ทิเบตเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลแห่งสุดท้ายของจีนที่ได้ประกาศสถิติทางเศรษฐกิจช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2564 โดยพบว่า ในบรรดา 31 มณฑลของจีน มี 15 มณฑลที่มีมูลค่า GDP เกิน 2 ล้านล้านหยวน โดยมณฑลกวางตุ้งยังคงครองอันดับหนึ่งด้วยมูลค่า GDP 8.8 ล้านล้านหยวน และมีอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 ตามมาด้วยมณฑลเจียงซูในอันดับที่สองด้วยมูลค่า GDP 8.4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และอันดับที่สามเป็นมณฑลซานตงที่มีมูลค่า GDP 6 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9
ผลกระทบจากอุปทานด้านถ่านหินและอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนช่วงไตรมาสที่สามของปี 2564 ชะลอลง ทำให้ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนตลอดช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 9.8 โดยมี 10 มณฑลที่มีอัตราการขยายตัวของ GDP สูงกว่าภาพรวมทั่งประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ได้แก่ หูเป่ย (ร้อยละ 18.7) ไห่หนาน (ร้อยละ 12.8) ปักกิ่ง (ร้อยละ 10.7) เจ้อเจียง (ร้อยละ 10.6) ซานซี (ร้อยละ 10.5) เจียงซู (ร้อยละ 10.2) อันฮุย (ร้อยละ 10.2) ซานตง (ร้อยละ 9.9) และฉงชิ่ง (ร้อยละ 9.9)
ทั้งนี้ ในบรรดา 10 มณฑลข้างต้น มีเพียงนครฉงชิ่งแห่งเดียวที่เป็นเขตการปกครองระดับมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ส่วนที่เหลือเป็นมณฑลทางภาคตะวันออกสอดแทรกด้วยมณฑลทางภาคกลาง แตกต่างจากในช่วงก่อนสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มณฑลทางภาคตะวันตกมีอัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ในระดับแถวหน้าของจีน โดยเฉพาะทิเบต กุ้ยโจว และยูนนาน ที่ครอง 3 อันดับแรกของมณฑลที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของจีนต่อเนื่องมานานหลายปี
ที่สำคัญ นครฉงชิ่งยังเป็นมณฑลทางภาคตะวันตกแห่งเดียวที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยมณฑลทางภาคตะวันตกที่เหลือ ได้แก่ เสฉวน (ร้อยละ 9.3) กว่างซี (ร้อยละ 9) ยูนนาน (ร้อยละ 8.9) ซินเจียง (ร้อยละ 8.8) และสองแชมป์เก่าหลายสมัยอย่างกุ้ยโจว (ร้อยละ 8.7) และทิเบต (ร้อยละ 7.2) ล้วนมีอัตราการขยายตัวของ GDP ต่ำกว่าภาพรวมทั่งประเทศ
กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของมณฑลภาคตะวันออกรวมถึงมณฑลภาคกลางเติบโตแรงแซงมณฑลภาคตะวันตก เป็นเพราะในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่การระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนรุนแรงที่สุด มณฑลภาคตะวันออกส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่ามณฑลภาคตะวันตก ทำให้มณฑลภาคตะวันออกมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามณฑลแชมป์เก่าอย่างทิเบต กุ้ยโจว และยูนนาน อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปี 2564 หลังจากสามารถดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้มณฑลภาคตะวันออก โดยเฉพาะมณฑลที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอยู่แล้ว สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับปกติด้วยอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง บนพื้นฐานตัวเลขที่หดตัวมากในปี 2563 กอปรกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในมณฑลภาคตะวันตกยังคงพึ่งพาธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเป็นหลัก ขาดแคลนห่วงโซ่ธุรกิจแบบครบวงจร จึงส่งผลให้มีการฟื้นตัวช้ากว่ามณฑลภาคตะวันออก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายมณฑลเรียงลำดับจากมากไปน้อย โดยเฉพาะจากอันดับที่ 3 ถึงอันดับที่ 31 (ร้อยละ 10.7-6.7) จะพบว่า แต่ละอันดับมีอัตราการขยายตัวต่างกันไม่มาก เพียงหลักจุดทศนิยมเท่านั้น แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษจนมีอัตราการขยายตัวแตกต่างจากอันดับล่างเป็นหลักหน่วย ได้แก่ อันดับ 1 มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นมณฑลแรกของจีนที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อัตราการขยายตัวในปี 2563 ติดลบร้อยละ 5 เมื่อกลับสู่สภาวะปกติจึงมีอัตราการขยายตัวที่สูงเป็นพิเศษถึงร้อยละ 18.7 และอันดับ 2 มณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงของจีน โดยในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 มีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 มาโดยตลอด แต่ในปี 2563 อัตราการขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.5 ก็ได้รับอานิสงส์จากการที่ชาวจีนไม่สามารถเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ จึงทำให้อัตราการขยายตัวในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 12.8
ที่มา: https://m.thepaper.cn/baijiahao_15170486
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู