เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานสถิติมณฑลส่านซี รายงานสภาวะเศรษฐกิจมณฑลส่านซีตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 (3 ไตรมาสแรกของปี) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของมณฑล (GDP) มูลค่ารวม 2.119 ล้านล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7 (หากพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.1) แบ่งเป็น
– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 122,850 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.5
– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 994,486 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.7
– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 1.01 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 8.4
- ภาคการเกษตร
ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรตลอด 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น
– กลุ่มผักสดและเห็ด รวม 15.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 2.7
– กลุ่มผลไม้ 6.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.6
– กลุ่มปศุสัตว์ 849,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.8
- ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industry)
ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของมณฑลส่านซีมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 เฉลี่ยที่ร้อยละ 7.2 ต่อไตรมาส โดยอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง (High-tech Manufacturing) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด ที่ร้อยละ 19.2
3.1 จำแนกตามประเภทของอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมในกลุ่มมิใช่พลังงาน (Non-energy industry) มีอัตราการเติบโตในช่วง 3 ไตรมาสแรกเฉลี่ยร้อยละ 8.6 มากกว่าอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงานที่มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 5.6 ในจำนวนนี้ มีอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 33.1 ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสาร เติบโตร้อยละ 18.4 และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เติบโตร้อยละ 6.1
3.2 จำแนกตามชนิดของการผลิต พบว่า (1) อุตสาหกรรมการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ มีอัตราการเติบโตสูงสุด 5.4 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 (2) การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เติบโตกว่า 2.7 เท่า (3) อุตสาหกรรมการผลิตก๊าซธรรมชาติ เติบโตร้อยละ 12.1 และ (4) อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า เติบโตร้อยละ 15.3
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
4.1 ภาคการก่อสร้างสร้างรายได้รวมกว่า 598,708 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ครอบคลุมกว่า 3,716 วิสาหกิจ อย่างไรก็ดี ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตลอด 3 ไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 3.1 และมีสัดส่วนของการลงทุนจากวิสาหกิจเอกชนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.8
4.2 ปริมาณห้องพักสร้างเสร็จพร้อมจำหน่าย จำหน่ายได้ 27.76 ล้าน ตร.ม. ลดลงร้อยละ 6.8 คิดเป็นมูลค่า 275,248 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยของห้องพักในนครซีอานอยู่ที่ประมาณ 14,966 หยวน / ตรม.
- ธุรกิจภาคบริการและการบริโภคในพื้นที่
5.1 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม มีการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 15.3 ตามมาด้วยธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ เติบโตร้อยละ 11.1 การคมนาคมขนส่ง ร้อยละ 9.2 และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เติบโตร้อยละ 9.1
5.2 การค้าปลีกสร้างรายได้แก่มณฑลมากถึง 741,578 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยในจำนวนนี้เป็นการบริโภคของกลุ่มองค์กร 357,722 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7
5.3 จำแนกตามประเภทสินค้า พบว่า การอุปโภคสินค้าในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 12.4 ตามด้วย (2) กลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 (3) กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และ (4) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5
5.4 การบริโภคอุปโภคของประชาชนแบบออนไลน์ สร้างรายได้สู่มณฑล 58,342 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.3 ของมูลค่าการอุปโภคบริโภคทั้งหมดของส่านซี
- การค้าระหว่างประเทศ
6.1 ศุลกากรนครซีอาน ระบุว่า ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของมณฑลส่านซีมีมูลค่า 350,385 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 อยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศ (อันดับ 4 จาก 12 มณฑลทางภาคตะวันตก รองจากมณฑลเสฉวน นครฉงชิ่ง และเขตฯ กว่างซีจ้วง) แบ่งเป็น
– การส่งออก มูลค่า 185,766 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4
– การนำเข้า มูลค่า 164,619 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4
6.2 คู่ค้า 5 อันดับแรกของมณฑลส่านซี
6.2.1 เกาหลีใต้ 74,256 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.2 ของการค้าระหว่างประเทศของมณฑลส่านซี )
6.2.2 ไต้หวัน 61,286 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
6.2.3 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง 29,543 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6
6.2.4 สหรัฐอเมริกา 29,010 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4
6.2.5 ญี่ปุ่น 23,754 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39
6.3 ภาพรวมการค้าระหว่างภูมิภาค / กลุ่มประเทศต่าง ๆ
6.3.1 สหภาพยุโรป 43,364 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.9
6.3.2 อาเซียน 33,002 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2
6.3.3 ประเทศบนแถบเส้นทางสายไหม 57,909 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6
6.4 สินค้าส่งออกหลักของมณฑลส่านซี
6.4.1 อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 168,450 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของการส่งออกทั้งหมดของส่านซี)
6.4.2 อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและชิ้นส่วนต่างๆ 34,389 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4
6.4.3 อุปกรณ์ไฟฟ้า 6,101 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 3
6.4.4 รถยนต์ (รวมโครงรถยนต์) 3,652 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.3
6.4.5 เกมส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 3,429 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่า 36.2 เท่า
