ภาษาจีนมีคำพังเพยที่ว่า “เสียงหวูดรถไฟดัง เหมือนทองคำหมื่นชั่ง” (火车一响,黄金万两) เปรียบเปรยเส้นทางรถไฟที่นำความเจริญมาสู่พื้นที่ที่ตัดผ่าน ในโอกาสที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเปิดใช้งานในเดือนธันวาคม 2564 ภาครัฐและเอกชนในเขตฯ สิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน ซึ่งมีความสำคัญในฐานะ “ประตู” ผ่านเข้า-ออกของรถไฟจีน-ลาว จึงมีความกระตือรือล้นศึกษาโอกาสและปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจาก “การเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคมครั้งใหญ่” ไปสู่ “โอกาสการพัฒนาครั้งใหม่”
นายกัว ซาน รองผู้อำนวยการสำนักงานคมนาคมและการขนส่งเขตฯ สิบสองปันนา เปิดเผยว่า เส้นทางรถไฟจีน-ลาวช่วงภายในเขตฯ สิบสองปันนามีสถานีรถไฟ 5 สถานี ได้แก่ เย่เซี่ยงกู่ (หุบช้างป่า) สิบสองปันนา ก๋านหล่านป้า เหมิ่งล่า และโม่ฮาน ในจำนวนนี้ สถานีสิบสองปันนาและก๋านหล่านป้าจะให้บริการเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น ขณะที่สถานีเย่เซี่ยงกู่ เหมิ่งล่า และโม่ฮานจะให้บริการทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ปัจจุบัน งานก่อสร้างโครงสร้างหลักของสถานีรถไฟทั้ง 5 แห่งข้างต้นดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว คงเหลือเพียงงานตกแต่งภายในและงานก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกสถานีเท่านั้น คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
ในภาพพรวม การเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ระบบการคมนาคมขนส่งของเขตฯ สิบสองปันนา ซึ่งที่ผ่านมาพึ่งพาการขนส่งทางบกเป็นหลัก โดยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 0.53 หยวนต่อตันต่อกิโลเมตร ขณะที่การขนส่งระบบรางอาจจะมีต้นทุนการขนส่งสินค้าเพียง 0.18 หยวนต่อตันต่อกิโลเมตรเท่านั้น นับเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าถึงสองในสาม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่ม “ทางเลือก” ด้านการเดินทางของประชาชนให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าสถานีรถไฟสิบสองปันนาจะมีจำนวนผู้โดยสารระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกลที่ 2.05 ล้านคน 4.10 ล้านคน และ 6.50 ล้านคน ตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า พฤติกรรมการเดินทางแบบใหม่นี้ย่อมกระทบต่อการขนส่งรูปแบบเดิม โดยเฉพาะรถโดยสารทางไกลและเที่ยวบินระยะใกล้ในเส้นทางคุนหมิง-สิบสองปันนา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องปรับตัวและปรับการบริการตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงต่อไป
ทั้งนี้ การขนส่งระบบรางนับเป็น “ทางเลือก” การขนส่งรูปแบบที่ 4 ของเขตฯ สิบสองปันนา นอกเหนือจากการขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศที่มีอยู่แต่เดิม ดังนั้น นอกจาก การเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวตามกำหนดแล้ว ประเด็นสำคัญที่ยังต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ การบูรณาการการขนส่งระบบรางเข้ากับการขนส่งรูปแบบเดิมอื่น ๆ เพื่อสร้างความครอบคลุมและประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
- เขตฯ สิบสองปันนามีเขตการปกครองระดับอำเภอ 3 แห่ง โดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวตัดผ่านเมืองจิ่งหงและอำเภอเหมิ่งล่า แต่ไม่ผ่านอำเภอเหมิงไห่ อย่างไรก็ดี มณฑลยูนนานมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟขนานชายแดนของมณฑลกับเมียนมาจากอำเภอซวงเจียง เมืองหลินชาง ผ่านอำเภอซีเหมิงและอำเภอหลานชางของเมืองผูเอ่อร์ ไปยังอำเภอเหมิงไห่และไปสุดที่เมืองจิ่งหง โดยคาดว่า จะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างเส้นทางช่วงอำเภอเหมิงไห่-เมืองจิ่งหงได้ภายในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) เพื่อให้มณฑลยูนนานบรรลุเป้าหมาย “เส้นทางรถไฟเชื่อมทุกอำเภอภายในปี 2568”
- เร่งพัฒนาเครือข่ายทางหลวงและทางด่วน โดยเขตฯ สิบสองปันนาตั้งเป้าหมายมีทางหลวงเปิดใช้งานระยะทาง 10,000 กิโลเมตรภายในปี 2568 ในจำนวนนี้ เป็นทางด่วนระยะทาง 560 กิโลเมตร โดยเฉพาะการยกระดับ “เส้นทางระหว่างเขตฯ 3 สาย (เหมิงไห่-ผูเอ่อร์เชื่อมยูนนานตะวันตก จิ่งหง-ผูเอ่อร์เชื่อมยูนนานตอนกลาง และเหมิ่งล่า-ผูเอ่อร์เชื่อมยูนนานตะวันออก) รวมถึงเส้นทางระหว่างประเทศ 4 สาย (ด่านต่าลั่ว จุดผ่อนปรนม่านต้ง จุดผ่อนปรนเหมิงหม่าน และด่านโม่ฮาน)” เป็นทางด่วนทั้งหมด ตลอดจนก่อสร้างทางด่วนวงแหวนรอบเมืองจิ่งหง พร้อมเพิ่มจุดขึ้น-ลงทางด่วนที่มีเพียงจุดเดียวในปัจจุบันเป็น 7 จุด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะปริมาณผู้โดยสารและสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างสูงภายหลังเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งาน
- เมื่อปี 2562 ท่าอากาศยานสิบสองปันนามีผู้โดยสาร 5.52 ล้านคน เกินขีดความสามารถของท่าอากาศยานที่รองรับผู้โดยสารได้ 3.50 ล้านคนแล้ว ปัจจุบัน เขตฯ สิบสองปันนาได้เริ่มโครงการขยายท่าอากาศยานสิบสองปันนาระยะที่ 4 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 12.5 ล้านคนแล้ว โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568)
- การขยายร่องน้ำเพื่อการเดินเรือระดับ 4 (รองรับระวางเรือ 500 ตัน ความลึกระดับน้ำไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร และความกว้างของตลิ่งไม่น้อยกว่า 40 เมตร) จากหลักหมุดเขตแดนจีน-เมียนมาบนแม่น้ำล้านช้างหมายเลข 244 จนถึงท่าเรือหลินชาง โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 แม่น้ำล้านช้างจะมีร่องน้ำเพื่อการเดินเรือระดับ 4 เป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 182 กิโลเมตร รวมทั้งการขยายร่องน้ำจากหลักหมุดเขตแดนจีน-เมียนมาบนแม่น้ำล้านช้างหมายเลข 244 จนถึงหลวงพระบาง ระยะที่ 2 โดยร่วมมือกับลาว เมียนมา และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งบนแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และยกระดับการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างทางบกกับทางน้ำ และทางน้ำกับระบบราง เป็นต้น
ที่มา: https://2ly4hg.smartapps.cn/pages/article/article?articleId=491397948&authorId=121106902&spm=smbd.content.share.0.1632411988437Hq8PLnZ&_trans_=010005_wxhy_shw&hostname=bdlite&_swebfr=1
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู