โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
การจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยนับจนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศสูงถึง 5.51 ล้านคัน เมื่อปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จีนต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 มีปริมาณแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วสะสมถึง 240,000 ตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 780,000 ตันภายในปี 2568
เมื่อปี 2558 บริษัท CATL หนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน ได้ซื้อกิจการของบริษัท Guangdong Brunp Recycling Technology Co., Ltd. เพื่อพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่และห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ทดแทน ซึ่งปัจจุบัน บริษัท CATL กลายเป็น “ผู้รีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว” ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีการรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลโลหะและลดต้นทุนการรีไซเคิลได้อย่างมาก ปัจจุบัน อัตราการรีไซเคิลโลหะแมงกานีส โคบอลต์ นิกเกิลอยู่ที่ร้อยละ 99.3 และมีศักยภาพในการรีไซเคิลและการแปรรูปแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วกว่า 120,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 51 ของตลาดรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรีไซเคิลและออกแบบรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่จำนวน 20,000 คันต่อปี
โอกาสของไทย ปัจจุบัน ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน โดยนอกเหนือจากบริษัท CATL แล้ว ในปี 2560 Tesla เริ่มก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ Redwood Materials แห่งแรกในเมือง Carson ของ Nevada ที่สหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย สำหรับประเทศไทยที่มีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถ EV ในอาเซียน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่หมดอายุไว้ด้วย โดยสามารถสร้างความร่วมมือกับวิสาหกิจที่มีศักยภาพของจีน อาทิ บริษัท CATL เมืองหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยนได้
แหล่งอ้างอิง http://www.cs.com.cn/qc/202104/t20210408_6154521.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู