จับเทรนด์ไตรมาส 3/2564 “ไทย” เกาะเก้าอี้เบอร์ 2 แหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี

ไฮไลท์

  • ในภาพรวม สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคการนำเข้า ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา การค้าต่างประเทศขยายตัวที่ 29.3% (YoY) สูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 6.6 โดย กว่างซีเป็นฝ่ายเสียดุลการค้าต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 5,350 ล้านหยวน
  • ในโครงสร้างการค้าต่างประเทศของกว่างซี พบว่า “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซีเป็นปีที่ 21 ติดต่อกัน โดยการค้ากับ “อาเซียน” มีสัดส่วนมากถึง 47.93% ของมูลค่ารวม โดยมีประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” เป็นคู่ค้าหลัก มีคิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ
  • เทรนด์การค้า e-Commerce ข้ามแดนของกว่างซีกำลังมาแรง โดยมี “ด่านโหย่วอี้กวาน” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงเป็นหนึ่งในช่องทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบ e-Commerce ข้ามแดน นอกจากนี้ กว่างซีกำลังผลักดันการใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เพื่อการทำการค้า e-Commerce ข้ามแดน รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้เที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ “นครหนานหนิง” กับกรุงมะนิลา กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ ในการขนส่งสินค้า e-Commerce ข้ามแดนด้วย
  • สถานการณ์การค้ากับประเทศไทย เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม และฮ่องกง) หากพิจารณาเฉพาะภาคการนำเข้า ประเทศไทย เป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี โดยสินค้านำเข้าหลักจากประเทศไทย อาทิ ฮาร์ดิสก์ไดร์ฟ ทุเรียนสด มังคุด มันสำปะหลังแห้ง และแป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ขอสรุป สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564 ดังนี้

ในภาพรวม สถานการณ์การค้าต่างประเทศยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคการนำเข้า ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 444,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 29.3% (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 6.6 แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 219,620 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.2% และมูลค่า
การนำเข้า 224,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.8 % โดย กว่างซี เสียดุลการค้าต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 5,350 ล้านหยวน

โครงสร้างของสินค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญของกว่างซี หากจำแนกภาคการส่งออก อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 130,907 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25.7% โดยแนวโน้มการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีทิศทางสดใส เพิ่มขึ้นสูงถึง 200.2% และ 47.4% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่า 8,510 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 0.4%

กลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (มูลค่านำเข้า 77,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 31.7%) ผลิตภัณฑ์แร่และสินแร่โลหะ (62,310 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 71.4% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การค้าต่างประเทศของกว่างซีขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 จุด) สินแร่เหล็ก (29,460 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 99.2%) สินแร่ทองแดง (25,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 71.7%) และสินค้าเกษตร (37,290 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 29.1%)

 “อาเซียน” ยังคงครองตำแหน่งคู่ค้า No.1 ของกว่างซี (ปีที่ 21 ติดต่อกัน) มีมูลค่าการค้า 213,110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.4% โดยการค้ากับ “อาเซียน” มีสัดส่วนมากถึง 47.93% ของมูลค่ารวม โดย “เวียดนาม” ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญในโครงสร้างการค้าต่างประเทศของกว่างซี มีมูลค่าระหว่างกันรวม 149,450 ล้านหยวน
คิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของมูลค่ารวม

นอกเหนือจากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ประเทศ/ดินแดนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของกว่างซี อาทิ ฮ่องกง (55,057 ล้านหยวน) บราซิล (23,134 ล้านหยวน) สหรัฐอเมริกา (18,736 ล้านหยวน) ออสตรเลีย (16,940 ล้านหยวน) และไต้หวัน (15,774 ล้านหยวน)

เทรนด์การค้า e-Commerce ข้ามแดนของกว่างซีกำลังมาแรง ยอดสั่งซื้อมากกว่า 88.86 ล้านบิล ในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปอาเซียน 84.42 ล้านบิล เพิ่มขึ้น 2.8 เท่า โดย “ด่านโหย่วอี้กวาน” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงเป็นหนึ่งในช่องทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบ e-Commerce ข้ามแดน นอกจากนี้ กว่างซีกำลังผลักดันการใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เพื่อการทำการค้า e-Commerce ข้ามแดน รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้เที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่  “นครหนานหนิง” กับกรุงมะนิลา กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ ในการขนส่งสินค้า e-Commerce ข้ามแดนด้วย

สถานการณ์การค้ากับประเทศไทย เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม และฮ่องกง) ด้วยมูลค่าการค้า 41,271 ล้านหยวน แบ่งเป็นมูลค่านำเข้าจากไทย 37,514 ล้านหยวน และมูลค่าส่งออกไปไทยเพียง 3,757 ล้านหยวน โดย ประเทศไทย เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 33,757 ล้านหยวน

หากพิจารณาเฉพาะภาคการนำเข้า พบว่า ประเทศไทย เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม 40,579 ล้านหยวน) โดยสินค้านำเข้าหลักจากประเทศไทย อาทิ ฮาร์ดิสก์ไดร์ฟ (27,177 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 72.44% ของการนำเข้าจากไทย) ทุเรียนสด (7,601 ล้านหยวน สัดส่วน 20.26%) มังคุด (1,169 ล้านหยวน สัดส่วน 3.11%) มันสำปะหลังแห้ง (230 ล้านหยวน สัดส่วน 0.61%) แป้งสตาร์ชจากมันสำปะหลัง (202 ล้านหยวน สัดส่วน 0.53%)

เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับ และช่องทางการขนส่งสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งทางทางบกผ่านชายแดนและรถไฟที่เวียดนาม ทางทะเลเชื่อมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) และทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินคาร์โก้มารองรับแล้วระหว่างกรุงเทพฯ – นครหนานหนิง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เมืองการค้าสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทย ได้แก่ อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (สัดส่วนมากกว่า 90% ของการค้ากว่างซีกับไทย) เมืองชินโจว (ที่ตั้งของท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย) และนครหนาน หนิง (เมืองเอก และเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของมณฑล)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 21 ตุลาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี
(广西日报) วันที่ 18 ตุลาคม 2564
        เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)

The post จับเทรนด์ไตรมาส 3/2564 “ไทย” เกาะเก้าอี้เบอร์ 2 แหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]