6.4.6 แผงจอ LCD 3,189 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.9
6.5 สินค้านำเข้าหลักของมณฑลส่านซี
6.5.1 เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม Semiconductors 17,641 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.9
6.5.2 แร่โลหะ 9,836 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.8
6.5.3 ทองแดงทั้งที่รีดและยังไม่ได้รีดเป็นแผ่น 8,936 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4
6.6 การค้าระหว่างประเทศกับไทย
การค้าระหว่างประเทศระหว่างมณฑลส่านซีกับไทย มูลค่ารวม 3,012.82 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 55.86 จำแนกได้ ดังนี้
6.6.1 มณฑลส่านซีส่งออกไปยังไทย รวม 2,652.95 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 51.66 และมีสินค้าส่งออกหลักไปไทย 5 อันดับแรก คือ
– กลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า 1,366.6 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.97
– กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ 266.14 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 920.38
– กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ เครื่องจักร และเครื่องใช้กล 228.28 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.33
– กลุ่มของทำด้วยสิ่งทอ ชุด เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว และสิ่งทอที่ใช้แล้ว และเศษผ้า 134.3 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 171.58
– กลุ่มเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 125.45 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 30.97
6.4.2 มณฑลส่านซีนำเข้าจากไทย รวม 359.87 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 95.79 และมีสินค้านำเข้าหลักจากไทย 5 อันดับแรก คือ
– กลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าฯ 183.8 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.64
– กลุ่มยางและของทำด้วยยาง 65.26 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1279.35
– กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ เครื่องจักร เครื่องใช้กล 48.8 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 106.81
– กลุ่มผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ฯ 39.74 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.43
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม 9.48 ล้านหยวน (ติดอันดับเป็นครั้งแรก)
- การลงทุนจากต่างประเทศ
7.1 การลงทุนจากเงินทุนต่างประเทศมีการชะลอตัว มีวิสาหกิจต่างชาติจดทะเบียนก่อตั้งรวม 234 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ราวร้อยละ 61.2 ทั้งนี้ในช่วงเวลาข้างต้นมีการลงทุนจากภาระสัญญาผูกพันอีก 7,677 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9
7.2 จำแนกการลงทุนจากต่างประเทศตามประเภทของอุตสาหกรรม พบว่า
7.2.1 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมปฐมภูมิ มีการลงทุนใหม่ 6 โครงการ ลดลงร้อยละ 78.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการลงทุนจากเงินทุนต่างประเทศ
7.2.2 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมทุติยภูมิ มีการลงทุนใหม่ใน 33 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.1 ของมูลค่าการลงทุนจากเงินทุนต่างประเทศ
7.2.3 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมตติยภูมิ (ได้แก่ กลุ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานต่าง ๆ กลุ่มธุรกิจให้บริการเช่าซื้อและอุตสาหกรรมบริการธุรกิจ) มีการลงทุนใหม่มากที่สุดที่ 187 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของมูลค่าการลงทุนจากเงินทุนต่างประเทศ
7.3 คู่ลงทุน 4 อันดับแรกของส่านซี ได้แก่
7.3.1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง 51 โครงการ ลดลงร้อยละ 7.3 มูลค่า 1,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.3
7.3.2 ไต้หวัน 42 โครงการ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า มูลค่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9
7.3.3 สหรัฐอเมริกา 9 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 คิดเป็น 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9
7.3.4 เกาหลีใต้ 5 โครงการ ลดลงร้อยละ 6.3 มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 99.6
โดยสรุป สภาวะเศรษฐกิจของมณฑลส่านซีในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการผลิตสินค้าไฮเทค ชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ตลอดจนมีการกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่ ส่งผลให้กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวบางส่วนถูกยกเลิกหรือชะลอไป ซึ่งในช่วงเดือนกันยายน มณฑลส่านซีได้เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่านการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยเฉพาะใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ทดแทนการเดินทางมายังมณฑลส่านซี
นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลส่านซียังเน้นย้ำถึงเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินไปอย่างมีคุณภาพสูง สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เน้นการสร้างความทันสมัยแบบสังคมนิยมแบบรอบด้าน ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสีเขียวในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นการอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซมลพิษ ตลอดจนเป้าหมายดึงดูดแรงงานทักษะ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างงานสร้างรายได้และสร้างชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น (สร้างความรุ่งเรืองร่วมกัน) อันเป็นความท้าทายที่รัฐบาลมณฑลส่านซีกำลังเร่งดำเนินการ
สำหรับการค้าระหว่างมณฑลส่านซีกับประเทศไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในลักษณะที่ประเทศไทยขาดดุลการค้ามณฑลส่านซีอยู่ถึงร้อยละ 88 โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นคือ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมซึ่งติดอันดับสินค้าที่มณฑลส่านซีนำเข้าสูงที่สุดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ภายหลังจากการเปิดตัวรถไฟจีน-ลาว มูลค่าทางการค้าระหว่างมณฑลส่านซีและไทยอาจได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการเกษตรผ่านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ซึ่งศูนย์ BIC ณ นครซีอานจะติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
- https://mp.weixin.qq.com/s/RDEhGj-ruUPZ85_kPVfawA
- https://i.ifeng.com/c/8B0KsZcRFi2
- http://xian.customs.gov.cn/xian_customs/527446/fdzdgknr3393/527450/index.html
4. http://www.shaanxi.gov.cn/sj/zxfb/202110/t20211020_2194991.html