เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 กรมพาณิชย์มณฑลหูหนานแถลงรายละเอียดขอบเขตและร่างแผนการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลหูหนาน) (China (Hunan) Pilot Free Trade Zone) ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์จีน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน และรัฐบาลมณฑลหูหนาน
ในภาพรวม เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลหูหนานมีพื้นที่รวม 119.76 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ย่อย 3 แห่ง ประกอบด้วย (1) พื้นที่ย่อยฉางซา (Changsha Sub-area) ขนาด 79.98 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมเอาพื้นที่ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว นครฉางซา (Changsha Huanghua Comprehensive Bonded Zone) ขนาด 1.99 ตารางกิโลเมตรด้วย (2) พื้นที่ย่อยเยว่หยาง (Yueyang Sub-area) ขนาดขนาด 19.94 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมเอาพื้นที่ภายในเขตปลอดอากรท่าเรือเฉิงหลิงจี เมืองเยว่หยาง (Yueyang Chenglingji Comprehensive Bonded Zone) ขนาด 2.07 ตารางกิโลเมตรด้วย และ (3) พื้นที่ย่อยเชินโจว (Chenzhou Sub-area) ขนาด 19.84 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมเอาพื้นที่เขตปลอดอากรเชินโจวขนาด 1.06 ตารางกิโลเมตรด้วย
กล่าวสำหรับพื้นที่ย่อยฉางซาซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครฉางซา (Changsha Economic and Technological Development Zone) เขตปลอดอากรท่าอากาศยานนครฉางซา เขตเมืองใหม่รถไฟความเร็วสูง (High-speed Railway New Town) นิคมไฮเทค Longping และตลาดค้าส่งเกาเฉียว (Gaoqiao Grand Market) มุ่งให้ความสำคัญกับการผลักดันข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจท่าอากาศยาน การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ ยาชีวภาพ รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเป็นขอบเขตการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น รวมถึงตั้งเป้าหมายพัฒนาให้พื้นที่ย่อยแห่งนี้เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงระดับโลก ศูนย์บริการทันสมัยระดับบนในพื้นที่ตอนในของจีน ผู้นำในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกา ตลอดจนเป็นเสาหลักในการเติบโตของจีนภาคกลาง
ส่วนพื้นที่ย่อยเยว่หยางซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของเขตใหม่ท่าเรือเฉิงหลิงจี (Chenglingji New Port Area) และเขตปลอดอากรท่าเรือเฉิงหลิงจี มุ่งให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt Development Strategy) โดยกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจท่าเรือ โลจิสติกส์ทางเรือ อีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่เป็นขอบเขตการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น รวมถึงตั้งเป้าหมายพัฒนาให้พื้นที่ย่อยแห่งนี้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ทางเรือแบบครบวงจรในช่วงกลางของแม่น้ำแยงซี ตลอดจนเป็นเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าเรือในพื้นที่ตอนในของจีน
สำหรับพื้นที่ย่อยเชินโจวงซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเชินโจว (Chenzhou Hi-tech Industrial Development Zone) และเขตปลอดอากรของเมืองเชินโจว มุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมสร้างเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) โดยกำหนดให้การแปรรูปแร่ที่ไม่ใช่เหล็ก (non-ferrous metal) และโลจิสติกส์ทันสมัยเป็นขอบเขตการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น รวมถึงตั้งเป้าหมายพัฒนาให้พื้นที่ย่อยแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในพื้นที่ตอนในของจีนสำหรับการถ่ายโอนและเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม การยกระดับการค้าแปรรูป ตลอดจนการเป็นเขตสาธิตความร่วมมือระหว่างมณฑลหูหนานกับเขต GBA
นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลหูหนานเมื่อเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลมณฑลหูหนานกำหนดให้การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “3 พื้นที่สำคัญและ 4 ภารกิจใหม่” (Three Highlands and Four New Missions) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกำหนดให้มณฑลหูหนาน ได้แก่ การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำที่สำคัญของจีน การเป็นพื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน และการเป็นพื้นที่ตอนในของจีนที่ปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ภายนอก โดยแสวงหาวิธีการใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แสดงผลสำเร็จของการพัฒนารูปแบบใหม่ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่จีนภาคกลางและแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี รวมถึงการยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีนในยุคใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา มีวิสาหกิจจดทะเบียนใหม่ในเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลหูหนานรวม 705 ราย รวมถึงมีโครงการลงทุนใหม่ที่สำคัญภายในเขตการค้าเสรีแห่งนี้จำนวน 75 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 108,500 ล้านหยวน
ที่มา: http://www.enghunan.gov.cn/hneng/News/Localnews/202101/t20210104_14107400.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู