หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมเปิดตัว “ท่าการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างประเทศ (ทางอากาศ-ราง) ซวงหลิว นครเฉิงตู” (Chengdu (Shuangliu) Air-Rail International Combined Port) ภายในงาน China-ASEAN Expo ที่นครหนานหนิงเขตฯ กว่างซี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ท่าการขนส่งดังกล่าวได้เปิดตัวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขบวนแรก บรรทุกสินค้า 15 ตู้ ประกอบด้วยอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งสินค้าบางส่วนมีแหล่งผลิตจากภาคตะวันออกของจีน โดยมีการขนส่งทางรถไฟจากนครเฉิงตูไปยังเขตโลจิสติกส์รถไฟหวังเจียหยิงในนครคุนหมิง ก่อนเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกขนส่งผ่านด่านโม่ฮานไปยังเวียงจันทน์ของลาวและกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 2,900 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่ง 7 วัน ซึ่งในอนาคตเมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งานแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไป-กลับสัปดาห์ละ 3 คู่
อนึ่ง เขตซวงหลิวของนครเฉิงตูเป็นที่ตั้งท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิว นครเฉิงตู ซึ่งมีศักยภาพการขนส่งสินค้าทางอากาศระดับสูง โดยท่าการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างประเทศ (ทางอากาศ-ราง) ซวงหลิว นครเฉิงตู มีเนื้อที่ 194 หมู่ (ประมาณ 80 ไร่) ใช้เงินลงทุน 360 ล้านหยวน และสามารถเดินทางเชื่อมกับท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิวทางรถยนต์ภายใน 20 นาที นับเป็นการผนวกศักยภาพการขนส่งทางอากาศเพื่อส่งเสริมการขนส่งหลายรูปแบบ
นอกจากเส้นทางขนส่งสินค้าจีน-ลาว-ไทยแล้ว ท่าการขนส่งหลายรูปแบบฯ ซวงหลิว ยังมีเส้นทางขนส่งอื่น ได้แก่ (1) เส้นทางขนส่งโดยรถไฟไปยังท่าเรือชินโจวในเขตฯ กว่างซี ระยะทาง 1,669 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่ง 3 วัน เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสัปดาห์ละ 1 ขบวน โดยสินค้าที่ขนส่งมาถึงท่าเรือชินโจวสามารถเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางทะเลไปยังจุดหมายปลายทางได้ต่อไป และ (2) เส้นทางขนส่งโดยรถไฟจากกรุงฮานอยของเวียดนามผ่านด่านผิงเสียงในเขตฯ กว่างซีถึงเขตซวงหลิวของนครเฉิงตู ก่อนผ่านด่านอาลาซานในเขตฯ ซินเจียงไปยังเมือง Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์
แม้ว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเปิดใช้งานช่วงเดือนธันวาคม ศกนี้ รวมถึงการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟไทย-จีนยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่มณฑลภาคตะวันตกของจีนอย่างยูนนานและเสฉวน ล้วนกระตือรือล้นที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งกับไทย โดยในระหว่างที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวยังไม่เปิดใช้งาน ก็ได้การทดลองเดินขบวนรถขนส่งสินค้าเพื่อประเมินปัญหาอุปสรรคและต้นทุนการขนส่ง โดยใช้การขนส่งทางบกทดแทนช่วงที่เส้นทางรถไฟยังไม่เปิดใช้งาน ตัวอย่างเช่น บริษัท Yunnan Intercontinental Multi-Model Railway Logistics จำกัด ที่ได้เปิดตัวขบวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาวจากนครคุนหมิงไปยังเวียงจันทน์ รวมทั้งยังมีแผนเปิดตัวขบวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว-ไทย ผ่านถนนสาย R3A เพื่อขนส่งผักสดแช่เย็นและอาหารสัตว์ไปยังไทย อีกทั้งวางแผนจะใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าบางส่วนต่อไปยังยุโรปผ่านท่าเรือแหลมฉบังและขนส่งผลไม้ไทยกลับเข้าสู่ตลาดจีนด้วย
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/Il-dmIQYfr5j4fzhsTqMcw
https://www.thecover.cn/news/8076022
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1712129756207105337&wfr=spider&for=pc
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู