ไฮไลท์
- Cross-Border e-Commerce เป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนใช้สนับสนุนให้ผู้ค้าจากทั่วโลกนำสินค้าไปขายในจีนได้ง่ายขึ้น แต่จำกัดเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ Normal Trade จะพบว่า ช่องทาง CBEC เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ SMEs อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่ต้องมี Import License ไม่ต้องมีฉลากสินค้าที่เป็นภาษาจีน ไม่ต้องจดแจ้ง อย.จีน และศุลกากรเข้มงวดน้อยกว่า. Normal Trade
- ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ธุรกิจ CBEC มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลกลางได้ให้นโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ CBEC ของกว่างซีที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ” โดยพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (Nanning Sub-are) และเมืองฉงจั่ว (Chongzuo Sub-are) ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตนำร่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนแบบครบวงจรระดับประเทศ และพื้นที่ย่อยเมืองชินโจว (Qinzhou Sub-are) ได้รับอนุมัติเป็นจุดทดลองการนำเข้าเพื่อค้าปลีกในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน
- กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบครัน ความสะดวกรวดเร็วในงานขนส่งและโลจิสติกส์ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่กระชับฉับไว นโยบายส่งเสริมการทำธุรกิจ CBEC ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และการเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก ในการส่งสินค้าแบรนด์ไทยบุกตลาดจีน(ตอนใน)
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ภาคธุรกิจต้องกลับไปถามตนเองว่าพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกำลังซื้อของตลาดภายในประเทศที่ลดลง ดังนั้น การมองหาตลาดต่างประเทศจึงเป็น “ทางเลือก(รอด)” ของธุรกิจ
หากพิจารณากันที่ขนาดของตลาดผู้บริโภคแล้ว เชื่อว่า “ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่” คงเป็นคำตอบของใครหลายๆ คน คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ เราจะเริ่มต้นเข้าตลาดจีนตรงไหน ต้องบอกว่า… ช่องทาง “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน” หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) เป็นช่องทางที่น่าสนใจที่ธุรกิจไทยสามารถใช้เพื่อ “ชิมลาง” ดูผลตอบรับในตลาดจีน และเมื่อสินค้านั้นได้รับการยอมรับในโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็นการปูทางเพื่อขยายฐานลูกค้าออฟไลน์ในร้านค้าทั่วไปต่อไปได้อีกด้วย
Cross-Border e-Commerce เป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนใช้สนับสนุนให้ผู้ค้าจากทั่วโลกนำสินค้าไปขายในจีนได้ง่ายขึ้น แต่จำกัดเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ Normal Trade จะพบว่า ช่องทาง CBEC เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ SMEs อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่ต้องมี Import License ไม่ต้องมีฉลากสินค้าที่เป็นภาษาจีน ไม่ต้องจดแจ้ง อย.จีน และศุลกากรเข้มงวดน้อยกว่า. Normal Trade
ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ธุรกิจ CBEC มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลกลางได้ให้นโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ CBEC ของกว่างซีที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ” โดยพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (Nanning Sub-are) และเมืองฉงจั่ว (Chongzuo Sub-are) ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตนำร่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนแบบครบวงจรระดับประเทศ (Comprehensive Pilot Zones for Cross-border e-Commerce) และพื้นที่ย่อยเมืองชินโจว (Qinzhou Sub-are) ได้รับอนุมัติเป็นจุดทดลองการนำเข้าเพื่อค้าปลีกในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน (Retail Imports in Cross-border e-Commerce)
จากข้อมูลพบว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง และเมืองฉงจั่ว มีมูลค่าการค้า CBEC 3,433 ล้านหยวน ขยายตัวสูงถึง 508.9% (YoY)
ธุรกิจที่เปิดดำเนินธุรกิจ CBEC ในเขตทดลองฯ สามารถทำการค้าทั้งในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) ผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ทุกประเภท แพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จัก เช่น Tmall Global ของ Alibaba Grope หรือ JD Worldwide ของ JD.com โดยธุรกิจจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากสำนักงานศุลกากร และสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านที่ตั้งของคลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ที่ทันสมัย
โอกาสของธุรกิจ CBEC ได้ดึงดูดให้ LAZADA แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในอาเซียนเข้าไปจัดตั้งใน “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” ในเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (อยู่ภายในเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรนครหนานหนิง) เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจ CBEC บ่มเพาะนักขาย CBEC การไลฟ์สด (Live Streaming) และการฝึกอบรมให้ธุรกิจ CBEC ได้ร่วมมือกับบริษัท Cainiao (菜鸟) ผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ในเครือ Alibaba ในโครงการศูนย์โลจิสติกส์อาเซียน(หนานหนิง) เพื่อรองรับธุรกรรมการค้าระหว่างกว่างซี(จีน)กับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย ซึ่งธุรกิจ SMEs ไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าวในการพัฒนาตลาดจีน-อาเซียนได้
ในเรื่องการขนส่งสินค้า CBEC สามารถเลือกใช้วิธีการขนส่งได้ในทุกมิติ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 บริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินคาร์โก้ในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” โดยสินค้าหลักที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ได้แก่ สินค้าที่ซื้อขายบนแพลตฟอร์ม CBEC และสินค้าทั่วไป ส่วนสินค้าที่ขนส่งกลับไปนครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก
นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ไทยยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางทะเลระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจวของกว่างซี หรือการขนส่งด้วยรถบรรทุกผ่าน สปป.ลาว และเวียดนาม ไปเข้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งมีช่องทางพิเศษ (Green lane) ไว้คอยอำนวยความสะดวกสำหรับสินค้า CBEC ด้วย
กล่าวได้ว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยในการส่งสินค้าแบรนด์ไทยบุกตลาดจีน(ตอนใน) โดยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบครัน ความสะดวกรวดเร็วในงานขนส่งและโลจิสติกส์ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่กระชับฉับไว นโยบายส่งเสริมการทำธุรกิจ CBEC ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และการเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 17 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ https://research.hktdc.com