โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2564 รัฐบาลเจียงซีประกาศความคืบหน้าล่าสุดของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก้านโจว – เซินเจิ้น ระยะทางกว่า 430 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการภายในสิ้นปี 2564 นี้ โดยสถานีต้นทางจะเริ่มที่เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซีผ่านเมืองเหอหยวนและเมืองฮุ่ยโจวของมณฑลกวางตุ้งและสถานีปลายทางสิ้นสุดที่เมืองเซินเจิ้น โดยคาดว่าจะช่วยลดเวลาเดินทางจากก้านโจวไปยังเซินเจิ้นจากเดิม 9.5 ชั่วโมงเหลือเพียง 3.5 ชั่วโมง โครงการรถไฟความเร็วสูงก้านโจว – เซินเจิ้น จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาโครงการทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลเจียงซี โดยจะเชื่อมต่อกับเขต GBA ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า อาทิ โครงการสวนอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะและอิเล็กทรอนิกส์ เซินเจิ้น – ก้านโจว และเมืองนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซินเจิ้น – ก้านโจว ขณะเดียวกัน เมืองก้านโจวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟจีน – ยุโรป (เซินเจิ้น – ก้านโจว) โดยบริษัท Shenzhen Yantian Port Group Co., Ltd. ร่วมกับบริษัท ท่าเรือบกนานาชาติก้านโจว เริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2564 โดยมีสถานีต้นทางที่ท่าเรือเยียนเถียนของเซินเจิ้น (ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ขนส่งเป็นสิ่งทอและเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและของใช้ในชีวิตประจำวัน) ผ่านท่าเรือบกนานาชาติก้านโจว (ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์) ไปยังสถานีสุดท้ายที่เมืองดุยส์บูร์กของเยอรมนี โดยคาดว่าเมื่อโครงการเสร็จสิ้น ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าของท่าเรือเยียนเถียนจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ตู้มาตรฐานต่อปี และจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทั้งทางทะเลและทางรถไฟต่อปีของท่าเรือเยียนเถียนอย่างมาก
ศูนย์ BIC ขอเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเศรษฐกิจเมืองก้านโจวในภาพรวมยังพัฒนาไม่เทียบเท่าเมืองชายฝั่ง แต่ด้วยนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลก้านโจวที่ต้องการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางราง และทางทะเลของภาคกลางของจีน ทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมูลค่า GDP ของเมืองก้านโจวในปี 2563 สูงเป็นอันดับ 2 ของมณฑลเจียงซี รองจากหนานชาง และอัตราการเติบโตของมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑลเจียงซี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายย้ายหรือขยายฐานการผลิตจากเมืองชายฝั่งเข้าสู่เมืองก้านโจว โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไม่สูงนัก และมีอาณาเขตติดต่อกับมณฑลกวางตุ้ง จึงเหมาะกับการตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่อื่น ๆ
แหล่งอ้างอิง http://www.jx.xinhuanet.com/2021-05/17/c_1127453793.htm
http://www.jiajiasumg.com/newssou/gd/content/2020-05/13/content_190888344.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู