เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ภายหลังการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟจีน-ลาวมานานกว่า 4 ปี อุโมงค์จำนวน 167 แห่งบนเส้นทางรถไฟดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จตลอดสายและเตรียมพร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้
โครงการรถไฟจีน-ลาวนับเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องจากมีอุโมงค์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63 ของเส้นทางทั้งหมด กล่าวคือ สำหรับเส้นทางช่วงภายในจีน 508 กิโลเมตร ต้องดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ 93 แห่ง
และสะพาน 136 เส้น คิดเป็นสัดส่วนอุโมงค์และสะพานตลอดเส้นทางถึงร้อยละ 87.3 ที่สำคัญ ชั้นผนังและเพดานหินภายในอุโมงค์กว่าร้อยละ 87 ยังจัดว่าไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ นอกจากนี้ การก่อสร้างอุโมงค์ของเส้นทางรถไฟช่วงภายในจีนยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์และพืชในท้องถิ่นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างอุโมงค์ที่ตำบลเหมิงหยางของเมืองจิ่งหงในเขตฯ สิบสองปันนา ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “ตำบลแห่งช้างเอเชียแห่งแรกของจีน” ที่ต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายรอบ และเลือกใช้การขุดเจาะอุโมงค์โดยไม่ตัดผ่านป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างเอเชีย เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนฝูงช้าง ตลอดจนต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรขั้นสูงจำนวนมากเพื่อเอาชนะปัญหาทางธรณีวิทยา ทั้งนี้ นับจนถึงปัจจุบัน การวางรางรถไฟของเส้นทางช่วงภายในจีนเสร็จสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 95
อนึ่ง โครงการรถไฟจีน-ลาวเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระบบรางเดียวสำหรับขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าที่เชื่อมระหว่างนครคุนหมิงของมณฑลยูนนานกับเวียงจันทน์ของลาว อีกทั้งยังเป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศสายแรกที่จีนลงทุนและดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ของจีน ที่สำคัญ ยังเชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟภายในของจีน
โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2559 มี 32 สถานี รวมระยะทาง 922 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางช่วงภายในจีน 508 กิโลเมตร และช่วงภายในลาว 414 กิโลเมตร กำหนดความเร็วเดินรถเฉลี่ย 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม ศกนี้
ที่มา: http://news.gaotie.cn/pinglun/2021-06-11/578825.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู