• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • งาน Digital China Construction Summit ครั้งที่ 4 ดึงดูดมูลค่าการลงทุนด้านดิจิทัลกว่า 3.2 แสนล้านหยวน

งาน Digital China Construction Summit ครั้งที่ 4 ดึงดูดมูลค่าการลงทุนด้านดิจิทัลกว่า 3.2 แสนล้านหยวน

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2564 นครฝูโจวได้จัดการประชุม Digital China Construction Summit ครั้งที่ 4 ซึ่งดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลมูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านหยวน รวม 523 โครงการลงทุน ภายในงานมี 455 บริษัทเข้าร่วมจัดแสดง โดยมีบริษัท 54 แห่งที่ติดอันดับ Fortune 500 ของโลกและ Fortune 500 ของจีนเข้าร่วมจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับระบบ 5G ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ข้อมูลขนาดใหญ่ คลาวด์คอมพิวติ้ง และบล็อกเชน อาทิ Huawei Tencent Ali Dell Siemens ZTE และ Baidu ทั้งนี้ มีผู้เข้าชมงานรวมกว่า 120,000 คน

ตามข้อมูลในสมุดปกขาว Digital Economy Development in China (2021) ซึ่งจัดพิมพ์โดย China Academy of Information and Communication Technology (CAICT) ระบุว่า ในปี 2563 จีนมีมูลค่าการผลิตในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 39.2 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงการลงทุนด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตและบริการซอฟต์แวร์ ตลอดจนมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้แต่ละภาคส่วนของสังคมหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การใช้หุ่นยนต์ตั้งแต่ในโรงพยาบาลไปถึงสถานศึกษาและร้านอาหาร การศึกษาและการทำงานผ่านระบบออนไลน์ การพัฒนารหัสสุขภาพเพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนโดดเด่นมากในภาคการเงินโดยเฉพาะการชำระเงินในภาคการค้าปลีก เช่น ในปี 2562 จีนมีผู้ใช้งานระบบซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม WeChat ของบริษัท Tencent Holdings กว่า 60 ล้านคน

สมุดปกขาวของ CAICT ยังประเมินว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจดิจิทัลจีนมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 8.9 ของอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 21 ของอุตสาหกรรมการผลิต และร้อยละ 40.7 ของอุตสาหกรรมบริการ โดยปัจจุบัน จีนมี 13 มณฑล/เทศบาลนคร/เขตปกครองตนเองที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่า 1 ล้านล้านหยวนแล้ว ได้แก่ กวางตุ้ง เจียงซู ซานตง เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฝูเจี้ยน หูเป่ย เสฉวน เหอหนาน เหอเป่ย หูหนานและอานฮุย ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 7 ของจีน

สำหรับไทยเอง รัฐบาลมุ่งสร้างสังคม “Digital Thailand” โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และทักษะด้านดิจิทัลซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตั้งเป้าส่งเสริมให้ประชาชนรู้ข้อมูลดิจิทัลจำนวน 50 ล้านคน พัฒนากำลังคนหรือบุคลากรในสาขาดิจิทัล 1 ล้านคน และประชาชนมีงานทำในสาขาดิจิทัล 100,000 ตำแหน่งภายในปี 2568 เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

แหล่งอ้างอิง https://www.scmp.com/tech/policy/article/3131286/chinas-digital-economy-surges-2020-amid-pandemic-making-nearly-40-cent

http://www.chinanews.com/cj/2021/04-25/9463626.shtml

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]