• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ซีอานเตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเดินหน้าสู่ยุคเงินหยวนดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ซีอานเตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเดินหน้าสู่ยุคเงินหยวนดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 16-18 มิถุนายน 2564 นครซีอานจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลตะวันตกปี 2564 (2021 Western Digital Economy Expo) จัดขึ้น ณ นครซีอาน โดยมีนายเป้า หย่งเหนิง (Bao Yongneng: 鲍永能) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลส่านซี (中共陕西省委网络安全和信息化委员会办公室) กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน โดยสรุปว่า ในยุคหลังวิกฤต COVID-19 สำนักงานฯ จะเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนามณฑลส่านซีโดยมีนครซีอานเป็นพื้นที่นำร่อง

ในงานได้จัดแสดง 8 องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ นิทรรศการความสำเร็จด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Achievement Exhibition) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) การผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) และแอปพลิเคชันดิจิทัล (Digital Application) ในด้านต่างๆ ได้แก่ Big Data การเงินดิจิทัล AI เมืองอัจฉริยะ อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ Blockchain และ เทคโนโลยี 5G

นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจแล้ว ภายในงานยังมีการแนะนำ ความเป็นมาของสกุลเงินหยวนดิจิทัล (数字人民币)[1] โดยธนาคารประชาชนแห่งชาติ (PBOC, The People’s Bank Of China) สาขานครซีอานร่วมกับสถาบันทางการเงินและธนาคารอื่นๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดงานแสดงเงินหยวนดิจิทัลในนำร่องพื้นที่ซึ่งปัจจุบันจีนประกาศนำร่องพื้นที่ทดสอบเงินหยวนดิจิทัล 11 แห่ง (ได้แก่ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น เมืองซูโจว เขตเมืองใหม่สงอาน นครเฉิงตู นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลไห่หนาน นครฉางซา นครซีอาน นครชิงต่าว และเมืองต้าเหลียน) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 นครซีอานได้ร่วมเป็น 1 ในพื้นที่นำร่อง โดยให้สถาบันการเงินชั้นนำ 6 แห่งเริ่มให้บริการธุรกรรมเงินหยวนดิจิทัล ได้แก่ (1) BOC (Bank of China) (2) CCB (China Construction Bank) (3) BCM (Bank of Communications) (4) ICBC (INDUSTRIAL AND COMMERCIAL BANK OF CHINA) (5) ABC (AGRICULTURAL BANK OF CHINA) และ (6) PSBC (Postal Savings Bank of China โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการที่โดดเด่น ดังนี้

1) BOC ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นชำระเงินหยวนดิจิทัล ชื่อ (Fuxing No. 1: 复兴壹号) โดยปัจจุบัน ให้บริการด้านธุรกรรมการชำระเงินไปแล้วกว่า 100,000 นอกจากนี้ BOC สนง. มณฑลส่านซี ยังได้ประกาศห้องปฏิบัติการสกุลเงินดิจิทัลพิเศษเป็นครั้งแรกในงานมหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลตะวันตก

2) CCB สนง. มณฑลส่านซี ได้จัดกิจกรรมการลองใช้การชำระเงินไฮเทค เพื่อแสดงศักยภาพ/ความสะดวกที่มาจากการชำระเงินและวีดีโอการ์ด[2] (video card:可视卡) ในสภาพแวดล้อมที่ไร้เครือข่าย

3) BCM สนง. มณฑลส่านซีเปิดร้าน “Handover Store-Digital RMB Pop-up Store” โดยร่วมมือกับร้านสะดวกซื้ Every Day (每一天便利店) เชิญชวนให้ผู้ใข้บริการเล็งเห็นถึงความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้เงินหยวนดิจิทัล

4) ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ผู้อายุสูงเรียนรู้และเข้าใจเงินหยวนดิจิทัลอย่างง่าย ในงานมีได้แก่ ไม้ค้ำยัน นาฬิกาปลุก นาฬิกาอัจฉริยะ และชุดการ์ดเข้าออก (Access card set: 门禁卡套) ผลิตโดย ICBC สนง. มณฑลส่านซี และสร้อยมืออัจฉริยะ พวงกุญแจ เคสโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าเงินกระดาษ และ “การ์ดที่มีรหัส QR สุขภาพ (Video card with health QR code: 叠加健康码的可视卡)” ผลิตโดย PSBC สนง. มณฑลส่านซี

สกุลเงินหยวนดิจิทัลเป็น Center Bank  Digital Currency (CBDC) ที่จีนเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2557 โดยธนาคารกลางจีนเป็นผู้พัฒนาและเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมให้แก่ประชาชน โดยในมณฑลส่านซีเตรียมจะผลักดันการใช้เงินสกุลหยวนดิจิทัลและแอปพลิเคชั่น Fuxing No. 1 อย่างเป็นทางการในงานมหกรรมกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 14 ในช่วงเดือนกันยายนนี้

การจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลตะวันตกปี 2564 นี้ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมครั้งที่ 14 ของนครซีอาน เพื่อขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 6+5+6+1 ดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ไทยอาจศึกษารูปแบบการสร้างแพลตฟอร์มเงินสกุลดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและมีกฎหมายรับรองอย่างครบถ้วนเพื่อต่อยอดการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของไทยในอนาคต โดยเฉพาะโมเดล “อินทนนท์” ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รองรับการทำธุรกรรมโดยเงินดิจิทัลระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับ SCG (Siam Cement Group) และบ. ดิจิทัลเวนเออร์ส จำกัด ในการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจโดยใช้เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นฐานในการศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลในกลุ่มผู้บริโภคต่อไป

[1] เงินหยวนดิจิทัลออกโดย PBOC โดยมีการรับรองเครดิตระดับชาติและมีการชำระหนี้ตามกฎหมาย (เมื่อใช้เพื่อรับและชำระเงิน สถาบันหรือบุคคลใดๆ จะต้องยอมรับและไม่ปฏิเสธ) เงินหยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินดิจิทัล (เงินสดดิจิทัล) และเครื่องมือชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ฟังก์ชันและคุณลักษณะของเงินหยวนดิจิทัลเหมือนกับธนบัตร ยกเว้นว่ารูปแบบเป็นดิจิทัล

[2] วีดีโอการ์ดหมายถึงบัตร IC UnionPay พร้อมจอแสดงผลและปุ่มกดตัวเลข ผู้ใช้สามารถตรวจสอบดุล บันทึกธุรกรรม และข้อมูลอื่นๆ โดยไม่ต้องไปธนาคาร

The post ซีอานเตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเดินหน้าสู่ยุคเงินหยวนดิจิทัลเต็มรูปแบบ appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]