นครฉงชิ่งถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญมากของภูมิภาคจีนตะวันตก โดยอัตราการเติบโตของการผลิตรถยนต์ของนครฉงชิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศเกือบเท่าตัว มีมูลค่าเพิ่ม จำนวนผลผลิต และมูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ร้อยละ 47 และร้อยละ 29 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการข้อมูลเศรษฐกิจนครฉงชิ่ง ได้จัดการประชุมเพื่อหารือมาตรการเชิงกลยุทธ์ เร่งการเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในนครฉงชิ่ง โดยนายถู ซิงหย่ง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการข้อมูลเศรษฐกิจนครฉงชิ่ง กล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคของยานยนต์พลังงานทางเลือก และยานยนต์อัจฉริยะ จึงเป็นโอกาสทองของธุรกิจยานยนต์ ที่จะพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าว ในขณะที่บริษัทรถยนต์ที่ไม่คว้าโอกาสทองนี้ไว้ อาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันทางการตลาดไป 3 – 5 ปี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ทั้งต่างชาติและของจีนได้ทยอยเข้ามาลงทุนในนครฉงชิ่ง ตัวอย่างเช่น บริษัทฟอร์ดมีมูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ นครฉงชิ่งเป็นเขตการลงทุนแห่งเดียวของบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่สามอันดับแรกของจีน ( Changan, Changcheng และ Geely ) เข้ามาลงทุนมูลค่าปีละกว่า 35,000 ล้านหยวน
ในด้านของรถยนต์พลังงานทางเลือก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นครฉงชิ่งผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกจำนวน 52,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 215 เมื่อเทียบกับปีก่อน และในส่วนของรถยนต์อัจฉริยะ นครฉงชิ่งเป็นมณฑล/นครที่สามในประเทศจีนที่เปิดการทดสอบการขับขี่อัตโนมัติบนท้องถนน และเป็นเขตนำร่องเครือข่ายรถยนต์แห่งชาติเขตที่ 4 ของจีน
นายถู ซิงหย่งกล่าวว่า รถยนต์พลังงานทางเลือกและรถยนต์อัจฉริยะเป็นรากฐานสำคัญของการแข่งขันในแวดวงธุรกิจยานยนต์ โดยภายใต้ “แผนปฏิบัติการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกและยานยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2566)” นครฉงชิ่งถูกกำหนดให้เป็นเขตนำร่องเครือข่ายรถยนต์ระดับชาติ เมืองสาธิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Switching mode และเมืองสาธิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน กลุ่มแรกของประเทศจีน
นครฉงชิ่งมีแผนสร้างถนนที่รองรับรถยนต์พลังงานทางเลือกอัจฉริยะกว่า 1,000 กิโลเมตร ทางด่วนอัจฉริยะกว่า 500 กิโลเมตร และสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่กว่า 200 แห่ง และมีเป้าหมายส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากว่า 150,000 คัน
นางหลิว ฟาง ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะกรรมการข้อมูลเศรษฐกิจนครฉงชิ่ง กล่าวว่า สถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ 200 แห่งส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในตัวเมืองนครฉงชิ่ง สถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละแห่งสามารถให้บริการรถยนต์อย่างน้อย 100 คันต่อวัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถรองรับรถยนต์พลังงานทางเลือกได้กว่า 20,000 คัน
ทางด่วนอัจฉริยะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถยนต์ เพื่อรายงานการจราจรของทางด่วนเส้นนั้น ๆ มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบที่หน้าทางเข้าและทางออกของอุโมงค์ และแจ้งเตือนล่วงหน้าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินภายในอุโมงค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์
นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังร่วมมือกับมณฑลเสฉวนเพื่อก่อตั้ง “ระเบียงไฮโดรเจนเฉิงตู – ฉงชิ่ง” โดยมีทางด่วนฉงชิ่ง-เฉิงตู และทางด่วนฉงชิ่ง-ว่านโจว ฯลฯ เป็นเส้นทางหลักของระเบียงไฮโดรเจนเฉิงตู – ฉงชิ่ง สำหรับยานพาหนะขนส่งเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยมีแผนก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายเมืองใหญ่ในประเทศจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกและรถยนต์อัจฉริยะ โดยพยายามพัฒนาศักยภาพการทำงานของยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไปสู่ระดับสูงสุดที่ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ในการควบคุม ซึ่งทำให้รถยนต์พลังงานทางเลือกและรถยนต์อัจฉริยะ เป็นทิศทางหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณานครฉงชิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ และสามารถออกแบบ พัฒนา หรือนำเข้า-ส่งออกรถยนต์พลังงานทางเลือกหรือรถยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตามทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์สำนักข่าว Chongqing Chinanews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564)
http://www.cq.chinanews.com.cn/news/2021/0812/39-25649.html
ภาพประกอบ: เว็บไซต์ Freepik
<a href=’https://www.freepik.com/photos/car’>Car photo created by rawpixel.com – www.freepik.com</a>