ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครฉางซาได้เร่งพัฒนาด้านยานยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicle: ICV) มาอย่างต่อเนื่อง จนมีศักยภาพทั้งในด้านการเป็นแหล่งรวมของกลุ่มบริษัทยานยนต์อัจฉริยะการยกระดับถนนให้มีความอัจฉริยะ และการประยุกต์ใช้ยานยนต์อัจฉริยะ
ในด้านการเป็นแหล่งรวมของกลุ่มบริษัทยานยนต์อัจฉริยะ ปัจจุบัน นครฉางซากลายเป็นแหล่งคลัสเตอร์ยานยนต์อัจฉริยะที่มีบริษัทมากกว่า 360 บริษัท รวมมูลค่าการผลิตปีละกว่า 20,000 ล้านหยวน บริษัทชั้นนำ เช่น Novasky บริษัทชั้นนำท้องถิ่นด้านระบบตรวจจับและเรด้าร์ และบริษัทแชฟฟ์เลอร์ (Schaeffler) ผู้นำด้านระบบพวงมาลัยและการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้ยังเร่งพัฒนาตัวยานยนต์อัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งระบบขับเคลื่อน ระบบพวงมาลัย และระบบห้องผู้โดยสาร รวมถึงเทคโนโลยีที่ประสานกันเพื่อก่อให้เกิดเป็นระบบยานยนต์อัจฉริยะ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การสื่อสาร 5G แผนที่ความละเอียดสูง ตัวส่งสัญญาณเรด้าและแสงเลเซอร์ผนวกกับกล้องจับภาพ อัลกอริทึม (Algorithms) และการวิเคราะห์ข้อมูล
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) กำหนดว่า ภายในปี 2568 มณฑลหูหนานจะสามารถผลิตรถยนต์อัจฉริยะได้มากกว่า 1 ล้านคัน/ปี หรือมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของรถยนต์ทั่วไปที่มณฑลหูหนานผลิตได้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านคัน/ปี
ด้านการยกระดับถนนให้มีความอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้ยานยนต์อัจฉริยะ นครฉางซาพัฒนาถนนให้มีความเป็นอัจฉริยะใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่
(1) พื้นที่ถนนสำหรับการทดสอบโดยเฉพาะ โดยนครฉางซาถือเป็นพื้นที่ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) ที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของจีน มีขนาดพื้นที่กว่า 1,200 หมู่ (ประมาณ 500 ไร่) ภายในประกอบด้วย ถนนสองช่องจราจรยาว 3.6 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นถนนทดสอบความเร็วสองเลนสำหรับยานยนต์อัจฉริยะที่มีระยะทางยาวที่สุดของจีน ถนนจำลองประเภทต่าง ๆ เช่น ถนนภายในตัวเมือง ถนนขรุขระแบบเส้นทางออฟโรด ถนนทางลาดและคดเคี้ยว และถนนดินโคลน รวมถึงการจำลองสถานการณ์อันตรายต่างๆ เช่น ฝนตก มีหมอก ฝุ่นละออง แสงแดดจัด การเผชิญกับรถที่มีสินค้าหล่น และการสาดกระเด็นของโคลน ทั้งนี้ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีรถหลากหลายประเภทที่เข้ารับการทดสอบในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมกว่า 8,000 ครั้ง จากบริษัทกว่า 70 ราย เช่น ไป่ตู้ (Baidu) เจดี (JD) SAIC, GAC และ CiDi รวมระยะทางของการทดสอบ 400,000 กิโลเมตร
(2) พื้นที่ถนนสาธารณะสำหรับการวิ่งทดสอบบริการยานยนต์อัจฉริยะ โดยตั้งแต่ปี 2562 นครฉางซาได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสาธารณะหรือถนนแบบเปิดเพื่อการทดสอบยานยนต์อัจฉริยะภายในเขตตัวเมือง ซึ่งปัจจุบันขยายพื้นที่จาก 100 ตารางกิโลเมตร เป็น 200 ตารางกิโลเมตร และติดตั้งเครื่องรับส่งสัญญาณที่ติดตั้งตามถนนหรือทางเดินเท้าเพื่อสื่อสารกับยานยนต์อัจฉริยะรวม 466 ชุด รวมถึงการก่อสร้างทางด่วนอัจฉริยะ 100 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นทางด่วนที่รองรับสัญญาณ 5G และเทคโนโลยีการสื่อสารจากยานพาหนะสู่ทุกสิ่ง (Vehicle-to-everything: V2X) เส้นแรกของจีน ต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 บริษัทไป่ตู้ (Baidu) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ได้ทดลองเปิดให้บริการแท็กซี่ขับขี่อัตโนมัติ (Robotaxi) ผ่านแอปพลิเคชันหรือวีแชทมินิโปรแกรม Apollo Go และถือเป็นเมืองในลำดับต้น ๆ ของจีนที่เปิดให้บริการแท็กซี่ขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมีผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนกว่า 130,000 คน/ครั้ง และผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในระดับห้าคะแนนเต็มถึงร้อยละ 94.91 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคต รถยนต์อัจฉริยะจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชนมากยิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.hn.xinhuanet.com/20230821/0189d1c6c9f84843be6d45728943bd42/c.html