• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กุ้ยโจวเตรียมส่งเสริมพื้นที่พิเศษ 8 แห่งมุ่งสู่การค้าระหว่างประเทศ – thaibizchina

กุ้ยโจวเตรียมส่งเสริมพื้นที่พิเศษ 8 แห่งมุ่งสู่การค้าระหว่างประเทศ – thaibizchina

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมพาณิชย์มณฑลกุ้ยโจวประกาศรายชื่อพื้นที่พิเศษจำนวน 8 แห่งที่จะยกระดับการพัฒนาไปสู่การค้าระหว่างประเทศตาม “แผนดำเนินงานว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาการค้าคุณภาพสูง” ของรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจว และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) ที่มุ่งเน้นการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่และมีคุณภาพสูง โดยพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดให้ยกระดับการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศทั้ง 8 แห่ง ได้แก่

  1. เขตปลอดอากรนครกุ้ยหยาง (Guiyang Free Trade Zone) ได้รับอนุมัติให้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2556 ถือเป็นเขตปลอดอากรแห่งแรกของมณฑลกุ้ยโจว รวมถึงเป็นเขตนำร่องการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยภายในเขตฯ ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าปลอดอากรข้ามแดน (Guizhou Comprehensive Cross-border Bonded Plaza) เพื่อสนับสนุนการค้าออนไลน์สำหรับการจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก
  2. อำเภอเหมยถาน เมืองจุนอี้ มีพื้นที่สวนชาเชิงนิเวศ 600,000 หมู่ (ประมาณ 250,000 ไร่) โดยอำเภอเหมยถานเป็น “อำเภอด้านอุตสาหกรรมชายอดเยี่ยม” อันดับที่ 1 ของจีนประจำปี 2563 และยังติดหนึ่งใน 10 อันดับ “อำเภอที่พัฒนาอุตสาหกรรมชายอดเยี่ยมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (2559-2563)” จากการจัดการสวนชา การผลิต และการตลาดที่ได้มาตรฐาน
  3. เขตพัฒนาเศรษฐกิจตู๋ซาน เขตฯ เฉียนหนาน ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ต่อมาได้รับอนุมัติจากรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑลเมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ วัสดุพลังงานใหม่ การผลิตอุปกรณ์ การค้าและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอำเภอตู๋ซานให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2563 เขตพัฒนาเศรษฐกิจตู๋ซานมีบริษัทต่างชาติและต่างมณฑลเข้าไปลงทุนรวม 22 ราย สร้างมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก 325.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. อำเภอ (ระดับเมือง) ตูหยุน เขตฯ เฉียนหนาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิต “ชาเหมาเจียน” ที่สำคัญของมณฑลกุ้ยโจว โดยชาเหมาเจียนมีมูลค่าแบรนด์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 21,149 ล้านหยวน สูงเป็นอันดับสองในหมวดหมู่ชาทั้งหมดของจีน และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น “สินค้าที่มีพลังการสื่อสารแบรนด์” (Brand Communication) สูงที่สุดในจีน
  5. เขตพัฒนาเศรษฐกิจต้าหลง เมืองถงเหริน ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมสารตั้งต้นของวัสดุแคโทดแบบไตรภาค (Ternary Cathode Materials) สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในมณฑลกุ้ยโจว โดยมีสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ 20 ของทั้งจีน ขณะเดียวกัน ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายแบเรียมคาร์บอเนต (Barium Carbonate) และสตรอนเตียมคาร์บอเนต (Strontium Carbonate) ที่มีสัดส่วนตลาดมากถึงหนึ่งในสามของโลก รวมถึงเป็นแหล่งผลิตแกรไฟต์ซึ่งเป็นวัสดุแอโนดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีสัดส่วนตลาดมากกว่าร้อยละ 10 ของจีน
  6. เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉินก่ง เขตฯ เฉียนตงหนาน ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตไฟแช็ก โดยเร่งส่งเสริมให้มีกำลังการผลิตไฟแช็กปีละ 5,000 ล้านชิ้น เพื่อมุ่งเป็นเขตวิจัยและผลิตไฟแช็กที่ใหญ่ที่สุดในจีน
  7. อำเภอ (ระดับเมือง) ผานโจว เมืองลิ่วผานสุ่ย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมืองผานโจวมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมชื่อหลีมาอย่างต่อเนื่อง โดยชื่อหลี (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Rosa roxburghii) ถือเป็นผลไม้ป่าที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งวิตามินซี” ซึ่งเมืองผานโจวมีพื้นที่เพาะปลูกชื่อหลีกว่า 600,000 หมู่ (ประมาณ 250,000 ไร่) คิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของพื้นที่เพาะปลูกชื่อหลีของทั้งมณฑล ให้ผลผลิตรวมกว่า 40,000 ตัน รวมมูลค่า 160 ล้านหยวน และมีมูลค่าการแปรรูป 400 ล้านหยวน รวมถึงสร้างงานให้กับเกษตรกรกว่า 170,000 คน
  8. เขตพัฒนาเศรษฐกิจจินซา เมืองปี้เจี๋ย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร การผลิตเหล้าขาว วัสดุก่อสร้างและวัสดุบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบัน มีบริษัทที่ดำเนินงานภายในเขตฯ 121 ราย และมีมูลค่าการผลิตรวมช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 กว่า 4,258 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.9

ที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1715364954289836525&wfr=spider&for=pc

กุ้ยโจว พื้นที่พิเศษ การค้าต่างประเทศ

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]