• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เศรษฐกิจกานซู 3 ไตรมาสแรกปี 64 ขยายตัว 8.5% รัฐเร่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมสีเขียวต่อเนื่อง

เศรษฐกิจกานซู 3 ไตรมาสแรกปี 64 ขยายตัว 8.5% รัฐเร่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมสีเขียวต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานสถิติมณฑลกานซู รายงานสภาวะเศรษฐกิจมณฑลกานซูช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 สาระสำคัญ ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของมณฑลกานซู รวม 740,100 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.5 จำแนกเป็น

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 104,170 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 245,320 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 390,610 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9

  1. ภาคการเกษตรและปศุสัตว์

ภาพรวมด้านการเกษตรสามารถสร้างรายได้แก่มณฑลได้มากถึง 107,640 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 โดยเฉพาะปริมาณการผลิตพืชและผลไม้สดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 10 และ 11 ตามลำดับภาครวมของปศุสัตว์ทั้งมณฑลกานซู สามารถผลิตได้มากถึง 943,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ในจำนวนนี้มีผลผลิตของสัตว์ปีก มีอัตราการเติบโตมากที่สุดที่ร้อยละ 59.7 รองลงมาคือ ผลผลิตเนื้อสุกร เนื้อแพะ และเนื้อวัว เติบโตร้อยละ 45.6, ร้อยละ 30 และร้อยละ 14 ตามลำดับ

  1. ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industry)

3.1 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 โดยมีการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.8, 9.2 และ 7.4 ตามลำดับ

3.2 อุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 (2) อุตสาหกรรมการผลิตการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 (3) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 (4) อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3  (5) อุตสาหกรรมหลอมโลหะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 และ (6) การผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1

  1. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุน ในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9

  1. การค้าระหว่างประเทศ

5.1 สำนักงานศุลกากรนครหลานโจว ระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกานซู รวม 37,830 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 จำแนกเป็น

– การส่งออก มูลค่า 6,290 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

– การนำเข้า มูลค่า 31,540 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2  

5.2 หากจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบว่า การค้าระหว่างประเทศในกลุ่มการค้าทั่วไป (General trade)
มีมูลค่า 26,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งมณฑล ตามด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศจากกลุ่มการแปรรูปเพื่อการส่งออก (Processing trade for import and export) 8,140 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งมณฑล และการค้าระหว่างประเทศในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน (Import and export in bonded logistics) 3,410 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึง 1.9 เท่า นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งเขตเมืองใหม่หลานโจว (兰州新区综合保税区) มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากเดิม มูลค่า 5,670 ล้านหยวน กลายมาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลกานซู

5.3 การค้าระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศบนแถบเส้นทางสายไหม รวม 18,060 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 ในจำนวนนี้มี คาซัคสภาน รัสเซีย มาเลเซีย บัลแกเรีย และยูเครน มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง

  1. การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ และรายได้ประชากรในพื้นที่

6.1 ตลอด 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มณฑลกานซูมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 312,800 คน อัตราการขึ้นทะเบียนว่างงานร้อยละ 3.35

6.2 อัตราเงินเฟ้อ (CPI) คงที่อยู่ที่ร้อยละ 0.7

6.3 รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวทั้งมณฑล 15,819 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จำแนกเป็น (1) รายได้ประชากรในเขตเมืองเฉลี่ยต่อหัว 26,947 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ (2) รายได้ประชากรในเขตชนบทเฉลี่ยต่อหัว 7,642 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

  1. การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

7.1 การขนส่งสินค้าผ่านทางถนน เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปีมีการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางขนส่งสินค้าทางถนนกว่า 531.19 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รองลงมา ได้แก่ การขนส่งสินค้าทางราง 47.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.96

7.2 การขนส่งผู้โดยสารผ่านทางราง เป็นช่องทางการขนส่งผู้โดยสารที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปี มีการขนส่งผู้โดยสารผ่านช่องทางรางมากถึง 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 รองลงมาได้แก่ การขนส่งผู้โดยสารผ่านทางถนน 90.33 ล้านคน ลดลงร้อยละ 41.5

  1. การบริโภคในพื้นที่

8.1 ยอดการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของทั้งมณฑลกานซู  (Total retail sales of consumer goods in the province) รวม 302,470 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยจำแนกเป็น (1) ยอดการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตเมือง 247,940 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 และ (2) ยอดการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบท 54,540 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1

8.2 หากจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจค้าปลีก เป็นธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุด โดยสร้างรายได้สู่มณฑลได้มากถึง 268,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 รองลงมาได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ทำรายได้ 33,570 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7

  1. อุตสาหกรรมสีเขียว

ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมสีเขียว 10 ประเภทของมณฑลกานซูที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 สามารถสร้างรายได้มากถึง 190,010 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.7 ของ GDP ทั้งมณฑล

สรุปภาพรวม

เศรษฐกิจมณฑลกานซูเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการรักษาอัตราการเพิ่มขึ้นของการบริโภค อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยว มณฑลกานซูได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลกานซูต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด (ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของประเทศที่ยังคงเน้นให้โควิดเป็นสูญ) ผลทำให้ต้องระงับการเดินทางข้ามมณฑล ปิดทำการสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลต่อการบริโภคในพื้นที่และการฟื้นตัวของธุรกิจบริการพอสมควร นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกานซูยังเร่งส่งเสริมการเข้าถึงการค้าออนไลน์แก่เกษตรกรชนบท ผ่านการอนุมัติ 7 โครงการสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชนบทแห่งชาติ (国家电子商务进农村综合示范项目) ส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรหลักในพื้นที่โดยเจาะจง 5 กลุ่ม ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ แอปเปิ้ล มันฝรั่ง และสมุนไพร ปัจจุบัน โครงการฯ ครอบคลุม 68 อำเภอทั่วมณฑล และสามารถสร้างรายได้ให้แก่มณฑลได้ถึง 14,860 ล้านหยวน และมีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ประชากรเขตชนบทเฉลี่ยต่อหัวได้ถึง 288 หยวน ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของการส่งเสริมรายได้แก่เกษตรกรอันเป็น 1 ในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2564 ที่เน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและฟื้นฟูแหล่งชนบท โดยส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสและเครื่องมือการพัฒนาธุรกิจ พร้อมยึดหลักแนวคิด “4 ประการ” คือ (1) เพิ่มบทบาทการส่งเสริมระหว่างอุตสาหกรรมและเกษตรกร (推动形成工农互促) (2) เพิ่มบทบาทการส่งเสริมระหว่างเมืองและชนบท (城乡互补)  (3) การประสานงานเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (协调发展) และ (4) ร่วมสร้างความเจริญในการส่งเสริมระหว่างอุตสาหกรรมและเกษตรกรรูปแบบใหม่ (共同繁荣的新型工农城乡关系)

The post เศรษฐกิจกานซู 3 ไตรมาสแรกปี 64 ขยายตัว 8.5% รัฐเร่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมสีเขียวต่อเนื่อง appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]