ศูนย์ BIC จึงได้เดินทางไปยังเมืองจีนแต้จิ๋ว และวันนี้ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองแต้จิ๋วพร้อมลู่ทางทางธุรกิจมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่านให้รับทราบกัน
เมืองแต้จิ๋วประกอบด้วย 4 เมืองหลัก ได้แก่ เมืองซัวเถา เมืองเจียหยาง เมืองซ่านเหว่ย และเมืองเฉาโจว โดยกลุ่มเมืองทั้ง 4 ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งและเป็นกลุ่มเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับเมืองภายใต้กรอบความร่วมมือ GBA เมืองแต้จิ๋วมีประชากรรวม 17.42 ล้านคน (ร้อยละ 15 ของมณฑลกวางตุ้ง และมี GDP รวมกัน 6.96 แสนล้านหยวน (1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นร้อยละ 6.9 ของมณฑลกวางตุ้ง
กลุ่มเมืองแต้จิ๋วเหล่านี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทุกท่านอาจทราบว่า คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากมีบรรพบุรุษมาจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งส่วนมากก็มาจากเมืองแต้จิ๋วเหล่านี้นี่เอง ทั้งสองฝ่ายจึงมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ในปัจจุบันจึงยังมีการไปมาหาสู่ระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลในไทยกับกลุ่มเมืองแต้จิ๋วเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเมืองแต้จิ๋วกับชาวจีนโพ้นทะเลในไทย
เรามาดูเมืองซัวเถากันก่อน ซัวเถาเป็น 1 ใน 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีนตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนและแม้ที่ผ่านมาจะได้ชื่อว่า เป็นเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาช้าที่สุดในบรรดาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 3 เขต คือเซินเจิ้น จูไห่ และเซี่ยเหมิน แต่เมืองซัวเถาก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่น่าศึกษาเช่นกัน โดยรัฐบาลเมืองมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็น “ท่าเรือสำคัญทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน” และ “ศูนย์กลางรองของมณฑลกวางตุ้ง” โดยอุตสาหกรรมหลักที่น่าสนใจของเมืองซัวเถา คือ การผลิตของเล่น โดยเมืองซัวเถาเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในจีน นักธุรกิจไทยจึงสามารถมาลงทุนในพื้นที่หรือทำการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจในเมืองซัวเถาเพื่อศึกษาการผลิตของเล่นที่หลากหลายในต้นทุนที่ถูกกว่าในไทย และสามารถส่งกลับไปขายที่ไทยและทั่วโลกได้
มาต่อกันที่เมืองเจียหยาง ซึ่งได้พัฒนาเขตอุตสาหกรรมสำคัญ 4 เขต ได้แก่ เขตด้านตะวันออก เขตด้านตะวันตก เขตด้านใต้ และเขตส่วนกลางของเมือง ซึ่งแต่ละเขตมีการเน้นอุตสาหกรรมด้านที่แตกต่างกัน เช่น เขต Eastern Jiedong Economic Development Zone เน้นอุตสาหกรรมพลาสติก อาหาร และโลหะเขต Sino-German Metal Eco-City เน้นอุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักรขั้นสูง เป็นต้น ปัจจุบันเมืองเจียหยางมีอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีการส่งออกจากเมืองเจียหยางไปอาเซียนมูลค่า 1.6 พันล้านหยวน (226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากอาเซียน 140 ล้านหยวน (19.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าสำคัญได้แก่ รองเท้า สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์จากไม้
จากการที่ศูนย์ BIC ได้พบหารือกับหน่วยงานของรัฐบาลเมืองเจียหยาง พบว่ามีการให้ความสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานอย่างประเทศไทย ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจการดำเนินธุรกิจในจีนอยู่แล้ว หันมาศึกษาตลาดเพื่อโอกาสทางธุรกิจที่เมืองนี้ โดยอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในเมืองเจียหยางคือ การผลิตรองเท้า สินค้าเกษตร สินค้าประเภทโลหะและพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากไม้ และการผลิตเครื่องจักร ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของเมืองซ่านเหว่ยนั้น มีภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ประมงและท่องเที่ยว และมีทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินที่รอการใช้ประโยชน์อีกมาก ปัจจุบัน มีการพัฒนาการเชื่อมโยงกับ GBA โดยเฉพาะกับนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น เช่น โครงการ Shen-Shan Special Cooperation Zone และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อมกับนครกว่างโจว โดยใช้เวลาเดินทาง 40 นาที นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศเมืองซ่านเหว่ย ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการเยือนเมืองซ่านเหว่ยอย่างต่อเนื่องของผู้นำสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เช่น ประธานสมาพันธ์รวมใจชาวจีนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวเมื่อ พ.ค. 58 ประธานหอการค้าไทย-จีน นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ที่เข้าร่วมงาน East Guangdong Overseas Chinese Expo ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2562 เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเมืองแต้จิ๋วกับชาวจีนโพ้นทะเลในไทย
สำหรับเมืองเฉาโจวซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเซรามิคของจีนที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกโดยอุตสาหกรรมเซรามิคของเมืองเฉาโจวนั้นมีอายุเก่าแก่นับพันปีและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องปัจจุบัน ผู้ประกอบการด้านเซรามิคได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น นวัตกรรมการพิมพ์เซรามิคแบบ 3 มิติ การอบแห้งและการเผาเซรามิคความเร็วสูงด้วยไมโครเวฟ ปัจจุบันเฉาโจวจึงกลายเป็นแหล่งผลิตเซรามิคที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องสุขภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนที่ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า 160 ประเทศ
ทั้งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกา ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่สนใจธุรกิจด้านนี้หรือผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเซรามิคอยู่แล้วและต้องการหาแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพดีไปจำหน่าย
ทั้งนี้ หากศึกษานโยบายของรัฐบาลกลางจีนตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะพบว่า รัฐบาลกลางจีนให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารสำหรับประชากรจีน เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตจะมีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลเมืองแต้จิ๋วเหล่านี้ก็ต้องการผลักดันธุรกิจด้านอาหารโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป ในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งอาหารโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทยในการลงทุนด้านดังกล่าวหรือเร่งส่งสินค้าเกษตรแปรรูปมาจำหน่ายในพื้นที่นี้เช่นกัน
—————————–
นางสาวสวนีย์ โชติจิรพรรณ เขียน
นางสาวเนตรนภา คงศรี เรียบเรียง
นายสรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.cinic.org.cn/index.php?a=show&c=index&catid=44&id=582139&m=content
http://www.customs.gov.cn/shantou_customs/596193/596220/596221/3288368/index.html